ปลากำลังขาดอากาศหายใจ หลังวิกฤตโลกร้อนสร้าง ‘Dead Zone’ ทั่วมหาสมุทรแบบผิดธรรมชาติ
ผลกระทบจากวิกฤตโลกร้อนเรื่องใหญ่ที่สุดที่เกิดในปี 2021 ที่ผ่านมา คือ อุณหภูมิของน้ำมหาสมุทรร้อนขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จนถูกบันทึกว่าอยู่ในระดับ ‘สูงที่สุดนับตั้งแต่มีบันทึกเอาไว้ตั้งแต่หกทศวรรษก่อน’
ผลที่จะตามมาจากการดูดซับ ‘ความร้อน’ ของมหาสมุทร และเกิดขึ้นในอัตราที่เร่งเร็วขึ้นเช่นนี้ สามารถทำให้มหาสมุทรกลายเป็นกรด ทำระดับน้ำเพิ่มสูง และก่อให้เกิดภาวะสภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้วขึ้นได้
และอีกเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศดูจะเป็นกังวลกันมากๆ คือประเด็นที่ว่าออกซิเจนในมหาสมุทรดูท่าว่าจะลดต่ำลงเรื่อยๆ ซึ่งผลการวิจัยใหม่ของศูนย์วิจัยบรรยากาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (National Center for Atmospheric Research) ระบุว่า เป็นภาวะสูญเสียออกซิเจนในอัตราเร็วที่แบบผิดธรรมชาติ
สัตว์น้ำก็ไม่ต่างจากสัตว์บกที่ต้องพึ่งพาออกซิเจนในการหายใจ ซึ่งตามปกติมหาสมุทรมีออกซิเจนละลายในรูปของแก๊ส แต่ยิ่งมหาสมุทรมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น (เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) น้ำทะเลก็มีปริมาณออกซิเจนละลายได้น้อยลงตามไป
ในงานวิจัยชิ้นล่าสุดว่าด้วยเรื่องการลดลงของออกซิเจนในมหาสมุทรนี้ พบว่าการลดลงในรูปแบบที่ ‘ไม่อาจฟื้นฟูได้’ ของปริมาณออกซิเจนในมหาสมุทรได้เกิดขึ้นแล้วในปีที่ผ่านมา ในความลึกระดับกลาง ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของปลาหลากหลายชนิดพันธุ์
หรือถ้าหากกล่าวถึงผลกระทบที่จะหวนคืนกลับมาสู่ตัวเรา ก็สามารถบอกได้ว่า ในระดับความลึกระดับกลาง (200-1,000 เมตร) ที่เผชิญภาวะสูญเสียออกซิเจนไปนั้น เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยสำคัญของปลาเศรษฐกิจหลากชนิดพันธุ์ ที่ขึ้นตรงต่ออุตสาหกรรมประมงทั่วโลก และอาหารการกินของคนเรานั่นเอง
ตามที่ศูนย์วิจัยบรรยากาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา คาดการณ์ไว้ว่า ภาวะขาดออกซิเจนจะเริ่มส่งผลกระทบเป็นวงกว้างภายในปี ค.ศ. 2080 หรือในช่วงเวลาไม่เกิน 60 ปีข้างหน้า ถ้าอัตราการสูญเสียยังดำเนินไปในระดับนี้
แต่หากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ยังไม่ลดลง หรือยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เวลาที่สิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรจะขาดอากาศหายใจก็อาจจะเกิดได้เร็วยิ่งขึ้นอีก
ตัวอย่างของผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว เช่น ในน่านน้ำนอกชายฝั่งทางเหนือของกรุงวอชิงตันและผ่านโอเรกอน ตามที่มีรายงานในปีที่ผ่านมาว่าชาวประมงคว้าได้แต่ศพปูที่ตายแล้วและพบสัตว์น้ำเกยตื้นเต็มหาด ซึ่งก็ได้รับคำยืนยันจากนักวิทยาศาสตร์ว่า พื้นที่ดังกล่าวได้กลายเป็น ‘เขตมรณะ’ (Dead Zone) ไปแล้วไม่น้อยกว่า 7,700 ตารางไมล์
เหตุที่นักวิทยาศาสตร์กังวลเรื่องนี้มากเป็นเพราะผลสรุปของงานวิจัยได้ให้คำตอบว่า แม้เราจะทำให้อุณหภูมิโลก (และมหาสมุทร) กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้อีกครั้ง ก็ไม่อาจการันตีได้ว่าอุณหภูมิที่ลดลงจะทำให้ออกซิเจนในน้ำมีความเข้มข้นเพิ่มขึ้นเหมือนในอดีตได้อีกหรือเปล่า
หรือถ้าสรุปในมุมของอนุรักษ์ หรือประโยคที่นักเคลื่อนไหวด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเกรตา ธุนเบิร์ก ชอบพูดบ่อยๆ ก็คือ “ต้องลงมือแก้ปัญหาเสียแต่ตอนนี้ ทำทันที เรารอไม่ได้อีกแล้ว”
อ้างอิง
- NBC News. Ocean heat hit record high in 2021 as Earth warms, NOAA says. https://nbcnews.to/3Btbl3a
- Science Daily. Climate change has likely begun to suffocate the world’s fisheries. https://bit.ly/3rTlDGr
- The Washington Post. Dead zones, a ‘horseman’ of climate change, could suffocate crabs in the West, scientists say. https://wapo.st/3sIv4aR