3 Min

กล่องคุกกี้ใส่ ‘เข็มกับด้าย’ เป็นเรื่องที่ ‘แม่ๆ ทั่วโลก’ ทำเหมือนกันโดยไม่ได้นัดหมาย

3 Min
658 Views
08 Sep 2022

ในไทยคุกกี้กล่องแดงแทบจะเป็นสัญลักษณ์เชิงวัฒนธรรม (และถูกล้อเลียน) ในฐานะของขวัญสิ้นคิดช่วงปีใหม่ ซึ่งก็แน่นอนเราก็คงจะรู้สึกว่านี่เป็นอะไรที่ไทยแลนด์โอนลี่แต่ในความเป็นจริง ไอเดียเรื่องการใช้คุกกี้กล่องสังกะสีเป็นของขวัญไม่ได้มีแค่ในไทย เพราะอย่างน้อยๆ ในจีนก็มีการให้คุกกี้แบบนี้ช่วงตรุษจีน และในรัสเซียก็มีการให้กันช่วงปีใหม่ แต่ของเขาจะไม่ให้คุกกี้กล่องแดงแบบไทย เพราะเขาจะให้คุกกี้กล่องน้ำเงินยี่ห้อ Royal Dansk (ที่เป็นต้นฉบับของคุกกี้กล่องแดงบ้านเราน่ะแหละ)

และจริงๆ ถ้าพูดถึง Royal Dansk คนทั่วโลกก็น่าจะรู้จักและคุ้นเคยดี แต่ไม่ใช่ในฐานะของขวัญปีใหม่เพียงอย่างเดียว แต่ในฐานะของภาชนะใส่เข็มกับด้ายของแม่

ถ้าใครที่โตมาก่อนยุคมิลเลนเนียลก็คงจะคุ้นๆ ตอนเด็ก ว่าที่บ้านเคยเปิดคุกกี้กล่องแดงมาแล้วพบว่าข้างในไม่มีคุกกี้ มีแต่เข็มกับด้ายและอุปกรณ์เย็บปักถักร้อย

ในตอนแรก ไม่มีใครรู้ว่าปรากฏการณ์นี้มีอยู่ทั่วโลก จนชุมชนเอเชียในอินเทอร์เน็ตพยายามจะหามุกทำนองเอเชี่ยนโอนลี่และพบว่าตอนเด็กๆ คนทั่วเอเชียมีประสบการณ์ร่วมว่าแม่ของตนมักจะเก็บเข็มกับด้ายไว้ในกล่องคุกกี้

แต่ไปๆ มาๆ คนนอกเอเชียก็ออกมายืนยันตรงกันว่า แม่ตัวเองก็เก็บเข็มกับด้ายแบบนี้เหมือนกัน จนผู้ใช้ Reddit ไปนั่งลิสต์ประเทศที่พบปรากฏการณ์แบบนี้ และก็พบว่าอย่างน้อยๆ ตั้งแต่อเมริกาเหนือจรดใต้ ไปจนถึงยุโรปจรดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีปรากฏการณ์แบบนี้กันหมด และประเทศที่ไม่มีการยืนยันปรากฏการณ์แบบนี้ก็มีเพียงแค่แอฟริกาบางประเทศ และประเทศเกาะแถบแคริบเบียนและโอเชียเนีย เท่านั้น

พูดง่ายๆ นี่คือปรากฏการณ์ระดับโลก ที่เกิดโดยไม่ได้นัดหมาย ไม่มีการเผยแพร่ทางวัฒนธรรมใดๆ แต่คนทั่วโลกบังเอิญใช้กล่องคุกกี้สังกะสีด้วยเหตุผลเดียวกัน

ว่าแต่ ทำไมถึงเป็นแบบนั้น? อาจต้องว่ากันทีละสเต็ป

มนุษยชาติเริ่มใช้กล่องสังกะสีเป็นบรรจุภัณฑ์มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 แต่ก็เพิ่งจะในปี 1966 นี่แหละที่คุกกี้ Royal Dansk ถือกำเนิด

ในยุคนั้น Royal Dansk ถือเป็นของดี ของหายาก ของฝากจากเดนมาร์ก ซึ่งที่คนนิยมกันมากเพราะไม่ใช่แค่คุกกี้อร่อย (เขาว่ามันหอมเนยและเนื้อละเอียดมาก) และกล่องมันก็ดูดีมากๆ เรียกได้ว่าเป็นของกินที่ซื้อไปฝากชาวบ้านได้ไม่น่าเกลียด ตอนแรกพวกคนพอจะมีฐานะก็เลยมักจะซื้อคุกกี้เมดอินเดนมาร์กพวกนี้มาเป็นของขวัญกัน ซึ่งในบางประเทศอย่างจีนก็ฮิตที่จะซื้อให้กันในช่วงปีใหม่

ความฮิตของคุกกี้แบบนี้ก็ทำให้เกิดแบรนด์เลียนแบบทั่วโลกซึ่งก็ไม่แปลกอะไรที่ในหลายประเทศแบรนด์เลียนแบบจะฮิตเกินแบรนด์ต้นฉบับจนคนในประเทศนั้นไม่รู้จักแบรนด์ต้นฉบับด้วยซ้ำซึ่งสิ่งที่ถ่ายทอดทางวัฒนธรรมกันมาก็คือไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ไหนก็ถือเป็นของดีที่จะให้กันในโอกาสพิเศษ

และไม่ว่าแบรนด์เลียนแบบจะทำรสชาติเหมือนหรือต่างจากต้นฉบับ สิ่งที่ต้องเหมือนกันเสมอก็คือ หีบห่อของคุกกี้ที่ต้องเป็นกล่องสังกะสีทรงกลมแข็งแรง

ซึ่งสิ่งที่แม่บ้านทั่วโลกประสบร่วมกันก็คือ มันก็ต้องมีสักโอกาสที่จะได้คุกกี้แบบนี้เป็นของขวัญ และพอกินหมดแล้ว ก็จะรู้สึกว่ากล่องมันดูดีเกินกว่าจะโยนทิ้งขยะ เลยต้องเอามาทำอะไรสักอย่าง

ว่าแต่ ทำไมต้องเป็นเข็มกับด้ายล่ะ?

อย่างแรก อาจต้องเข้าใจก่อนว่าสาวๆ ยุคก่อนแทบทุกคนต้องเย็บผ้าเป็น และสามารถซ่อมแซมเสื้อผ้าเองแบบนิดๆ หน่อยๆ ได้ สมัยโน้นถือว่าเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของผู้หญิง ตั้งแต่ยุคที่ผู้หญิงต้องอยู่บ้านเป็นแม่บ้าน และในยุคแรกๆ ที่ผู้หญิงออกจากบ้านมาทำงาน ค่านิยมแบบนี้ก็ยังมีอยู่

ซึ่งปัญหาของสมัยโน้นก็คือ แม้ว่าผู้หญิงทุกคนจะต้องมีอาวุธประจำกายคือเข็มกับด้าย แต่ไม่ค่อยมีภาชนะใดๆ ที่มีความเหมาะสมในการเก็บสิ่งเหล่านี้ที่หาได้ทั่วไป และก็ต้องเข้าใจอีกว่าสมัยโน้นมันไม่มีร้านแบบ Daiso หรือพวกร้าน 20 บาทพวกกล่องพลาสติกบรรจุภัณฑ์ต่างๆ จึงค่อนข้างหายาก และนี่เป็นสาเหตุให้เหล่าแม่บ้านทั่วโลกเวลาซื้อพวกสินค้าอะไรมาแล้ว ถ้าบรรจุภัณฑ์มีความคงทน ก็จะเอามาล้างและนำมาใช้ใส่โน่นนี่ ซึ่งของที่จะใส่ก็แตกต่างกันไปในแต่ละภาชนะ และจริงๆ หลายคนก็คงรู้ว่า ไม่ใช่แค่กล่องคุกกี้หรอก พวกโหลแก้ว ยันกล่องไอติมพลาสติก กินเสร็จแล้วแม่ๆ ก็จะเอามาล้างทำภาชนะทั้งนั้น

แล้วทำไมกล่องคุกกี้ต้องเอาไปใส่เข็มกับด้าย?

อันนี้จริงๆ ถ้าคิดตามจะตอบไม่ยากเลย คือ หลอดด้ายทั้งหมดมันมีทรงกลม ซึ่งก็สอดรับกับทรงกลมของกล่องคุกกี้ที่จะเอามาใส่ของเหลี่ยมๆ ก็คงไม่เหมาะ มันจะเสียพื้นที่ นอกจากนั้น ความสูงของกล่องคุกกี้มันยังพอดีที่จะวางหลอดด้ายแนวตั้งแล้วยังเหลือพื้นที่อีกด้วย

และเหตุผลมันก็น่าจะแค่นี้แหละว่าทำไมผู้หญิงทั่วโลกในยุคหนึ่งถึงเอากล่องคุกกี้สังกะสีกลมๆ มาใส่เข็มกับด้าย

แน่นอนว่าทุกวันนี้ความนิยมแบบนี้มีน้อยลงแล้ว และอาจถูกมองเป็นพฤติกรรมของคนรุ่นแม่’ (หรือกระทั่งคนรุ่นยาย’) ส่วนหนึ่งก็เพราะคนรุ่นใหม่ๆ ไม่นิยมกินคุกกี้แบบนี้ หรือซื้อคุกกี้แบบนี้เป็นของขวัญปีใหม่กันแล้ว และอีกส่วนก็คือไลฟ์สไตล์ของผู้หญิงรุ่นใหม่ คนที่เย็บผ้าเป็นหรือซ่อมเสื้อผ้าเองก็คงมีน้อยลงเรื่อยๆ

แล้วพอการให้คุกกี้เป็นของขวัญและทักษะการเย็บปักถักร้อยของผู้หญิงลดน้อยลงคล้ายๆ กัน ก็ไม่แปลกนักที่การเก็บเข็มกับด้ายในกล่องคุกกี้สังกะสีจะกลายเป็นประวัติศาสตร์ไป

อ้างอิง