ดูหนัง ‘ภาพหวาด’ แล้วย้อนดูเหตุ ‘คนที่ถูกซ่อนในภาพ’ ในชีวิตจริง

‘ภาพหวาด’ หรือ ‘Cracked’ ที่มีศูนย์กลางของเรื่องเป็นภาพวาดประหลาดที่ผู้ครอบครองมักจะมีอันเป็นไป ไม่นานหลังได้รับภาพมา

694 Views
22 Sep 2023

หนังเรื่อง ‘ภาพหวาด (Cracked)’ ที่มีศูนย์กลางของเรื่องเป็นภาพวาดประหลาดที่ผู้ครอบครองมักจะมีอันเป็นไป ไม่นานหลังได้รับภาพมา

ถึงจะเป็นคนชอบดูงานศิลปะและชอบดูหนังมากแค่ไหน ก็ต้องยอมรับว่าเวลาที่สองสิ่งที่เราชอบมาอยู่ด้วยกัน มันมีโอกาสที่จะไม่ลงตัวเสียเยอะ หนังบางเรื่องเล่าเรื่องภาพวาด บางเรื่องเล่าเรื่องวงการศิลปะ แต่ก็ไม่ได้มีเรื่องไหนที่ทำให้เราคิดตามและคิดต่อเท่าไหร่นัก ไม่เหมือนตอนได้ดูหนังสยองขวัญสัญชาติไทยจากการร่วมทุนของนานาชาติอย่างเรื่องนี้เลย

ภาพหวาด (Cracked) เล่าเรื่องการรับมรดกของพ่อผู้ล่วงลับของหญิงสาว ที่รอยแตกประหลาดบนภาพทำให้เธอต้องพึ่งพานักบูรณะภาพหนุ่มที่คนใกล้ชิดแนะนำมา แต่เธอก็ค่อยๆ ค้นพบว่าภาพวาดนี้ไม่ยอม ‘ถูกซ่อมแซม’ ตามที่ได้วางแผนไว้ และเหมือนจะยิ่งมีรอยแตกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เธอจึงค่อยๆ ค้นหาว่าอะไรคือ ‘ภาพจริง’ ที่ถูกซ่อนอยู่ภายใต้รูปที่เธอเห็นกันแน่ ซึ่งถึงแม้ว่าเหตุการณ์ในหนังนั้นจะไม่มีการซ่อนภาพของคนทั้งคนเอาไว้ แต่ก็เรียกได้ว่าสิ่งที่หนังเลือกมาบอกเล่าก็เป็นเรื่องที่สะเทือนอารมณ์ไม่น้อยไปกว่ากัน

‘His Name Was Bélizaire’: Rare Portrait of Enslaved Child Arrives at the Met

ภาพต้นฉบับก่อนที่จะถูกวาดทับในเวลาต่อมา
Credit: ‘His Name Was Bélizaire’: Rare Portrait of Enslaved Child Arrives at the Met

ตัดมาที่เรื่องจริงที่เราทึ่งมากๆ คือเมื่อเร็วๆ นี้ มีการค้นพบสำคัญในสหรัฐอเมริกา ที่เจ้าของภาพวาดอายุเก่าแก่สามารถบูรณะจนเห็นภาพต้นฉบับชัดเจน และสืบหาตัวตนของ ‘คนที่ถูกซ่อนในภาพ’ จนเจอ ซึ่งบุคคลที่ว่านั้นเป็นทาสผิวสีที่เป็นสมบัติซื้อมาขายไปของผู้ว่าจ้างให้วาดภาพดังกล่าว เมื่อพิจารณาความจริงที่ว่า ทาสมักไม่ได้รับสิทธิ์ให้ใช้ชีวิตร่วมหรือใกล้ชิดกับนายมากนัก ในสหรัฐอเมริกายุคนั้น การมีอยู่ของเด็กหนุ่มผิวสีในภาพเลยยิ่งเป็นเหตุการณ์หายากที่น่าทึ่ง และทำให้เรานึกถึงหนัง ‘ภาพหวาด’ ที่เพิ่งออกฉายไปเมื่อปีที่แล้วขึ้นมาทันที

ทาสที่เคยอยู่ในภาพ และถูกวาดทับในเวลาต่อมา ชื่อว่า เบลิแซร์ (Bélizaire) เด็กหนุ่มผิวสีที่เหมือนจะถูกเลี้ยงดูใกล้ชิดกับเด็กๆ ลูกเจ้าของบ้านผู้มั่งคั่ง และมีชีวิตช่วงหนึ่งอยู่ในมลรัฐลุยเซียนา ของสหรัฐอเมริกา แต่ก่อนที่จะรู้ชื่อและความเป็นมาของเด็กคนนี้ เจ้าหน้าที่บูรณะไม่สามารถตรวจสอบประวัติของเขาได้จากที่ใดเลย จึงต้องพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญให้สืบหาเพิ่มเติม โดยเริ่มสืบจากบุคคลที่มีเชื้อสายเกี่ยวข้องในยุคปัจจุบัน ไล่ขึ้นไปถึงครอบครัวรุ่นก่อนๆ ว่ามีใครมั่งคั่งพอที่จะจ้างคนมาวาดภาพตนเองหรือไม่ เมื่อพบว่ามี ก็ทำการสืบหาชื่อสมาชิกในบ้าน ซึ่งรวมถึงทาสที่เป็นสมบัติของเจ้าบ้านขณะนั้นด้วย

เบลิแซร์ ถูกขายพร้อมแม่ของเขาเมื่ออายุ 6 ขวบ ในปี 1828 ให้กับพ่อค้าและนักการเงิน เฟรเดอริก เฟรย์ (Frederick Frey) ซึ่งต่อมา นายใหญ่ของบ้านคนนี้ได้พา เบลิแซร์ ไปไหนต่อไหนด้วยอย่างใกล้ชิด ตามหลักฐานการเดินทางที่มีบันทึกไว้ แสดงให้เห็นว่าเด็กหนุ่มเป็นทาสที่ได้รับการไว้วางใจอย่างยิ่ง และเป็นไปได้อีกว่าเขาต้องได้รับหน้าที่ดูแลเด็กๆ พี่น้องตระกูลเฟรย์ -ที่ก็ปรากฏในภาพวาด- ด้วย

ต่อมา ในปี 1856 เบลิแซร์ถูกขายให้กับเจ้าของไร่การเกษตรอื่น และใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นจนปี 1861 ปีที่สงครามกลางเมืองเริ่มต้นขึ้น ทำให้บันทึกการมีตัวตนอยู่ของเขาจบลงตรงนั้น ซึ่งหลังจากการขายออกจากบ้านตระกูลเฟรย์ไม่นาน ภาพสมัยเด็กที่มีเบลิแซร์ปรากฏอยู่ด้วยก็ถูกวาดทับ และเกิดเป็นรอยแตกตามกาลเวลา

‘His Name Was Bélizaire’: Rare Portrait of Enslaved Child Arrives at the Met

ภาพที่ถูกวาดทับ และเกิดเป็นรอยแตกตามกาลเวลา
Credit: ‘His Name Was Bélizaire’: Rare Portrait of Enslaved Child Arrives at the Met

แม้ว่าจะมีช่วงหนึ่งที่ทาสหนุ่มคนนี้ถูกลบเลือนไปจากประวัติศาสตร์ครอบครัว แต่วิทยาการการบูรณะงานศิลปะในสมัยนี้ก็สามารถนำประวัติศาสตร์ส่วนที่หายไปนั้นกลับมาบอกเล่าได้อย่างสมบูรณ์ และสำหรับหลายๆ การบูรณะ ความจริงส่วนที่หายไปอาจมีคุณค่าต่อใจ ต่อการรับรู้ มากเกินกว่าจะประเมินออกมาเป็นมูลค่าได้ ซึ่งเกิดขึ้นกับทั้งภาพวาดจริงของ เบลิแซร์ และเด็กๆ ตระกูลเฟรย์ และทั้ง ‘ภาพหวาด’ หนังไทยมู้ดแหวกแนวเรื่องที่เราอยากแนะนำนี้ด้วย

ภาพหวาด (Cracked) สตรีมทาง Netflix

อ้างอิง:

‘His Name Was Bélizaire’: Rare Portrait of Enslaved Child Arrives at the Met https://youtu.be/n60NTrKs-wc

Bélizaire and the Frey Children https://www.metmuseum.org/art/collection/search/898196

ติดตาม BrandThink Cinema ช่องทางอื่นๆ ได้ที่: https://linktr.ee/brandthinkcinema