12 ปี เหตุการณ์ ‘Deepwater Horizon’ หายนะน้ำมันรั่วครั้งใหญ่ที่ยังทำร้ายชีวิตสัตว์มาถึงวันนี้

3 Min
3664 Views
22 Apr 2022

จากเหตุการณ์แท่นขุดเจาะน้ำมัน ‘Deepwater Horizon’ ระเบิดกลางอ่าวเม็กซิโก เมื่อช่วงปลายเดือนเมษายน ปี 2010 ผ่านมาถึงวันนี้เป็นเวลา 12 ปีแล้ว แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นในวันนั้นยังคงสะเทือนมาถึงปัจจุบันอย่างยากจะล้างคราบไคลออกไปได้หมด

โดยเฉพาะผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้พรากชีวิตจำนวนมากไปจากมหาสมุทร ตามรายงานสรุปพบว่า มีสิ่งมีชีวิตราว 8,332 สายพันธุ์ ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง แต่หากนับจำนวนที่ตายก็แทบจะกล่าวได้ว่าการระเบิดครั้งนั้นได้คร่าชีวิตสัตว์ทะเลไปมากมายเหลือคณานับ 

ในรายงานที่มีตัวเลขยืนยันชัดๆ พอจะบอกได้ว่า มีเต่าทะเลตายเพราะคราบน้ำมันมากถึง 6,500 ตัว นกทะเลตายกว่า 800,000 ตัว ขณะที่วาฬและโลมานับซากได้ 1,400 ตัว ไม่นับรวมพวกสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังตัวเล็กตัวน้อยที่นับจำนวนได้ยากมากๆ

สัตว์บางตัวลาโลกในทันที ขณะที่อีกหลายชีวิตค่อยๆ ล้มหายไปในกาลถัดมา หรือส่วนที่รอดก็ต้องอยู่กับอาการป่วยเรื้อรัง ใช้ชีวิตอยู่กับการทำงานของปอดและไตที่ผิดปกติเป็นของแถมอย่างเลี่ยงไม่ได้

แท่นขุดเจาะขณะระเบิด l Natural Hazards

แต่สิ่งที่บอกว่าผลกระทบยังคงสะเทือนมาจนถึงทุกวันนี้คือ แม้สัตว์บางชนิดจะมีชีวิตรอดยาวนานมาอีก 12 ปี แต่ก็ไม่สามารถทำหน้าที่ที่ธรรมชาติจัดสรรไว้ได้อย่างสมบูรณ์แบบอีกแล้ว

กรณีศึกษาหนึ่งที่นักวิจัยสัตว์ทะเลเฝ้าติดตามด้วยความห่วงใย คือ กลุ่มโลมาปากขวด ที่พบว่าหลังจากเกิดเหตุแท่นขุดเจาะน้ำมันระเบิด สัตว์กลุ่มนี้เริ่มให้กำเนิดลูกน้อยลงเรื่อยๆ

ในข้อมูลเชิงวิชาการอธิบายว่า มีโลมาปากขวดได้รับผลกระทบจากเหตุแท่นขุดเจาะน้ำมันระเบิดมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรที่มีอยู่ ส่วนพวกที่เหลือรอดมาได้แทบทั้งหมดป่วยด้วยโรคหลอดลมอุดตันเรื้อรัง (Chronic obstructive pulmonary disease: COPD)

ผลที่ตามมาทำให้การสืบพันธุ์ของสัตว์กลุ่มนี้ประสบความสำเร็จน้อยลง จำนวนของโลมาปากขวดจึงไม่เพิ่มขึ้นอย่างที่ควรจะเป็นตามวัฏจักรทางธรรมชาติ

องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (National Oceanic and Atmospheric Administration: NOAA) อธิบายว่า โลมาเพศเมียมีอัตราการตั้งครรภ์ล้มเหลวสูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ โลมาเด็กบางตัวตายตั้งแต่อยู่ในท้อง บางตัวก็ลืมตาดูโลกได้ไม่กี่วันก็ต้องลาจากกันไป 

ศพโลมาปากขวดเกยตื้นในปี 2013 ผลชันสูตรพบว่าเชื่อมโยงกับเหตุแท่นขุดเจาะน้ำมัน Deepwater Horizon ระเบิด l Louisiana Department of Wildlife and Fisheries

สาเหตุเป็นเพราะตัวอ่อนในครรภ์ได้รับสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับการรั่วไหลของน้ำมัน รวมถึงสุขภาพของแม่โลมาไม่แข็งแรงพอจะให้กำเนิดลูกได้

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางเรื่องร้ายๆ ก็ยังมีข่าวดีว่า ตัวลูกที่รอดไม่แสดงสัญญาณของความบกพร่องทางสุขภาพแต่อย่างใด 

อาจกล่าวได้ว่า ความหวังในการฟื้นคืนสายพันธุ์โลมาปากขวดให้กลับมาโลดแล่นทั่วอ่าวเม็กซิโกอีกครั้ง เราทำได้เพียงการฝากความหวังไว้กับโลมาเจเนอเรชั่นต่อๆ ไปเท่านั้น ส่วนรุ่นที่เกิดร่วมสมัยกับเหตุการณ์ระเบิดคงพึ่งพาอะไรไม่ได้อีกแล้ว

กรณีที่ว่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับแค่โลมาปากขวดเพียงชนิดเดียว แต่ยังเกิดขึ้นกับสัตว์อีกหลายชนิด โดยเฉพาะกลุ่มนกทะเลที่ไข่นกหลายชนิดมีสารปนเปื้อนที่เชื่อมโยงได้ถึงเหตุแท่นขุดเจาะน้ำมันระเบิด

โดยผลกระทบที่ต่อเนื่องมาในสัตว์ชนิดต่างๆ ยังอยู่ระหว่างการศึกษาและยังไม่ได้มีเอกสารยืนยันอย่างเป็นทางการ

ต่อสภาพที่เป็นอยู่ สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากเหตุน้ำมันรั่วว่า มันไม่ได้จบแค่การทำความสะอาดชายหาดหรือโปรยสารเคมีใส่น้ำมันให้จมลงก้นทะเล

ในกรณีโลมาปากขวดนักวิจัยวิเคราะห์ว่า อาจใช้เวลานานถึง 35 ปี กว่าสิ่งมีชีวิตกลุ่มนี้จะมีจำนวนประชากรที่เป็นสัตว์กลุ่มแข็งแรงพร้อมฟื้นฟูจำนวนขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

โลมาปากขวด ในอ่าวบาราทาเรีย รัฐลุยเซียนา ที่มีคราบน้ำมันอยู่บนหัว l Louisiana Department of Wildlife and Fisheries

สำหรับเหตุการณ์ที่ถูกบันทึกว่าเป็นมหันตภัยทางสิ่งแวดล้อมจากน้ำมือมนุษย์ครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์นี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2010 สาเหตุเกิดจากการมองข้ามความปลอดภัยในการทำงาน เนื่องจากแหล่งขุดเป็นหลุมที่ลึกและขุดเจาะยาก จึงทำให้แผนขุดไม่เป็นไปตามเวลาที่กำหนด จนมีการ ‘ลักไก่’ เกิดขึ้น และก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่ค่อยน่าพิสมัยนัก 

ย้อนกลับมามองเหตุท่อส่งน้ำมันรั่วที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เมื่อช่วงต้นปี 2022 ที่ผ่านมา แม้ตอนนี้จะเริ่มมีการเผยแพร่ภาพว่าพื้นที่บริเวณดังกล่าวเริ่มสะอาดขึ้น ไม่มีคราบน้ำมันปรากฏแล้ว แต่ก็ใช่ว่า ‘เบื้องหลัง’ จะเป็นเหมือนกับภาพที่เห็น

เพราะผลกระทบบางเรื่อง มันอาจอยู่ลับตา ลึกลงไปซ่อนตัวอยู่อย่างเงียบๆ รอผุดขึ้นมาในวันที่ไม่อาจแก้ไขอะไรได้อีก เพราะเราไม่ได้ทำการศึกษาอย่างรอบคอบเสียแต่เนิ่นๆ 

อ้างอิง