4 Min

เปิด 3 เหตุผลขอฟื้นคดีสวรรคต ร.8 “ผมเชื่อในแสงของความบริสุทธิ์ยุติธรรม ของศาลสถิตยุติธรรม”

4 Min
603 Views
19 Oct 2023

‘กังวาฬ พุทธิวนิช’ ผู้เขียนหนังสือ ‘74 ปี คดีสวรรคต’ ได้จัดงานแถลงข่าว ‘การยื่นคำร้อง รื้อฟื้นคดีสวรรคตขึ้นมาพิจารณาใหม่’ ณ มูลนิธิซิเนม่า โอเอซิส ซอยสุขุมวิท 43 เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2566 เวลา 15.30 น. หลังจากที่เดินทางไปยังศาลอาญา รัชดาภิเษกพร้อมกับ ‘ปรีชา สุวรรณทัต’ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อยื่นคำร้องขอฟื้นคดีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ในฐานะผู้ได้รับมอบอำนาจจากคนในครอบครัวของ ‘ชิต สิงหเสนี’ 1 ใน 3 จำเลยผู้ถูกประหารชีวิตจากคดีดังกล่าว 

ระหว่างการแถลงข่าวมีคำถามและคำตอบในประเด็นสำคัญ ดังนี้

[เจตนารมณ์ของการรื้อฟื้นคดี]

  1. คืนความเป็นธรรมให้กับผู้บริสุทธิ์ทั้ง 3 คน (ชิต สิงหเสนี, บุศย์ ปัทมศริน, เฉลียว ปทุมรส ซึ่งดำรงตำแหน่งมหาดเล็กในขณะนั้น) 
  2. ไม่ให้นำคดีสวรคตฯ มาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง
  3. ให้คำพิพากษาเป็นการจบเรื่องดังกล่าว เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

[ก่อนหน้านี้มีความพยายามในการรื้อฟื้นคดีหรือไม่?]

กังวาฬระบุในการแถลงข่าวว่า หลังจากมีการประหารชีวิต 3 จำเลยในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2498 ก็ยังมีความพยายามในการรื้อฟื้นคดี โดยเฉพาะในช่วงปลายปี 2498-2499 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในฐานะนายกรัฐมนตรีในเวลานั้น มีความพยายามในการจะรื้อฟื้นคดีดังกล่าวโดยการให้สภาผู้แทนราษฎรออกกฎหมาย แต่สุดท้ายก็เกิดการรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เสียก่อน 

แม้ว่าหลังจากที่คดีหมดอายุความ 2510 ก็มีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องเกิดขึ้นหลายอย่าง เช่น การเดินทางกลับของ ‘เรือเอก วัชรชัย ชัยสิทธิเวช’ ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในคดี และคำสารภาพในการให้การเท็จจาก ‘พระยาศรยุทธเสนี’ (2510) และ ‘ตี๋ ศรีสุวรรณ’ (2522) จนกระทั่งมีการออก พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 ก็ยังไม่มีการดำเนินการอะไรแต่อย่างใด

[ผ่านไป 77 ปีแล้วจะรื้อคดีได้อย่างไร?] 

ช่องทางที่จะรื้อฟื้นคดีเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้วนับ 7 ทศวรรษ คือ มี ‘หลักฐานใหม่’ ตามมาตรา 5 และการเป็น ‘พฤติการณ์พิเศษ’ ตามมาตรา 20 ของ พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 โดยกังวาฬอ้างอิงความเห็นของ ‘จรัญ ภักดีธนากุล’ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรมและผู้พิพากษาศาลยุติธรรม ที่เคยระบุว่าคดีดังกล่าวเป็นคดีกระทบความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติ จึงเข้าข่ายการเป็น ‘พฤติการณ์พิเศษ’ จึงต้องมีหลักฐานใหม่ที่มีน้ำหนักพอจะพลิกรูปโฉมของคดี

[ความเห็นจากแพทย์ด้านนิติเวช]

‘กฤติน มีวุฒิสม’ แพทย์ทางด้านนิติเวชจากโรงพยาบาลระนองได้ร่วมอภิปรายในงานแถลงข่าวว่า ‘กระดุมเม็ดแรก’ ที่ทำให้เกิดความวุ่นวาย คือ ‘ความเห็นของแพทย์’ ในสมัยก่อน โดยเฉพาะความเข้าใจผิดในขนาดของแผลว่าแผลขนาดเล็กเป็นทางเข้า บาดแผลที่ใหญ่คือทางออก (ของกระสุน) ซึ่งในการชันสูตรพบบาดแผลขนาดเล็กบริเวณท้ายทอย บาดแผลขนาดใหญ่อยู่บริเวณหน้าผาก ทำให้เข้าใจไปว่าเป็นการลอบปลงพระชนม์ โดยกฤติน กล่าวว่า “เมื่อกลับมาศึกษาในยุคปัจจุบัน จะนำหลักการนิติเวชในปัจจุบันจะนำมาให้ความเห็นในลักษณะนี้ไม่ได้”

นอกจากนี้กฤตินยังกล่าวว่า “…ปัจจุบันไม่ต้องมานั่งทดลอง (ระยะยิง) แล้ว ตำรามีบอกไว้ว่าบาดแผลระยะไหน พบลักษณะอย่างไร… โดยดูลักษณะบาดแผล การกระจายตัวของเขม่าดินปืน ในปัจจุบันสรุปเลยว่าเป็นระยะประชิดติดผิวหนังอยู่แล้ว เป็น contact range gunshot wound”

ทั้งนี้ ในระยะยิงแบบนี้ หากให้เหตุผลในเรื่องของบาดแผลและวิถีกระสุนในทางนิติเวช พบว่าเป็นการกระทำตัวเองถึง 94-96 เปอร์เซ็นต์ 

[หลักฐานใหม่คืออะไร?]

หลักฐานใหม่มีทั้งหมด 6 ประการ โดยกังวาฬระบุว่าไม่เคยใช้ในการพิจารณาคดีมาก่อน และเป็นข้อที่อัยการยังหาข้อสรุปไม่ได้ ได้แก่

  1. ตำแหน่งรอยกดปืนที่หน้าผาก – พบรอยฟกช้ำจากปากกระบอกปืนที่ประทับอยู่บริเวณหน้าผากในระยะประชิด
  2. วิถีกระสุนเข้า-ออก (เข้าหน้าผากทะลุท้ายทอย)
  3. ตำแหน่งกระสุนทะลุหมอน – ปกติแล้วการยิงศพที่มีหมอนรองเพื่อพิสูจน์นั้นมักจะเข้าแล้วออกตรงๆ แต่ในกรณีนี้กลับพบร่องรอยการทะลุของกระสุนในตำแหน่งเยื้องๆ กัน
  4. ตำแหน่งหัวกระสุนฝังในฟูก – หากพระองค์ท่านนอนบรรทมในตำแหน่งธรรมดา หัวกระสุนก็น่าจะควรฝังในฟูกบริเวณที่ตรงกับพระเศียร แต่กลับพบหัวกระสุนฝังในทางต่ำ
  5. ตำแหน่งปลอกกระสุนตก – แม้คำให้การของชิต สิงหเสนี จะระบุตำแหน่งที่พบปลอกกระสุนที่ไม่ค่อยตรงกันนักในแต่ละครั้ง แต่สิ่งที่ตรงกันทั้งหมดคือพบว่าปลอกกระสุนตกอยู่ทางซ้าย
  6. พบพระหัตถ์เปื้อนเลือด – โดยมีข้อสันนิษฐานถึงการยิงในระยะประชิดจะมีเลือดกระเซ็นกลับมา (back spatter) 

กังวาฬระบุว่า “สิ่งที่เราทำร่วมกับคุณหมอ สมัยก่อนหัวใจของศาลตัดสินว่าให้ตัดการกระทำโดยพระองค์เองออกไปได้เลย เมื่อตัดออกไปแล้วจะเท่ากับการประหาร เมื่อคนอื่นมากระทำก็แสดงว่ามหาดเล็กหน้าห้องบรรทมต้องรู้เห็นเป็นใจ…

“นำมาสู่ข้อสรุปว่า ผมอาจจะไม่ได้ถูกทั้งหมด แต่ผมขอโอกาสได้พิสูจน์ความเห็นทางนิติวิทยาศาสตร์ แต่ดุลยพินิจการตัดสินใจก็ขอให้เป็นอำนาจของศาล”

[ปฏิกิริยาที่ได้รับจากการเคลื่อนไหวครั้งนี้]

กังวาฬได้กล่าวเพิ่มเติมในตอนท้ายว่า เขาได้รับคำวิจารณ์จำนวนมาก นับตั้งแต่เริ่มรวบรวมข้อมูลและเขียนหนังสือเกี่ยวกับคดีสวรรคต และร่วมเป็นตัวแทนทายาทของ ‘ชิต สิงหเสนี’ ในการขอรื้อฟื้นคดี แต่เขามองว่า ‘ความเฉยเมย’ ที่มีต่อคดีนี้มานานกว่า 77 ปี เป็นเรื่องที่น่ากลัวกว่าเสียงวิจารณ์

“…หลายคนบอกว่าผมต้องการแสง หิวแสง ผมบอกผมต้องการแสงเป็นอย่างมาก ถ้ามีแสงสว่างไม่ต้องส่องมาที่ผม ส่องไปที่คดี ส่องไปที่รายละเอียดคำให้การ…และผมเชื่อในแสงของความบริสุทธิ์ยุติธรรมของศาลสถิตยุติธรรม”

นอกจากนี้ยังมีความเห็นจาก ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และการทูตซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ลี้ภัยทางการเมือง และเป็นผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับคดีสวรรคต ระบุว่า การแถลงข่าวเกี่ยวกับหลักฐานใหม่ของครอบครัว 1 ใน 3 จำเลย สอดคล้องกับทฤษฎีเรื่องการกระทำโดยพระองค์เองที่เคยมีก่อนหน้านี้ แต่คนที่ต่อต้านทฤษฎีนี้ก็จะยังคงยืนยันทฤษฎีลอบปลงพระชนม์เหมือนเดิม 

ภาพ: TNP

อ้างอิง

  • ประชาไท. ครอบครัว ‘ชิต สิงหเสนี’ ให้ตัวแทน ขอศาลอาญารื้อคดีสวรรคต ร.8 คืนความเป็นธรรม ‘ชิต-บุศย์-เฉลียว’. https://tinyurl.com/2s38n2za
  • Friends Talk คุยกับเพื่อน [youtube]. Live!! แถลงข่าวขอรื้อคดี ร.8 คืนยุติธรรมชิต บุศย์ เฉลียว. https://tinyurl.com/3v3fknn8