2 Min

ทำความรู้จัก Codependency เมื่อ “คุณค่า” ของเราผูกติดอยู่กับใครอีกคน

2 Min
2252 Views
12 Jun 2021

เราจะยังพอใจกับตัวเองอยู่มั้ยถ้าไม่ได้รับคำชมจากคนรอบข้าง เป็นเราหรือเปล่าที่ต้องตามใจอีกฝ่ายตลอดเวลา คุณค่าของเรามาจากภายในหรือจากปัจจัยภายนอกกันแน่

 

ลองสำรวจตัวเองกันว่าเราจะเห็นคุณค่าตัวเองก็ต่อเมื่อได้รับการยอมรับหรือชื่นชมจากคนรอบข้าง เพื่อน หรือแฟนจนลืมตัวตนจริง ๆ หรือเปล่า ลองนึกดูว่ายังจำตัวเองในรูปแบบที่ไม่ต้องเอาใจคนอื่นตลอดเวลาได้ไหม หากคุณมีความรู้สึกเช่นนี้ อาจเป็นสัญญาณเสี่ยงบ่งบอกถึงพฤติกรรมแบบ Codependency 

 

คำว่า Codependency เริ่มใช้ครั้งแรกราวช่วงค.ศ. 1950-1960 โดยกลุ่ม Alcoholics Anonymous ซึ่งเป็นกลุ่มที่คอยฟื้นฟูสภาพจิตใจและอาการของกลุ่มคนที่ติดแอลกอฮอล์และสารเสพติด

 

แต่ในปัจจุบัน ความหมายของคำนี้ครอบคลุมถึงพฤติกรรมที่พึ่งพาอีกฝ่ายหนึ่งมากจนทำให้เกิดการยึดติดตัวตนในความสัมพันธ์ โดยพฤติกรรมดังกล่าวอาจจะมี สาเหตุมาจากประสบการณ์วัยเด็กหรือเริ่มพัฒนาเมื่อเราต้องอยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็นพิษก็ได้ 

 

พฤติกรรมเช่นนี้เกิดขึ้นในความสัมพันธ์หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่กับลูก คู่รัก หรือแม้กระทั่งเจ้านายและลูกน้อง

 

หลายครั้งเรามักไม่รู้ตัวว่าตนเองเข้าข่ายผู้ที่มีบุคลิกแบบ Codependency ซึ่งกลายมาเป็นสาเหตุที่ทำให้แต่ละวันชีวิตขาดความสุข 

 

ลักษณะคร่าว ๆ อย่างเช่น ไม่มั่นใจในตัวเอง พึ่งพาอีกฝ่ายมากเกินไป ต้องการยอมรับจากผู้อื่นเพื่อที่ตัวเองจะได้มีความสุข รวมไปถึงการพยายามตามใจคนรอบข้างตลอดเวลาเพราะกังวลว่าหากทำให้อีกฝ่ายไม่พอใจเพียงนิดเดียวอาจจะโดนทอดทิ้งและตัวเองจะไม่เหลือใครเลย 

 

การผูกติดความรู้สึกของตัวเองกับคนอื่นมากเกินไปเช่นนี้มีผลเสียกับสุขภาพจิตมาก แน่นอนที่สุดคือเราจะไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่เพราะต้องตอบสนองความต้องการของอีกฝ่ายตลอดเวลา 

 

หากตกอยู่ในความสัมพันธ์เช่นนี้เป็นเวลานานอาจจะถึงขั้นที่เราสูญเสีย sense of self หรือการรับรู้ตัวตนของตัวเองได้ กลายเป็นว่าเราจะค่อย ๆ ลืมว่าตัวตนที่แท้จริงของเราเป็นอย่างไรกันแน่เพราะต้องตกภายใต้การควบคุมจิตใจของคนอื่นเป็นเวลานานจนเกินไป

 

วิธีลด-เลิก

  • ปฏิเสธให้เป็น

วิธีแรกคือการเริ่มบอกปัดสิ่งที่เราไม่สะดวกใจที่จะทำพร้อมบอกเหตุผลด้วยความจริงใจ หากอีกฝ่ายเคารพเราจริงย่อมยอมรับการตัดสินใจได้ 

เตือนตัวเองว่าหากเรายอมเอาใจคนอื่นครั้งนี้ ครั้งหน้าก็ต้องทำแบบเดิมอีกไม่จบสิ้น เพราะฉะนั้นลองเริ่มต้นเซย์โนดูสักครั้ง ผลลัพธ์ที่ออกมาน่าสบายใจกว่าที่คิดแน่นอน

  • ค้นหาตัวตน

การอยู่กับร่วมกันทำให้มนุษย์ต้องปรับตัวจนบางครั้งทำให้เราหลงลืมตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง ลองถอยหลังออกมาสักก้าวเพื่อถามตัวเองว่าจริง ๆ แล้วเราชอบหรือไม่ชอบอะไร กล้าเป็นตัวของตัวเองทีละเล็กทีละน้อยโดยไม่ต้องกังวลสายตาคนอื่นมากนักจนเครียดและเสียสุขภาพจิต

  • รักตัวเองให้มาก

แน่นอนว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือการรักตัวเอง การมี self-love (ความรักตัวเอง) และ self-compassion (ความเมตตาต่อตัวเอง) สิ่งที่จะตามมาคือการมองเห็นคุณค่าตัวเองโดยที่ไม่ต้องโหยหาความรักจากผู้อื่น หากวันไหนอีกฝ่ายเดินจากไป ความรักที่มีต่อตัวเองนี่แหละจะช่วยให้เราก้าวผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นมาได้

 

Codependency อาจเป็นนิสัยที่สะสมมานานที่ต้องใช้ความพยายามอย่างมากแต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเลิกไม่ได้เลย นอกจากจะต้องรักตัวเองให้มากแล้ว การพูดคุยปรึกษากับอีกฝ่ายในความสัมพันธ์ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ลองจับเข่าคุยกันดูว่าควรเริ่มแก้ไขจากจุดไหนดีและค่อย ๆ ปรับแก้กันไปทีละเล็กทีละน้อย

 

อ้างอิง: