ทำไมฉันไม่เห็นรู้สึกเจ็บปวดเลย ทำความรู้จักภาววะ CIPA หรือภาวะไม่มีความเจ็บปวดตั้งแต่กำเนิด
ความเจ็บปวดเป็นเหมือนสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์มาโดยตลอด ตอนเด็กๆ ปั่นจักรยานล้มเราก็รู้สึกเจ็บ นิ้วก้อยชนโต๊ะเราก็มีความรู้สึกปวดหรืออุบัติเหตุจะหนักจะเบาที่เกิดขึ้นในชีวิตย่อมทำให้เรามีความรู้สึกเจ็บปวดได้ หลายคนอาจจะรู้สึกว่าความรู้สึกแบบนี้ไม่ดี เป็นความรู้สึกที่แย่ ทำให้ทุกข์ ทรมาณ
แต่เชื่อไหม? มีคนจำนวนหนึ่งบนโลกที่ไม่มีความรู้สึกเหล่านั้นเลย และมันอาจไม่ใช่เรื่องดีสักเท่าไหร่นัก
Congenital insensitivity to pain with anhidrosis (CIPA) หรือ ภาวะไม่มีความเจ็บปวดตั้งแต่กำเนิด เป็นโรคที่สืบทอดมาทางพันธุกรรมและพบได้ยากมากในโลกใบนี้ มองเผินๆ คนที่อยู่ในโรคนี้จะเหมือนมนุษย์ธรรมดาๆ แต่อาการของพวกเขาเหล่านั้นคือจะไม่มีความรู้สึกเจ็บปวดกับการกระทำใดๆ ต่อร่างกายเลย
แล้วสาเหตุของมันเกิดจากอะไร?
ภาวะนี้เกิดจากการกลายพันธ์ของยีนส์ SCN11A ซึ่งเป็นยีนที่ควบคุมการทำงานของโซเดียมไอออนที่ทำหน้าที่รับส่งกระแสประสาทไปสู่สมอง แล้วประมวลผลออกมาเป็นความเจ็บปวด แต่เมื่อมันกลายพันธ์จึงทำให้ไม่รับรู้ถึงความเจ็บปวดนั่นเอง
ซึ่งบนโลกใบนี้จะพบคนเป็นโรคนี้ได้เพียง 34 คนจาก 300 ล้านคน หนึ่งในนั้นคือ ‘ไอแซค บราวน์’
ในเดือนตุลาคมปี 2556 เว็บไซต์เว็บไซต์โอดดิตี้เซ็นทรัล ได้เปิดเผยเรื่องราวของเด็กชายไอแซค บราวน์จากรัฐไอโอวา ประเทศสหรัฐ ที่เกิดมาพร้อมกับโรค CIPA โดยครอบครัวของน้องเผยว่า ตอนที่น้องหล่นจากโต๊ะลงมาศีรษะฟาดพื้น น้องไม่ร้องไห้เลยสักนิด มากไปกว่านั้นไอแซคยังเอามือไปวางบนเตาร้อนๆ โดยไม่มีความรู้สึกร้อนใดๆ และยังเอาเศษแก้วมาเฉือนเนื้อตัวเองเล่นอีกด้วย โดยสิ่งที่น้องกระทำลงไปทั้งหมดนั้น น้องไม่รับรู้ถึงความเจ็บปวดใดๆ เลย
อ่านมาถึงตรงนี้คุณอาจจะรู้สึกว้าว แต่ที่ร่างกายเราตอบสนองกับความรู้สึกเจ็บปวดเพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นเหมือนกลไกการป้องกันตัวเองไม่ให้ร่างกายตัวเองเกิดความเสียหายไปมากกว่าเดิม ถ้าเราเผลอโดนมีดบาดเกิดความเจ็บขึ้นที่นิ้ว เราก็ต้องมีความคิดที่จะทำแผลเพื่อไม่ให้มันเกิดการติดเชื้อ หรือถ้าเราข้อเท้าพลิกปวดที่ข้อเท้า เราก็จะไม่ไปวิ่งหรือเดินเยอะเพื่อให้ข้อเท้าเราเกิดความเจ็บปวดอีก ใช่ไหมล่ะ?
งั้นลองนึกภาพดู ถ้าวันหนึ่งคุณกระโดดลงจากโต๊ะมาให้หัวกระแทกพื้นเพราะมองว่าเป็นความสนุก โดยที่ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นมันทำร้ายร่างกายของคุณเองมากแค่ไหน คงไม่ใช่เรื่องดีเท่าไหร่นัก
ไม่ใช่แค่บาดแผลเล็กๆ น้อยๆ หรือความรู้สึกภายนอกเท่านั้นที่คนอยู่ในสภาวะนี้จะไม่รู้สึก สิ่งนี้รวมไปถึงอวัยวะภายในร่างกายอย่างกระดูก หรือระบบต่างๆ เช่น กระดูกหักก็ไม่มีความรู้สึกเจ็บใดๆ จะรับรู้ได้ก็ต่อเมื่อลักษณะภายนอกเปลี่ยนแปลงไป จึงจะรู้ว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นกับร่างกาย
สำหรับวิธีการรักษายังไม่มีวิธีการรักษาที่แน่ชัด คุณหมอใช้วิธีแนะนำและปรับพฤติกรรมให้แก่คนไข้ว่าการกระทำแบบนี้จะสร้างความเจ็บปวดให้แก่ร่างกาย ผู้ป่วยต้องคอยสังเกตตัวเองว่าการกระทำแบบไหนจะทำให้เกิดบาดแผลหรือสร้างความเสียหายแก่ร่างกาย และต้องคอยระมัดระวังการกระทำเหล่านั้น เช่น ถ้าขยี้ตาจนแรงเกินไปอาจส่งผลกับดวงตาได้ หรือถ้าตกจากที่สูงแรงๆ อาจสร้างความเสียหายแก่กระดูกได้ เป็นต้น
คุณอาจจะรู้สึกตื่นเต้นหรือประหลาดใจกับสภาวะนี้ แต่อย่าลืมว่าผู้ป่วยได้รับผลกระทบและความเจ็บปวดที่เราอาจจะคิดไม่ถึงก็ได้นะ
อ้างอิง
- ไอแซค เด็กชายวัย 5 ขวบ เกิดมาพร้อมภาวะแปลก ไม่เคยรู้สึกเจ็บ https://bit.ly/34Lo2Xl
- Congenital insensitivity to pain https://bit.ly/2SczHf3