2 Min

อย่าสัญญาแบบไม่ใส่ใจ เพราะมันทำร้ายจิตใจคนที่คุณให้คำสัญญา

2 Min
2848 Views
29 Sep 2022

เชื่อว่าหลายๆคนคงจะเคยให้สัญญากับคนอื่นหรือไม่ก็เคยได้รับคำสัญญามาไม่น้อยกว่าหนึ่งครั้งและเชื่ออีกว่าหลายๆคนคงจะเคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับการไม่ทำตามสัญญาหรือการผิดสัญญากันมาบ้าง ซึ่งเราก็คงจะทำอะไรมากไม่ได้ นอกจากปล่อยให้มันเป็นไปแบบนั้น เพื่อให้ลืมมันไป แต่หารู้ไม่ว่า จริง ๆ แล้วสัญญามันไม่ได้จบแค่ที่ลมปาก แต่เป็นพันธะทางใจด้วย

สัญญา เป็นการให้คำมั่น  เป็นการรับปาก ว่าจะทำตามที่สัญญาเอาไว้ อาจจะเป็นการสัญญาระหว่างเรากับคนอื่น หรือการสัญญาระหว่างตัวเราเองก็ได้ ซึ่งอย่างหลังมักไม่ค่อยมีปัญหาอะไรนัก แต่ที่มีผลต่อใจเรามากก็คือ การสัญญาระหว่างตัวเราและคนอื่น

เมื่อเกิดการสัญญา เราจะเอาใจของเราไปผูกกับสัญญานั้นไม่มากก็น้อย เพราะเราก็มักจะคาดหวังให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปดังเช่นคำสัญญา ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ผิดอะไร เพราะการสัญญามันก็เกิดขึ้นเพราะการนี้ คือ เป็นการรับปากว่าจะทำใหสิ่งที่พูดหรือได้ให้สัญญาไว้ ยิ่งไปกว่านั้นคือ มนุษย์เรามักจะทำการสัญญากับคนที่เราสนิท หรือไว้ใจกันเท่านั้น ดังนั้นเมื่อเกิดการผิดสัญญาขึ้น จึงไม่แปลกที่มันจะส่งผลต่อจิตใจของเราด้วย และยิ่งคู่สัญญาสนิทกับเรามากท่าไหร่ ก็จะทำให้ใจเราเจ็บมากขึ้นเท่านั้น

แต่ถึงอย่างนั้นแล้ว ก็ดูเหมือนว่าหลาย ๆ ความสัมพันธ์ไม่ได้ให้ความสำคัญกับสัญญามากเท่าที่ควร เกิดการสัญญาเพียงเพราะต้องการให้อีกฝ่ายเชื่อใจ ผู้สัญญาไม่ได้เห็นว่าตนจะต้องรับผิดชอบใด ๆ กับคำสัญญาของตน และคิดว่ามันก็เป็นเพียงคำพูดเท่านั้น หรือในบางครั้งการรักษาสัญญาไม่ได้ก็อาจจะไม่ได้เกิดจากความเห็นแก่ตัวเสมอไป แต่อาจเกิดจากการเปลี่ยนใจกะทันหัน ไม่อยากทำในสิ่งที่สัญญาไว้แล้ว หรือไม่ก็อาจเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินที่ทำให้ทำตามสัญญาไม่ได้ อย่างไรก็ตามทุกเหตุผลก็นำไปสู่ผลลัพธ์เดียวกัน คือการผิดสัญญา

การผิดสัญญา ไม่ใช่แค่เหตุการณ์ที่เกิดแล้วจบไป แต่มันทำให้เกิดแผลในใจของผู้ถูกผิดสัญญา ถึงแม้บางคนจะไม่ได้แสดงอาการเศร้าหรือเสียใจให้เห็น ก็ไม่ได้แปลว่าแผลนี้ไม่มีอยู่จริง แผลเล็ก ๆ นี้ มันอาจจะสะสมและกลายเป็นแผลที่ใหญ่ขึ้น และในที่สุดมันจะเกิดเป็นปัญหาสุขภาพจิตตามมา

เมื่อถูกผิดสัญญาบ่อย ๆ จะทำให้ความน่าเชื่อถือของผู้สัญญาลดลง เริ่มหมดความน่าเคารพ และหมดความเชื่อใจต่อกัน ยิ่งไปกว่านั้นคือ จะทำให้ตัวผู้ถูกผิดสัญญาเริ่มไม่มั่นใจตัวเอง โทษตัวเองว่าไม่ดีพอ หรือเกิดปัญญาสุขภาพจิตอย่างการด้อยค่าตัวเอง ซึมเศร้า หรือที่เราเห็นกันในข่าวบ่อย ๆ คือ การพยายามจบชีวิตตัวเอง

แต่ถ้าเราเป็นฝ่ายที่ชอบให้คำสัญญา ขอให้ตระหนักให้ดีก่อนจะสัญญากับใคร ว่าสัญญาไม่ใช่ของเล่น แต่เป็นสิ่งที่อาจจะสำคัญกับชีวิตอีกฝ่ายมาก ๆ ดังนั้นเมื่อจะสัญญากับใคร ควรสัญญาในเรื่องที่เราทำได้จริง ๆ และจริงใจที่จะทำด้วย ไม่ใช่สัญญาไปแบบส่ง ๆ การเปลี่ยนมาสัญญาในสิ่งที่เราทำได้นั้นจะช่วยให้ความสัมพันธ์ต่าง ๆ ในชีวิตของเรามีความสุขมากขึ้น เช่น สัญญาว่าจะช่วยซักผ้าทุกวันหยุดนะ เพราะวันธรรมดาทำงานเหนื่อยมากอาจจะให้ผลดีกว่าการสัญญาว่าฉันจะทำทุกอย่างเพื่อเธอด้วยซ้ำ

อ้างอิง