“Curve Finance : กระดูกสันหลังแห่งโลก DeFi”

7 Min
67 Views
14 Jan 2024

จากการที่ความต้องการซื้อ-ขายคริปโตเคอร์เรนซีมีอยู่ทุกช่วงเวลา แอปพลิเคชั่นที่เป็นกระดานเทรดจึงเป็นสิ่งที่หลายคนให้ความสนใจ โดยเฉพาะรูปแบบกระจายศูนย์ หรือ decentralized exchange เหตุผลที่ได้รับความนิยมสูงนี้ เพราะรูปแบบนี้ไม่จำเป็นต้องยืนยันตัวตน หรือทำการพิสูจน์ใดๆ เพียงแค่มีกระเป๋าเงินดิจิตอลก็สามารถซื้อขายได้ทันที

สิ่งนี้ก็คือ..กระดานเทรดคริปโตเจ้าใหญ่ ที่เปิดให้บริการบนหลายบล็อกเชน ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการเทรด stablecoin

มาทำความรู้จักกับ Curve Finance กันเลย..

Curve Finance เป็น DEX ที่ทำงานบนเครือข่ายของ Ethereum คล้ายกับ Uniswap หรือ Balancer แต่ Curve จะมุ่งเน้นไปที่การเทรด stablecoin โดยเฉพาะ เช่น USDT, USDC, BUSD และ DAI

มีเป้าหมายหลักคือ ต้องการให้นักลงทุนสามารถเทรดด้วยความผันผวนที่ต่ำกว่าแพลตฟอร์มอื่นๆ เพื่อช่วยให้นักลงทุนหลีกเลี่ยงความเสี่ยงหรือความผันผวนได้

Curve Finance ก่อตั้งโดย Michael Egorov ในปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่กระแส DeFi กำลังมาแรง ซึ่ง Curve เป็นกระดานเทรดกระจายศูนย์ตัวแรกๆ ที่ถูกสร้างขึ้น สร้างฐานผู้ใช้งานได้อย่างรวดเร็ว และมีค่าธรรมเนียมการเทรดที่ต่ำ ทำให้ดีต่อผู้ใช้งาน และสภาพคล่องของ stablecoin กระจุกอยู่ที่ Curve สูงมาก การซื้อ-ขายจึงมี slippage ที่ต่ำ และถ้าหากโลกคริปโตไม่มี stablecoin ก็อาจจะไม่มีปริมาณการใช้งานสูงขนาดนี้ก็ได้ สิ่งนี้จึงทำให้ Curve Finance ได้รับฉายาว่าเป็น “กระดูกสันหลังแห่งโลก DeFi” นั่นเอง

 

รู้กันหรือไม่ว่า Curve Finance อยู่บนบล็อกเชนอะไรบ้าง?
ในช่วงเริ่มต้นเปิดให้ใช้งานบนบล็อกเชนของ Ethereum จากนั้นมีการเปิดใช้งานเพิ่มในบล็อกเชนอื่นๆเรื่อยๆ จนในปัจจุบันเปิดให้ใช้งานอยู่บน 13 บล็อกเชน ได้แก่ Ethereum, Polygon, Arbitrum, Aurora, Avalanche, BSC, BASE, CELO, Fantom, Gnosis, Kava, Moonbeam และ Optimism

ถึงแม้ว่าจะมีจุดเริ่มต้นจากการเป็นกระดานเทรด stablecoin โดยเฉพาะ แต่ในปัจจุบัน Curve ก็ได้เพิ่ม liquidity pool สำหรับโทเคนประเภทอื่นๆ แล้ว เช่น บนบล็อกเชนของ Ethereum มีการเพิ่ม ETH, LIDO และ stETH  และจุดเด่นอย่างหนึ่งของ Curve คือหน้าเว็บที่เรียบง่าย ไม่มีฟังก์ชันที่ซับซ้อน มีแค่ฟังก์ชันที่จำเป็นต่อการทำงาน

 
แล้ว Product ของ Curve มีอะไรบ้างล่ะ? : การ Swap เหรียญ, การวางLP และการ Staking

Curve มีระบบ AMM ควบคุมสภาพคล่องให้กับกระดานซื้อขายได้อย่างอัตโนมัติ โดยผู้เทรดสามารถล็อกเหรียญนั้นๆได้ในแพลตฟอร์ม Curve ได้นานสูงสุด 4 ปี เพื่อช่วยสร้างสภาพคล่องและทำกำไรจากค่าธรรมเนียมในการแลกเปลี่ยน ดังนั้น ยิ่งมีการแลกเปลี่ยนบนแพลตฟอร์มสูงมากเท่าไหร่ กำไรสำหรับผู้ที่ล็อกเหรียญก็จะยิ่งสูงขึ้นตามไปด้วย

มาดูหลักการทำงานของ Curve กันต่อดีกว่า..

Curve ต้องอาศัยสภาพคล่อง จะใช้แนวคิด liquidity pool ก็คือเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานทั่วไปเป็นส่วนหนึ่ง โดยการฝากโทเคนตั้งแต่สองโทเคนขึ้นไปไว้กับแพลตฟอร์ม เพื่อสร้างสภาพคล่องให้กับผู้ใช้งานคนอื่นที่ต้องการแลกเปลี่ยนโทเคน

ผู้ใช้งานที่ฝากโทเคนไว้กับ Curve จะได้รับผลตอบแทนสองส่วน 

-ส่วนแรกเรียกว่า base APY เกิดจากส่วนแบ่งค่าธรรมเนียมการเทรด ที่ทางแพลตฟอร์มได้รับมาจากผู้ที่ซื้อ-ขายโทเคน ซึ่งตัวเลขนี้จะเปลี่ยนแปลงทุกวัน 

-ส่วนที่สองคือ CRV ซึ่งเป็นโทเคนประจำแพลตฟอร์ม Curve ที่จะมีการแจกจ่ายให้กับผู้สร้างสภาพคล่องด้วย

ไม่เพียงเท่านี้ Curve ก็ยังมี Meta Pools ซึ่งเป็นแนวคิดการสร้าง liquidity pool ที่ใช้โทเคนทั่วไป วางคู่กับโทเคนที่เป็นตัวแทนของ liquidity pool อีกอันนึง เช่น ผู้ใช้งานวางโทเคนใน DAI-USDC-USDT pool (3pool) ซึ่งเมื่อวางเสร็จ ก็จะได้รับ 3pool LP token กลับมา ผู้ใช้งานสามารถนำโทเคนนี้ไปวางคู่กับโทเคน GUSD เพื่อสร้างเป็น pool ใหม่ได้อีกต่อหนึ่ง 

ฟีเจอร์นี้ช่วยให้ Curve สามารถสร้าง pool สำหรับโทเคนที่มีปริมาณสภาพคล่องต่ำๆ ได้ และยังช่วยให้ Curve มีปริมาณการเทรดที่เพิ่มสูงขึ้นได้

และนี่ก็คือตัวอย่างของ Meta pools ใน Curve Finance เพื่อให้เห็นภาพประกอบกันมากขึ้น


นอกจากนี้ Curce ยังมี Factory Pools ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานทั่วไปสร้าง liquidity pool ได้ด้วยตัวเอง โดยสามารถเลือกสร้าง pool ได้ 2 แบบ คือ stableswap สำหรับ stablecoin และ cryptoswap สำหรับโทเคนอื่นๆ ผู้ใช้งานสามารถปรับแต่งค่าต่างๆ ของpoolได้ตามความเหมาะสม


และนี่คือตัวอย่าง Factory pools ใน Curve Finance

เมื่อรู้จักหลักการทำงานและฟีเจอร์ของ Curve มาแล้ว แต่ Curve นั้นก็มีข้อบกพร่องด้วยเช่นกัน

นั่นคือ การวางสภาพคล่องจะมีความเสี่ยงในการขาดทุนหรือ Impermanent Loss ซึ่งมักเกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ เมื่อทำการฝากเหรียญเข้าไป และมูลค่าโทเค็นในตลาดโลกเกิดการผันผวน เมื่อเราถอนโทเค็นออกมาจาก Liquidity Pool แล้วมูลค่าของโทเค็นต่ำกว่าค่าเงินตอนฝากเข้าไป

และอีกหนึ่งความเสี่ยงที่ควรระวัง คือเรื่อง Slippage หรือช่วงราคาที่ตั้งซื้อขายกับราคาตอนทำธุรกรรมเสร็จไม่เท่ากัน ส่งผลให้กำไรที่ได้รับน้อยกว่าที่คาดหมาย

 

ต่อมา มาดูกันว่ารายได้ของ Curve มาจากไหน? รายได้หลักมาจากค่าธรรมเนียมของคนที่เข้ามาเทรดหรือ swap ซึ่ง Curve คิดค่าธรรมเนียมการแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 0.04-0.4% ขึ้นกับความผันผวนของราคาคาเหรียญนั้นๆ และเวลามีการเทรดเหรียญระหว่างคู่เหรียญก็จะสร้างเป็นรายได้ให้กับ Curve ได้ และรายได้นี้จะนำไปแบ่งให้กับผู้ที่มาวาง LP เป็นผลตอบแทน

 

มาถึงเหรียญประจำธุรกิจ และการทำงาน Tokenomics ของ Curve ว่าเป็นอย่างไร?
มีเหรียญประจำธุรกิจ ชื่อ CRV ซึ่งเป็นโทเคนประจำ Curve Finance ใช้เป็นค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมต่างๆ เป็นผลตอบแทนแจกให้กับคนที่วาง LP และยังเป็น Token Governance นั่นคือผู้ที่ถือเหรียญ CRV ยังมีสิทธิ์กำกับดูแลและโหวตทิศทางการพัฒนาแพลตฟอร์มได้อีกด้วย 

มี Supply ทั้งหมด 3.03 พันล้านโทเค็น CRV ในวันที่เริ่มต้นโปรเจกต์มีการแบ่งสัดส่วน ดังนี้

-62% ถูกเก็บไว้เป็นค่าตอบแทนสำหรับ liquidity provider

-30% ถูกแบ่งให้กับผู้ถือหุ้น (ทีมผู้ก่อตั้งและนักลงทุน)

-5% ถูกเก็บไว้เป็นทุนสำรองสำหรับการขยายฐานผู้ใช้งาน

-3% ถูกแบ่งให้กับทีมพัฒนาโปรเจกต์

การ Staking CRV : การใช้งานเหรียญ CRV นั้น ผู้ใช้งานจะต้องล็อก CRV ในช่วงระยะเวลาหนึ่งไว้กับแพลตฟอร์มก่อน การล็อกนี้ ผู้ใช้งานจะได้รับโทเคน veCRV ซึ่งเปรียบเหมือนหลักฐาน(interest bearing token) ซึ่งการล็อกนี้ผู้ใช้งานสามารถเลือกระยะเวลาการล็อกได้ ตั้งแต่1 อาทิตย์ ไปจนถึง 4 ปี (ยิ่งล็อกไว้นานเท่าไหร่ อัตราการได้รับ veCRV จะยิ่งสูงขึ้น) 

 

CRV นี้มีการใช้งาน 3 รูปแบบหลักๆ ได้แก่

1.Staking: ผู้ใช้งานเอา CRV ไปฝากเพื่อรับผลตอบแทนจากค่าธรรมเนียมการเทรด

2.Voting: เพื่อรับผลตอบแทนสภาพคล่องได้เพิ่มเติม ถูกนำไปใช้ในการโหวตนโยบายต่างๆ

3.Boosting: การวาง LP บน Curve จะมีตัวคูณของผลตอบแทนที่จะได้รับ ซึ่งตัวคูณมีค่าสูงสุดคือ 2.5 เท่า

 

นอกจากนี้ยังมี CRVUSD ซึ่งเป็น stablecoin ของ Curve Finance ผู้ใช้งานสามารถผลิต(mint) CRVUSD ได้โดยการนำโทเคนไปวางเป็นหลักประกัน มีกลไกการทำงานเหมือนกับการวางหลักประกันการกู้ทั่วไป เนื่องจากสินทรัพย์ค้ำประกันจะเป็นโทเคนที่มีมูลค่าผันผวน จึงมีการตรวจสอบมูลค่าระหว่างสินทรัพย์ค้ำประกันและโทเคนที่กู้ยืมตลอดเวลา เมื่อไหร่ที่อัตราส่วนมูลค่าลดลงต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด การกู้ก็จะเข้าสู่การ liquidation และจะถูกบังคับขายสินทรัพย์ค้ำประกันทันที

Curve มีกลไกอะไรในการหารายได้มาบริหารมูลค่าเหรียญบ้างนะ?

CRV นอกจากจะใช้เป็น Governance Token และให้รางวัลคนวาง LP แล้ว ยังมีการแบ่งค่าธรรมเนียมมาซื้อเหรียญ CRV และนำมาเผา เพื่อลด Supply ทำให้ราคาเหรียญ CRV สูงขึ้น เรียกว่า “Buy back and burn”

 

Curve มีกลไกการใช้เหรียญและการกระตุ้นการใช้งานอย่างไร?

สิ่งจูงใจสำหรับ Liquidity Provider

เนื่องจาก Curve ไม่สามารถทำงานได้ถ้าไม่มี Liquidity Provider การดึงดูดคนมาวาง LP จึงมีความจำเป็นมากๆ นี่คือเหตุผลที่ Curve เสนอสิ่งจูงใจต่างๆ แก่ผู้ใช้งาน เช่น Curve เสนอค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่าง Uniswap นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้ใช้งานได้รับรางวัลจากภายนอก Curve ได้อีกด้วย เช่น DAI ถูกให้ยืมจาก Compound เหรียญ DAI จะถูกแลกเปลี่ยนเป็น cDAI ผู้ใช้งาน Curve สามารถใช้ cDAI ใน Liquidity Pool ของ Curve ได้ นอกจากนี้ Curve ยังมีวิธีในการทำกำไรจากการจัดหาสภาพคล่องบนแพลตฟอร์มนี้ คือ APY ที่สูง สำหรับการฝากเงินด้วย Stablecoin บน Curve

 

และสุดท้าย..สถานะของธุรกิจในปัจจุบันของ Curve เป็นอย่างไร?
ปัจจุบัน Curve Finance มีมูลค่าสินทรัพย์(total value locked : TVL) อยู่ที่ 1.765 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมี Revenue อยู่ที่ 43.85 ล้านดอลลาร์

Curve DEX มี TVL อยู่ที่ 1.594 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมี Revenue อยู่ที่ 30.67 ล้านดอลลาร์

crvUSD มี TVL อยู่ที่ 171.16 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมี Revenue อยู่ที่ 13.18 ล้านดอลลาร์

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าโปรเจกต์นี้มีอนาคต แต่ก็ยังคงมีความเสี่ยงเช่นเดียวโปรเจกต์อื่นๆ แต่โอกาสของ Curve Finance ยังดำเนินการได้ค่อนข้างดี เพราะผลตอบแทนของ Curve นั้นค่อนข้างสูง จึงเป็นจุดเด่นที่ทำให้ Curve ได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม

สรุปได้ว่า Curve Finance ให้ความสำคัญกับความมั่นคงมากกว่าการเก็งกำไร ซึ่งเป็นตัวเลือกที่ค่อนข้างจะตอบโจทย์นักลงทุนที่ต้องการความเสี่ยงต่ำ ในขณะที่คู่แข่งของ Curve อย่าง Uniswap จะมีความผันผวนสูงกว่ามาก และทางทีมพัฒนาของ Curve ก็ยังไม่หยุดที่จะขยายการใช้งานโดยเพิ่มจำนวน stablecoin ต่อไปในอนาคต เราคงจะได้เห็นบทบาทของ Curve มากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะได้รับความนิยมมากขึ้นอีกแน่นอนในหมู่นัก Staking ที่ต้องการความเสี่ยงต่ำ แต่อย่างไรก็ตาม ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง นักลงทุนควรศึกษา ทำความเข้าใจและประเมินความเสี่ยงให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง

 

แหล่งอ้างอิงของบทความและรูปภาพ :

•https://www.finnomena.com/codebreaker/curve-finance/

•https://zipmex.com/th/learn/what-is-curve-finance/

•https://www.okx.com/th/learn/curve-finance-guide

•https://u.today/panic-or-strategy-curvefis-creator-unleashes-torrential-sell-off

•https://curve.fi/#/ethereum/swap?from=0xdac17f958d2ee523a2206206994597c13d831ec7&to=0xeeeeeeeeeeeeeeeeeeeeeeeeeeeeeeeeeeeeeeee

•https://www.linkedin.com/pulse/how-curve-investors-earn-more-apys-footprintanalytics/

•https://siamblockchain.com/2020/09/28/curve-fi-how-does-it-work/

 

 งานเขียนนี้ เป็นส่วนหนึ่งของวิชา 751737 Economic of DeFi (Decentralized Finance) ซึ่งสอนโดย ผศ.ดร. ณพล หงสกุลวสุ  คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 งานชิ้นนี้ เขียนโดย น.ส.คันธารัตน์ ปัณฑโร 661632007