รู้ไหม? หม้อหุงข้าวไฟฟ้าไม่ได้เกิดง่ายๆ ส่วนหนึ่งเพราะผู้ชายไม่เคยหุงข้าวเอง
พูดถึง ‘หุงข้าว’ สมัยนี้คงไม่มีใครคิดว่ามันคืองานยากแล้ว ก็แค่ล้างข้าว ใส่น้ำ–เอานิ้วจุ่ม–ปิดฝา–กดปุ่ม ใช่ไหมล่ะ?
แต่คุณรู้ไหมว่านวัตกรรมชิ้นนี้ที่มันทำให้ชีวิตคุณง่ายขึ้นมันกลับไม่ได้ถือกำเนิดขึ้นมาง่ายๆเลย
อย่างแรก เพราะศาสตร์การหุงข้าวเป็นสิ่งซับซ้อน และสอง เหล่าผู้ชายหลังยุคสงครามโลกที่ทำงานในบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าก็ดันไม่เข้าใจความซับซ้อนนั้นซะนี่
นี่จึงเป็นเหตุผลที่กว่าโลกจะได้มี ‘หม้อหุงข้าว’ ใช้กัน ก็เล่นเอาบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าญี่ปุ่น ‘เหงื่อตก’ ไม่ต่างจากแม่บ้านที่ต้องหุงข้าวด้วยฟืนและไฟในครัว
หุงข้าวด้วยฟืนไฟ งาน ‘ยาก’ ของแม่บ้านญี่ปุ่น
กว่าหลายร้อยปี คนญี่ปุ่นหุงข้าวด้วยกรรมวิธีที่ใช้ ‘คามาโดะ’ (Kamado) หรือ เตาไฟดิน ที่ติดตั้งอยู่ที่มุมครัว เคลื่อนย้ายไม่ได้ ที่สำคัญ รสชาติของข้าวขึ้นอยู่กับความร้อนที่ใช้ คนหุงข้าวจึงต้องควบคุมไฟเป็น
แม่บ้านญี่ปุ่นจึงมีกลอนเพื่อช่วยจำว่า “ฮาจิเมะ โคะโระ โคะโระ นากะ ปับปะ บุตสึ บุตสึ อิอุ โคโระ ฮิ โอะ ฮีเตะ” ซึ่งอธิบายขั้นตอนการหุงข้าวว่าเริ่มจากไฟอ่อนๆจากนั้นค่อยๆเพิ่มความร้อนและลดไฟลงอีกหนตอนที่ในหม้อข้าวมีฟองผุดขึ้นมา
ดังนั้น การหุงข้าว ‘ให้อร่อย’ ในยุคนั้นจึงไม่ใช่สิ่งที่ใครๆก็ทำได้ง่ายๆ
ด่านหินของบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้า
หลังช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคสมัยเร่งก่อร่างสร้างตัว บริษัทแรกๆ ที่ลงมือประดิษฐ์หม้อหุงข้าวไฟฟ้าก็คือ ‘Sony’
‘มาซารุ อิบูกะ’ วิศวกรและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท เขาได้ไอเดียจากการที่ในสมัยนั้น พนักงานโซนี่มักได้เงินค่าซ่อมวิทยุตามบ้านเป็นข้าวสาร (สมัยนั้นข้าวสารมีค่าเท่าเงิน) เขาจึงคิดประดิษฐ์มันขึ้นมา แต่ก็ไม่สำเร็จ
“ผมจำได้ว่าตัวเองนั่งอยู่ในบริษัทตัวเองที่ตั้งอยู่บนชั้นสามของห้างชิโรคิยะ (Shirokiya) วันแล้ววันเล่า พยายามหุงข้าวที่สุดท้ายก็กินไม่ได้” อิบูกะย้อนความหลัง
ต้นแบบของหม้อหุงข้าวนี้จึงไม่มีวันได้ออกไปจำหน่าย แต่กลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ความพยายามของโซนี่ไปแทน
หลังจากนั้นก็มีบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าอีกหลายเจ้าที่พยายามประดิษฐ์หม้อหุงข้าวไฟฟ้าขึ้นมาบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่มันก็ยังเป็นหม้อที่ต้องใช้แรงคนเฝ้าอยู่ดี หม้อหุงข้าวอัตโนมัติที่กดปุ่มแล้วไปทำอย่างอื่นต่อได้นั้นคือเรื่องยากเหลือเกิน
แต่แล้วบริษัทหนึ่งก็กลายเป็นแสงสว่างแห่งวงการหุงข้าว
บริษัทนั้นมีสโลแกนที่คุณอาจจะเคยได้ยินตามโฆษณาโทรทัศน์ว่า “นำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต”
ใช่แล้ว ‘โตชิบา’ นั่นเอง
ชีวิตแม่บ้านที่ผู้ชาย (บางคน) ไม่เข้าใจ
ในช่วงต้นทศวรรษ 1950 นาย ‘โชโก ยามาดะ’ (Shogo Yamada) พนักงานขายของบริษัทโตชิบาได้ออกสายเดินทางไปทั่วญี่ปุ่นเพื่อโปรโมตเครื่องซักผ้าไฟฟ้า ในระหว่างทาง นายยามาดะจะคอยถามแม่บ้านทั้งหลายอยู่เสมอ ว่างานบ้านงานไหนที่เป็นเหนื่อยยากและเป็นภาระมากที่สุด
คำตอบของพวกเธอคือหุงข้าววันละสามมื้อ
ยามาดะนำความคิดนั้นส่งต่อให้วิศวกรประจำโตชิบา นาย ‘โยชิทาดะ มินามิ’ (Yoshitada Minami) และด้วยความที่สมัยนั้น งานหุงข้าวคืองานของผู้หญิง นายมินามิจึงให้ ‘ฟูมิโกะ’ ช่วยระดมความคิดในครั้งนี้
จากหนังสือเรื่อง “Building up Steam as Consumers: Women, Rice Cookers and the Consumption of Everyday Household Goods in Japan” ผู้เขียน ‘เฮเลน แมคเนาว์ตัน’ (Helen Macnaughtan) เล่าว่า การประดิษฐ์หม้อหุงข้าวไม่ได้ถูกให้ความสำคัญเลย เพราะหัวหน้าของนายยามาดะเคยเห็นความล้มเหลวของ ‘มิตซูบิชิ’ และ ‘มัตซูชิตะ’ (หรือ ‘พานาโซนิค’ ในปัจจุบัน) ที่พยายามจะประดิษฐ์หม้อหุงข้าวอัตโนมัติมาก่อนแล้ว
อีกอย่างหนึ่งเหล่าท่านชายในโตชิบายังมองด้วยว่าถ้าผู้หญิงไม่สามารถสละเวลาและแรงกายมาหุงข้าวอร่อยๆให้ครอบครัวได้ก็ถือว่าเป็นความล้มเหลวของแม่บ้านคนนั้นเอง
‘มากิโกะ อิโตะ’ (Makiko Itoh) คอลัมนิสต์อาหาร กล่าวเสริมว่า “เหล่าผู้ชายที่มีสิทธิตัดสินแบบนั้น ก็คือผู้ชายที่แทบไม่เคยเข้าครัวเองด้วยซ้ำ”
ครอบครัวมินามิต้องล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่าพวกเขาเฝ้าทดลองหุงข้าวในทุกสภาพภูมิอากาศไม่ว่าจะในบ้านนอกบ้านในช่วงกลางแดดจ้าหรือในช่วงเช้าอันหนาวเหน็บเข้ากระดูกของจังหวัดฮอกไกโด
ท้ายที่สุดพวกเขาก็หม้อหุงข้าวรูปร่างคล้ายๆ กับหม้อหุงข้าวในปัจจุบัน คือมีหม้อเล็กซ้อนด้วยหม้อใหญ่ที่ทำจากเหล็กสามชั้น เคล็ดลับที่ทำให้หม้อนี้หุงข้าวได้สำเร็จ คือ ‘สวิตช์โลหะสองขั้ว’ ที่จะตัดไฟอัตโนมัติเมื่ออุณหภูมิในหม้อเกิน 100 องศาฯ
ความสำเร็จของโตชิบา และชีวิตที่เปลี่ยนไปของแม่บ้าน
แม้ช่วงแรกๆ เหล่าแม่บ้านไม่ค่อยกล้าซื้อหม้อหุงข้าวอัตโนมัติเพราะราคาที่แพง แต่เมื่อเซลส์เจ้าเก่าอย่างนายยามาดะโปรโมตว่า หม้อนี้ไม่เพียงแต่หุงข้าวได้ แต่ยังสามารถทำเมนู ‘ข้าวอบทรงเครื่อง’ (takikomi gohan) ได้ง่ายๆ แบบไม่ต้องกลัวข้าวไหม้ พวกเธอก็ ‘โดนตก’ เข้าเต็มเปา
หม้อหุงข้าวโตชิบาขายดีถล่มทลาย จนบริษัทต้องเร่งผลิตหม้อนี้ขายเดือนละกว่า ‘สองแสน’ เครื่อง
คนญี่ปุ่นก็เริ่มใช้หม้อหุงข้าวอย่างแพร่หลายตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา และในปี 1964 หรือสิบปีหลังจากที่โตชิบาเริ่มขายหม้อหุงข้าว คนญี่ปุ่นกว่า 88 เปอร์เซ็นต์ก็มีหม้อหุงข้าวไฟฟ้าใช้กันในบ้านแล้ว
ประวัติศาสตร์ของหม้อหุงข้าวนั้นมีความคล้ายคลึงกับประวัติศาสตร์เครื่องบดข้าวโพดที่เม็กซิโก
หรือเครื่องทำพาสต้าที่อิตาลี ตรงที่มันทำให้ผู้หญิงจากเดิมวันๆ หนึ่งต้องมานั่งจัดการทำแผ่นตอร์ตีญ่า พาสต้า หรือหุงข้าวให้กับอาหารทุกมื้อ สามารถมีเวลาว่างขึ้นมหาศาล และทำให้พวกเธอสามารถออกจากบ้านไปทำงานอย่างอื่น หรือมีทักษะใหม่ๆ ที่ไม่ต้องจมอยู่กับก้นครัวทั้งวันทั้งคืนอีกต่อไป
นวัตกรรมเปลี่ยนชีวิตมันเป็นแบบนี้นี่เอง
อ้างอิง
- Atlas Obscuru. The Battle to Invent the Automatic Rice Cooker. https://bit.ly/3IggMFs
- The Momentum. หม้อหุงข้าวไฟฟ้า: อีกหนึ่งความคิดสร้างสรรค์ของญี่ปุ่นหลังแพ้สงครามโลก. https://bit.ly/3pliSey