ในโลกนี้ ถ้าพูดถึง ‘ประเด็นร้อน’ ที่ทั่วโลกมีภาวะ เสียงแตกในการจัดการที่สุดนั่นคือ คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) หรือที่มักจะเรียกสั้นๆ ว่า ‘คริปโท’ ซึ่งก็คือสกุลเงินรวมไปจนถึงโทเคนต่างๆ ที่ถูกสร้างมาด้วยเทคโนโลยีบล็อคเชน
ในช่วงแรกๆ คริปโทและอุตสาหกรรมที่รายล้อมนั้นเล็กมาก รัฐก็ไม่สนใจ แต่พอมันใหญ่ขึ้นเมื่อช่วงปี 2017 รัฐทั่วโลกก็เริ่มทำการ ‘กำกับดูแล’ ผ่านการบังคับให้เหล่า ‘กระดานเทรด’ หรือแพลตฟอร์มให้บริการซื้อขายคริปโทต้องมีใบอนุญาตทำธุรกิจเฉพาะ ซึ่งการทำแบบนี้ หลักทั่วไปคือทำเพื่อคุ้มครองนักลงทุน ไม่ให้โดนพวกมิจฉาชีพล่อลวงให้ลงทุนแบบโง่ๆ ดังที่เกิดมานักต่อนัก
แต่ล่าสุด ตลาดคริปโทขยายตัวสุดๆ ในปี 2021 ขยายตัวในระดับที่ว่าตั้งแต่มหาเศรษฐียันคนขับแกรบต่างกระโดดเข้าร่วมตลาดคริปโทกันหมด ท่าทีของรัฐก็เริ่มเปลี่ยนว่ามันควรจะเอายังไงกันต่อดี
บางรัฐมีท่าทีเป็นปฏิปักษ์กับคริปโทชัดเจน และแสดงเจตนาว่าไม่สามารถอยู่ร่วมโลกกับคริปโทได้ รัฐพวกนี้พยายามจะ ‘แบน’ คริปโทเลย คือประกาศว่าเป็น ‘สิ่งผิดกฎหมาย’ ไม่ได้ต่างจากยาเสพติด จะเอาผิดผู้ซื้อผู้ขายให้หมดถ้าเป็นไปได้ ซึ่งนี่เป็นท่าทีของประเทศอย่างจีนและรัสเซีย
จะเห็นได้ว่าประเทศที่มีท่าที่แบบ ‘เผด็จการ’ หน่อยจะไม่ชอบคริปโท เพราะเจตจำนงของคริปโทตั้งแต่แรกคือมันถูกสร้างมาท้าทายอำนาจรัฐ แต่ในทางกลับกัน ประเทศที่ค่อนข้างเสรี ก็รู้สึกกระอักกระอ่วนกับการแบนคริปโท เพราะด้วยหลักการและเหตุผลแล้ว รัฐที่มาจากการเลือกตั้งในระบบประชาธิปไตยมันไม่รู้จะอธิบายยังไงให้ประชาชนเข้าใจได้ว่าคริปโทนั้นผิดกฎหมาย หรือพูดอีกแบบก็คือ คุณจะบอกว่าอะไรมันผิดกฎหมายแบบยาเสพติด คุณต้องมีเหตุผลที่ ‘ฟังขึ้น’ ซึ่งยาเสพติดมันสามารถอ้างเรื่องสุขภาพ เรื่องปัญหาสาธารณสุขได้ แต่คริปโทมันอ้างแบบเดียวกันไม่ได้
ดังนั้นในเชิงเหตุผลแล้วมันแบนลำบาก ไม่ต้องพูดถึงในเชิงเทคนิคที่จะแบนก็ยากมาก แต่อีกด้านนั้นการไม่ทำอะไรกับคริปโทเลยก็ไม่ได้เช่นกัน อย่างน้อยก็ต้องนิยามคร่าวๆ ในเชิงกฎหมายได้ว่ามันคืออะไรกันแน่
ทั้งหมดนี้นำมาสู่ภาวะที่น่าปวดหัวมาก เพราะแต่ละรัฐในโลกนี้มองคริปโทไม่เหมือนกัน นำไปสู่แนวทางการปฏิบัติที่ต่างกัน รวมถึงการเก็บภาษีด้วย ไม่แปลกที่ในไทยเรื่อง ‘ภาษีคริปโท’ เป็นเรื่องน่าปวดหัวมาก และยิ่งเข้าช่วงฤดูแห่งการเสียภาษีก็ยิ่งปวดหัว เพราะยังไม่รู้เลยว่าในส่วนของคริปโตนั้นจะจ่ายภาษียังไง?
แน่นอนว่าสุดท้ายสรรพากรไทยก็ออกมาชี้แจง และเพจจำนวนไม่น้อยก็เริ่มสอนวิธีคำนวณภาษีคริปโต แต่ข้อเท็จจริงก็คือในไทยมันยังไม่มีกฎหมายภาษีคริปโทชัดเจน และแนวทางที่ว่ามันก็เกิดจากการตีความ ‘รายได้’ ของทางกรมสรรพากรเอง ซึ่งในประเทศอื่นก็น่าสนใจว่าเขาจะถือหลักว่า “ถ้าอะไรที่กฎหมายไม่ระบุว่าต้องเสียภาษีให้ชัดๆ ก็ไม่ต้องเสียภาษี” นี่จึงเป็นเหตุผลที่ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาต้องออกประมวลกฎหมายภาษีใหม่เพื่อจะรวมคริปโทเข้าไปในสารบบ เพราะถ้าไม่ออกกฎหมายใหม่ก็จะถือว่ารัฐไม่มีอำนาจเก็บภาษีคริปโตภายใต้ข้อกำหนดทางภาษีทีมีอยู่
ในแง่นี้ การเก็บภาษีคริปโทของไทยค่อนข้างจะแปลกๆ และงงๆ มาก ดูไม่มีมาตรฐานใดๆ เลย คือจะให้สุดขีดไปเลยแบบอินเดียที่มองว่าคริปโทเป็น ‘สินค้าฟุ่มเฟือย’ ที่ทุกธุรกรรมต้องเก็บภาษีแบบภาษีสรรพสามิตก็ไม่ใช่ เพราะสรรพากรไทยก็ไม่ได้บอกว่า การโอนคริปโทให้กัน (อันเป็นฟังก์ชันพื้นฐาน) ต้องเสียภาษี แต่ในทางกลับกัน สำหรับสรรพากรการได้มาซึ่งคริปโทที่มีลักษณะแบบ ‘รายได้’ ทั้งหมดต้องเสียภาษี
และนี่ก็นำมาสู่อีกความประหลาด เพราะในประเทศอื่น ระเบียบภาษีคริปโทมันไม่ใช่แบบนี้ เพราะบนฐานที่ว่ารัฐไม่ได้ยอมรับว่าคริปโตเป็น ‘เงิน’ แล้ว รัฐจะเก็บภาษีการ ‘รับคริปโท’ แบบ ‘รับเงิน’ ได้อย่างไร? นี่คือความไม่คงเส้นคงวาที่สรรพากรไทยดูจะพยายามเก็บภาษีคริปโทแบบงงๆ ด้วยการบอกว่าถ้าคุณรับคริปโทมา หรือได้คริปโทมาฟรีๆ ให้คุณเทียบคริปโตเป็นค่าเงินบาทและคิดเป็น ‘เงินได้’ ของปีภาษีนั้นๆ
แน่นอนว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่ประเทศไหนในโลกเขาทำกัน เพราะมันเหมือนคุณไปบอกคนที่รับเงินโบนัสว่าเป็น ‘หุ้นบริษัท’ (ตามที่พวกสตาร์ทอัปมักจะฮิตกัน) ต้องเอามูลค่าหุ้นไปเทียบเป็นเงิน แล้วคิดเป็นรายได้ในปีนั้น และนี่ไม่ใช่สิ่งที่ใครทำแน่ๆ กับสินทรัพย์ใดๆ ทั้งนั้น แต่ดันใช้ระบบงงๆ นี้กับคริปโท
ถ้าจะให้อธิบายเพิ่มเติมก็คือ ไทยอาจพยายามใช้ระบบแบบ ‘ภาษีของขวัญ’ มาเก็บภาษีคริปโท ซึ่งระบบแบบนี้ชาติอื่นไม่ใช่ไม่มี แต่เขาใช้กับ ‘ของขวัญ’ จริงๆ ไม่ใช่คริปโท และเขาจะมีข้อกำหนดชัดว่าการรับของขวัญเกินมูลค่าเท่าไรถึงจะต้องเสียภาษี
ทีนี้ถ้าหันมาดูประเทศที่มีความคงเส้นคงวาภายใต้หลักการ เขาก็จะถือว่าคริปโทนี่เก็บภาษีเหมือน ‘หุ้น’ เป๊ะๆ เลย คือใช้ระบบ ‘ภาษีกำไรทุน’ (capital gain tax) คือคุณจะเสียภาษีต่อเมื่อคุณ ‘ได้กำไร’ และถ้าคุณ ‘ขาดทุน’ ก็เอามาหักเป็นต้นทุนได้ นี่คือระบบแบบที่อเมริกาและอังกฤษใช้ ซึ่งมันง่ายมากในการเก็บภาษีคริปโท เพราะคุณคิดง่ายๆ ว่าคุณเก็บภาษีหุ้นยังไง คุณก็เก็บคริปโทแบบนั้น มาตรฐานเดียวกัน ไม่ต้องไปคิดอะไรมาก
และก็แน่นอน แม้ว่านี่จะเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล แต่แม้แต่ในยุโรปเอง หลายประเทศก็ไม่ได้มองว่าคริปโทมีลักษณะแบบ ‘หุ้น’ แต่มีลักษณะแบบ ‘เงิน’ มากกว่า คือเขามองมันคล้ายๆ ว่าเป็นสกุลเงินต่างประเทศสกุลหนึ่ง และนั่นคือคุณสามารถซื้อขายถ่ายโอนได้ไม่ต้องกลัวเสียภาษีใดๆ และประเทศที่ใช้ระบบนี้ก็ได้แก่เยอรมนีและโปรตุเกส (กรณีเยอรมนีมีข้อยกเว้นว่าคุณต้องถือคริปโทเกิน 1 ปีถึงจะขายได้โดยไม่ต้องเสียภาษีส่วนกำไร แต่นั่นเป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อยเท่านั้น)
ซึ่งในโลกนี้ อีกด้านหนึ่งของความบ้าคลั่งของการปฏิบัติราวกับคริปโทเป็น ‘เงิน’ ก็คือประเทศอย่างเอลซัลวาดอร์ที่ประกาศให้ Bitcoin มีสถานะเป็นเงินที่ ‘ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย’ หรือมีมูลค่าเทียบเท่าสกุลเงินหลักของประเทศเลยในทุกด้าน คือไม่ใช่แค่ไม่ต้องเสียภาษีพิเศษ แต่ใช้เป็นเงินได้จริงๆ เลย กฎหมายยอมรับ
ทั้งหมดนี้ คือภาพรวมของคริปโทในสายตาของรัฐต่างๆ ในช่วงต้นปี 2022 ก็จะเห็นว่ามันไม่มีคำตอบและข้อสรุปใดๆ ไปในทางเดียวกันเลย และน่าจะต้องใช้เวลาอีกพอสมควรว่าโลกนี้จะตกลงกัน ‘สร้างมาตรฐาน’ ว่าควรต้องดีลกับคริปโทอย่างไร
แต่ที่แน่ๆ ถึงตรงนี้ก็คงจะพอเห็น ‘ความไม่ปกติ’ ของการเก็บภาษีคริปโทในไทยกันได้ประมาณหนึ่งแล้ว และความงงๆ นี้ก็ควรจะจบลงด้วยการออกกฎหมายชัดๆ ว่า ‘ในทางภาษี’ นั้น คริปโทคืออะไรกันแน่?
ภาพ: วัชรพงศ์ แหล่งหล้า
อ้างอิง
- Reuter. India to tax cryptocurrencies at 30%, puts digital assets in highest tax band. https://reut.rs/3LohP81
- Decrypt. What the IRS Court Case Over Crypto Staking Taxes Really Means. https://bit.ly/33iih6s
- Decrypt. Thailand Drops 15% Capital Gains Tax Plan on Crypto. https://bit.ly/3LrAY8O
- CNBC. https://cnb.cx/3gH5kpW
- กรมสรรพากร. คำแนะนำการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คริปโทเคอเรนซี โทเคนดิจิทัล. https://bit.ly/3uHQ8Rv
- The Economic Times. India’s new crypto tax compared. https://bit.ly/3I0bnSB