เราคงเคยได้ยินวลีของธุรกิจครอบครัวที่ว่า “รุ่นหนึ่งสร้าง รุ่นสองสาน รุ่นสามทำลาย” กันบ่อยครั้ง ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่ผิดนักเมื่อเราเอาวลีดังกล่าวมาเทียบกับสถิติของอัตราการอยู่รอดของธุรกิจครอบครัวไทย
จากการสำรวจของ PwC ประเทศไทย (PricewaterhouseCoopers) ได้รายงานอัตราการอยู่รอดของธุรกิจครอบครัวไทยไว้ว่า มีเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ของธุรกิจครอบครัวที่อยู่ได้ถึงรุ่นที่ 2 และมีเพียงแค่ 12 เปอร์เซ็นต์ ที่อยู่ถึงรุ่น 3 และจำนวนที่ส่งต่อถึงรุ่น 4 ได้ เหลือเพียง 4 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น
คำถามก็คือทำไมถึงเป็นอย่างนี้ และทำไมเรื่องนี้จึงเกิดขึ้นซ้ำๆ เราจะพามาหาคำตอบกันในบทความนี้ครับ
จากการที่ผมได้มีโอกาสทำงานคลุกคลีเกี่ยวกับธุรกิจครอบครัวมาค่อนข้างมากในระยะเวลาที่ผ่านมา และสิ่งที่ผมค้นพบคือส่วนใหญ่มีปัญหาที่เป็นแพทเทิร์นซึ่งเกิดขึ้นซ้ำๆ และผมมองว่านี่คือสาเหตุของเรื่องนี้ครับ ซึ่งสามารถสรุปปัญหาออกมาได้ 4 สาเหตุด้วยกัน
1. ธุรกิจเติบโตไม่ทันครอบครัว
ในการทำงานของธุรกิจครอบครัว มักเป็นการดึงสมาชิกเข้ามาทำงานในธุรกิจหลายคนพร้อมๆ กัน ดังนั้นธุรกิจจึงเป็นแหล่งสร้างรายได้หล่อเลี้ยงสมาชิกในครอบครัวอยู่
แต่คำว่า ‘ครอบครัว’ เมื่อเวลาผ่านไปนับวันสมาชิกก็จะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเขย สะใภ้ ลูก หลาน ฯลฯ ดังนั้นหากธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับครอบครัวยังไม่เติบโต ยังไม่มีบริษัทที่ใหญ่ขึ้น ยังไม่ทำให้ยอดขายมากขึ้นได้ ก็จะไม่สามารถมีรายได้ที่มากพอในการหล่อเลี้ยงสมาชิกที่เพิ่มขึ้นได้ ซึ่งก็เหมือนเป็นการผลักสมาชิกออกจากธุรกิจในทางอ้อมให้ออกไปหารายได้จากภายนอกแทน แม้สมาชิกคนนั้นอาจจะอยากช่วยธุรกิจนี้มากแค่ไหนก็ตาม
ดังนั้นธุรกิจครอบครัวจะหลุดพ้นคำสาปรุ่น 3 ได้ ก็ต้องทำให้ธุรกิจครอบครัวเติบโตให้ทันกับสมาชิกในครอบครัวที่นับวันจะมีแต่เพิ่มขึ้นให้ได้
2. การจัดสรรผลตอบแทน
นอกจากการที่ธุรกิจไม่โตในข้อแรกจะเป็นปัญหา อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหา ทั้งๆ ที่เราคิดว่ามันไม่น่าจะเกิดขึ้นก็คือ ‘การที่ธุรกิจเติบโต’ แต่ปัญหาคือพอโตแล้วไม่สามารถจัดสรรผลตอบแทนให้กับสมาชิกได้อย่างเป็นธรรม
เรื่องนี้ถือเป็นหนึ่งในสาเหตุใหญ่ที่สุด และพบได้บ่อยที่สุดเลยก็ว่าได้ ทำให้ธุรกิจครอบครัวต้องแตกหักกัน หลายครั้งถึงขั้นต้องฟ้องร้องดำเนินคดีกันด้วย
สาเหตุสำคัญมักเกิดจากการที่ไม่ตกลงเรื่องนี้กันตั้งแต่วันที่ธุรกิจยังเล็กอยู่ มักเป็นเพียงสัญญาใจระหว่างกัน ในวันแรกๆ ที่ต้องการแรงงานเข้ามาช่วยในธุรกิจ ก็มักหนีไม่พ้นคนในครอบครัว ที่เมื่อมาทำงานร่วมกันก็ร่วมแรงร่วมใจ ผลงานก็มักจะออกมาดีและทำให้ธุรกิจเติบโต
แต่ด้วยความที่เป็นเพียงสัญญาใจระหว่างกัน ไม่ได้มีการตกลงเรื่องผลตอบแทนกันไว้ตั้งแต่ทีแรก พอเค้กมันเริ่มก้อนใหญ่ขึ้น สมาชิกมีมากขึ้น ความกลืนไม่เข้าคายไม่ออกก็จะเกิดขึ้น เช่น คนนั้นทำเยอะ คนนี้ทำน้อย รักคนนั้นมากกว่า ทำไมคนนี้ได้มากกว่า ทำไมคนนั้นได้น้อยกว่า ปัญหาเหล่านี้ก็จะเกิดขึ้นตามมาจนกลายเป็นความขัดแย้งขึ้น
และความขัดแย้งนี้ก็มักจะเป็นจุดจบของธุรกิจที่ต่างคนต่างไม่อยากเข้ามายุ่งเกี่ยวกับธุรกิจ โดยเฉพาะลูกหลานที่รู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมที่พ่อแม่ตัวเองต้องพบ ซึ่งก็ทำให้ธุรกิจต้องจบลงไปนั่นเอง
3. รูปแบบการทำงานที่แตกต่างกัน
เรื่องนี้อาจจะดูเป็นปัญหาที่ไม่ต่างจากใน 2 ข้อแรกสักเท่าไหร่ เนื่องจากเป็นปัญหาที่วิธีคิด ความเชื่อ และรูปแบบการทำงานที่แตกต่างกันจนไม่สามารถเข้ากันได้มากกว่า
ทายาทหลายคนเมื่อมีโอกาสกลับมาทำงานที่บ้านก็มักจะมาพร้อมกับไฟ วิธีคิด ไอเดียธุรกิจใหม่ๆ เยอะแยะเต็มไปหมด แต่เมื่อมาเสนอกับผู้ใหญ่ที่ทำธุรกิจแบบเดิมมาอย่างยาวนานก็มักจะไม่ได้รับการเห็นชอบอยู่เสมอ จนท้ายที่สุดทายาทก็จะอึดอัดที่ตัวเองไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือทำอะไรได้เลย
บวกกับความเชื่อในการทำงานที่แตกต่างกัน เช่น ผู้ใหญ่มักมีความเชื่อในการทำงานในรูปแบบเถ้าแก่อยู่ ที่ต้องคอยเฝ้า คอยดูแล คอยคุมธุรกิจอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นวิธีการทำงานที่พิสูจน์แล้วว่าทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จมาจนถึงปัจจุบัน
แต่ทายาทมักจะให้ความสำคัญกับการทำงานอย่างมีระบบ เพื่อให้ธุรกิจสามารถขยายและเติบโตต่อไปได้ โดยที่ตัวเองไม่ต้องมานั่งจับเจ่า คอยเฝ้า คอยคุมธุรกิจอยู่ตลอดเวลา มีอิสระและเวลามากขึ้นในการออกไปทำอะไรใหม่ๆ ให้กับธุรกิจหรือออกไปใช้ชีวิตด้านอื่นด้วย
ดังนั้นสองความเชื่อที่แตกต่างกันนี้ พอมาทำงานด้วยกันก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ ผู้ใหญ่ก็ยังไม่ยอมวางมือ และคาดหวังให้ทายาททำในรูปแบบของตน ทายาทก็อยากได้โอกาสในการเปลี่ยนธุรกิจให้เป็นระบบและสามารถเติบโตต่อไปได้ จนในท้ายที่สุดธุรกิจก็ต้องจบลงเพราะไม่สามารถหาจุดตรงกลางระหว่างกันได้นั่นเอง
4. ความฝันของทายาท
ผมมักจะพูดอยู่เสมอว่าการกลับมาสานต่อธุรกิจครอบครัวเป็นเพียง ‘ทางเลือกหนึ่งในชีวิต’ สำหรับคนที่เกิดมาเป็นทายาทธุรกิจครอบครัวเท่านั้นเอง และหลายครั้งสิ่งที่เกิดขึ้นกับธุรกิจครอบครัวคือตัวทายาทเองตัดสินใจที่จะไม่เลือกเส้นทางนี้
ทายาทหลายคนมีโอกาสได้ไปเรียนต่อต่างประเทศ ทดลองใช้ชีวิต ลองผิดลองถูกทำอะไรใหม่ๆ หลายครั้งก็เจอจุดที่เหมาะกับตัวเอง เจอสิ่งที่ตัวเองชอบ บางคนออกไปทำธุรกิจของตัวเอง บางคนไปทำสิ่งที่ตัวเองชอบ บางคนทำงานในต่างประเทศ หรือบางคนก็ชอบที่จะทำงานประจำมากกว่า
สิ่งเหล่านี้เองทำให้การกลับมาสานต่อธุรกิจครอบครัว ก็ไม่ใช่เส้นทางที่เหมาะกับพวกเขาอีกต่อไป และในท้ายที่สุดธุรกิจของที่บ้านก็ไม่มีทายาทกลับมาสานต่อ
และนี่คือ 4 เรื่องที่ผมมองว่าเป็นสาเหตุของ ‘คำสาปรุ่น 3’ ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ กับธุรกิจครอบครัวไทย
แต่สิ่งที่อยากจะฝากทิ้งท้ายคือ การที่ธุรกิจครอบครัวต้องจบลงที่รุ่น 1 รุ่น 2 หรือรุ่น 3 ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ธุรกิจครอบครัวอาจจะไม่จำเป็นต้องได้รับการสานต่อเสมอไปก็ได้ อาจจะต้องเลิกกิจการไปก็ได้ อาจจะขายกิจการไปก็ได้ อาจจะหามืออาชีพภายนอกมาทำแทนก็ได้
แต่สิ่งที่อยากจะฝากถึงทายาทที่เกิดมาในธุรกิจครอบครัว นั่นก็คือ“อะไรก็ตามที่อยู่มาหลายสิบปีมักจะมีทองอยู่ในนั้น หากเราสามารถหาโอกาสและต่อยอดจากสิ่งเหล่านี้ได้ เราก็จะมีโอกาสไปได้ไกลกว่าคนอื่นทันที”
ลองกลับมามองหาดูก่อนนะครับว่าในธุรกิจของเรามีอะไรที่ซ่อนอยู่หรือไม่ 🙂