2 Min

ไม่ได้เบื่องานแต่เบื่อคน ทำไมปัญหาเรื่อง ‘คน’ ที่ทำให้หลายคนถอดใจในการทำงาน

2 Min
2210 Views
05 Sep 2022

หากพูดถึงการทำงาน เราต่างรู้ดีว่า เพื่อนร่วมงานที่ดี เป็นเหมือนของขวัญที่ล้ำค่า บรรยากาศการทำงานที่ดีเป็นเหมือนพื้นที่ที่สร้างพลังบวกให้กับทุกคน สร้างความร่วมมือ สร้างกำลังใจให้กับคนทำงาน และแน่นอนว่ามันจะมีส่วนสร้างผลลัพธ์ที่ดีให้กับงานอีกด้วย

แต่หลายฝ่ายคงรู้ดีว่า ปัญหาเรื่องคนก็เป็นปัญหาที่สาหัสเหมือนกันในโลกของการทำงาน

โดยจากวิกฤติโรคระบาดที่เกิดขึ้น คนทำงานส่วนใหญ่เปลี่ยนจากการเข้าออฟฟิศในทุกๆวัน มาทำงานอยู่ที่บ้าน หรือ work from home ทำให้ไม่ได้พบปะเจอหน้ากับเพื่อนร่วมงานเหมือนแต่ก่อน ทำให้หลายๆคน กังวลเรื่องการเข้าสังคม เพราะมีความรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ยาก และต้องใช้ความอดทนอย่างมากอีกด้วย

ต้นเหตุที่ทำให้ใครหลายๆคนกลัวการเข้าสังคมนั้นมีอยู่มากมาย เราจะขอหยิบยกมาจากวารสาร Personal Journal ฉบับเดือนมกราคม ค..1988 ที่พูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นภายในสังคมการทำงานไว้คร่าวๆว่า

ปัญหาเหล่านี้เกิดมาจาก ความแตกต่างของแต่ละคน ทำให้เกิดปัญหาในการพูดคุยและทำความเข้าใจกัน ความไม่เท่าเทียมในหน้าที่การทำงาน แต่ละคนถูกแบ่งให้ทำงานที่ไม่เท่ากัน บางคนได้ทำงานเยอะ หรือบางคนได้ทำงานน้อย ทำให้เกิดความไม่พอใจต่อกัน การไม่ได้มีส่วนร่วมหรือรู้สึกว่าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทีม หรือการปิดบังหรือการไม่พูดความจริงในข้อมูลเกี่ยวกับงานต่อเพื่อนร่วมงาน เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเราอยู่ในโลกของการทำงาน มันก็เหมือนเป็นพื้นที่ที่รวมความหลากหลายเอาไว้ด้วยกัน ทั้งในเรื่องของนิสัยใจคอ ความคิด หรือวิธีการ จึงไม่แปลกอะไรที่ความเป็นมนุษย์จะทำให้เราเหนื่อยใจได้อยู่เสมอ

ประเด็นก็คือ เราจะทำอย่างไรให้ความหลากหลายตรงนั้นเกิดประโยชน์ ไม่ใช่ก่อให้เกิดความแตกแยกอย่างที่เคยเป็นมา

สิ่งสำคัญคือการที่ทุกคนเปิดรับความคิดเห็นและมีความเข้าใจที่ตรงกัน เอาใจใส่กันและกัน จะทำให้บรรยากาศในการทำงานและสภาพจิตใจของคนภายในทีมหรือองค์กรดีขึ้น

โดยการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ในระยะเวลาสั้นๆ อาจลองทำได้ดังนี้

  1. นัดมาพบเจอกันบ้าง หาแนวทางให้ทุกคนได้ติดต่อกัน ไม่ว่าจะเจอกันต่อหน้า หรือผ่านทางออนไลน์ แต่ถึงอย่างนั้น การติดต่อผ่านทางออนไลน์ จะทำให้เกิดปัญหาในการสื่อสารได้ง่ายกว่า เพราะความรู้สึกของแต่ละคนที่แสดงออกมาอาจไม่ชัดเจนเท่ากับการได้นั่งพูดคุยกันโดยตรง
  2. สร้างเป้าหมายของความสำเร็จร่วมกัน มีการสร้างขวัญกำลังใจให้ทุกคนอยากที่จะทำงานร่วมกัน และช่วยกันทำงานนั้นให้สำเร็จ เช่น หัวหน้าจะพาทีมไปเลี้ยงขอบคุณเมื่อทุกคนในทีมทำงานได้ตามเป้าหมาย
  3. มีการ onboarding คือ การที่ให้พนักงานที่เริ่มงานใหม่ ได้มีความคุ้นเคยกับงานหรือสังคมใหม่ๆ และเปิดโอกาสในการเริ่มต้นความสัมพันธ์ที่ดีมากยิ่งขึ้น
  4. เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นภายในสังคมการทำงาน ทุกคนจะต้องช่วยกันแก้ไข หาต้นตอของปัญหา เสนอและรับฟังความรู้สึกนึกคิดของทุกคน ไม่ทิ้งความคิดเห็นของใครคนใดคนหนึ่งภายในทีม และช่วยกันหาทางออกกับสิ่งที่เกิดขึ้นร่วมกัน

และแน่นอนว่าผลงานที่ดีและมีคุณภาพ ไม่ได้แค่สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรเพียงเท่านั้น แต่ยังทำให้เห็นถึงการทำงานที่มีประสิทธิภาพของทุกคนภายในองค์กรอีกด้วย และสิ่งเหล่านั้นจะเกิดขึ้นได้เมื่อทุกคนเข้าใจ รับฟัง และใส่ใจกันและกัน นั่นคือ การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันนั่นเอง

เพราะคนทำงานทุกคน มีความต้องการเหมือนกัน คือ อยากให้ผลของงานออกมาอย่างดีที่สุด ในเมื่อมีจุดหมายเดียวกัน ก็คงไม่เสียหายอะไรที่แต่ละคนจะปรับตัวเข้าหากันและเข้าใจกันมากขึ้น เข้าใจทั้งความคิดของตัวเองและความคิดของคนอื่น เข้าใจความแตกต่างของกันและกัน สร้างมิตรสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน แค่เพียงเท่านี้ การเข้าสังคมการทำงาน ก็คงจะไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวหรือยากเกินไปกับทุกคน

อ้างอิง

  • psychologytoday.Why ‘Dealing With People’ Has Become Our Biggest Struggle
  • https://bit.ly/3wJaGcy
  • hrnote.อุปสรรคของการทำงานระบบทีมและการบริหารความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในทีม
  • https://bit.ly/3AGhiJJ