นี่ใช่ ‘ความเป็นไทย’ แน่เหรอ? สิ่งที่สื่อต่างชาติมองเห็น ‘ไทย’ อาจไม่เหมือนอย่างที่เราคิดกัน
Select Paragraph To Read
- ไทยมี ‘เซ็กส์เสรี’?
- ไทยมี ‘ปัญหายาเสพติด’
- ไทยมี ‘สาวข้ามเพศ’ ที่สวยมาก?
- ไทยมี ‘ช้างเยอะ’?
คนไทย ประเทศไทย
คุณเคยรู้ไหมว่า หากสองคำนี้โผล่ขึ้นมาในหัวของชาวต่างชาติ ภาพแบบไหนที่ถูกวาดขึ้นมาในความคิดของพวกเป็นอันดับแรกๆ?
ประเทศไทยไม่เคยขาดแคลนผู้มาเยือน ไม่ว่าจะในอดีต ที่ ‘ตุรแปง’ (ฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง) มาเยือนอยุธยาพร้อมบันทึก หรือจะในปัจจุบัน ที่เราได้รับการบันทึกว่าเป็นประเทศที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นอันดับ 4 ของโลก และมีคนมาเยือนเกือบ 40 ล้านคนในปี 2561
ผู้มาเยือนอาจจะพกมาเพียงกระเป๋าเดินทางในขาไป แต่ในขากลับ พวกเขาย่อมนำเรื่องราวและความทรงจำกลับไปด้วย ก่อให้เกิด ‘ภาพจำ’ หรือเรื่องเล่าเกี่ยวกับประเทศไทยหรือคนไทย ที่หมุนวนเดินทางไปรอบโลก
สิ่งหนึ่งที่สะท้อนความคิดของชาวต่างชาติเกี่ยวกับคนไทยได้ดีไม่แพ้ปากเล่าคือ ‘สื่อ’ เพราะไม่ว่าจะในภาพยนตร์ฮอลลีวูด เอเชีย หรือแม้กระทั่งในอนิเมชั่นญี่ปุ่น ความ ‘ไทย’ ก็เคยไปปรากฏอยู่มาแล้ว จะถูกต้องแค่ไหน หรือจะถูกใจหรือไม่ เราอาจต้องให้เจ้าบ้านอย่างคุณช่วยบอกอีกที
ไทยมี ‘เซ็กส์เสรี’?
ในประเทศไทย อาชีพ ‘โสเภณี’ เป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่ในขณะเดียวกัน ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาพสาวไทยที่สวยน่าค้นหา (exotic) และอยู่ในฐานะเพื่อนปรนเปรอความสุขด้าน ‘เซ็กส์’ กลับปรากฏอยู่ในเรื่องเล่าของต่างชาติอยู่หลายครั้งหลายหน
“เขาว่ากันว่าประเทศไทยมีโสเภณีเยอะไม่ใช่เหรอ”
นี่คือคำถามจากปากของคนประเทศคิวบาคนหนึ่งที่ได้พูดคุยกับคุณ ‘ฟาโรส’ กับเพื่อนของเธอในรายการ ‘ไกลบ้าน’ ตอนที่ 21 ที่ทุกอย่างเริ่มต้นด้วยการท่องเที่ยวและเรียนรู้วัฒนธรรม ก่อนที่แขกรับเชิญ (ที่มาแบบไม่ได้ตั้งใจ) จะปรากฏตัวพร้อมด้วยคำถามและเรื่องเล่าที่วาดภาพว่าประเทศไทยนั้น ‘อีโรติก’ เมื่อชาวคิวบาถูกถามว่าได้ความคิดแบบนี้มาจากไหน เขาตอบว่า อินเทอร์เน็ต กับ สารคดี
นั่นเป็น ‘ภาพจริง’ ในสื่อสารคดีที่คนไทยไปพบเจอมากับตัว แต่แม้กระทั่งใน ‘ภาพแต่ง’ ของสื่อบันเทิงต่างชาติ หลายครั้งทีเดียวที่ประเทศไทยหรือสาวไทยถูกวางให้มีบทบาทในเรื่องเพศหรือการค้าบริการ
ไม่ว่าจะในภาพยนตร์เรื่อง Only God Forgives ที่ หญิง รฐา หรือ ญาญ่าญิ๋ง รับบทเป็น ‘ใหม่’ นักร้องคาราโอเกะและคู่นอนของพระเอก ทั้งยังมีฉาก ‘สาวงามในตู้กระจก’ ปรากฏอยู่ด้วย ในหนังเรื่อง Bridget Jones’s Diary: The Edge of Reason ตัวละครหญิงไทยมักมาในรูปแบบสาวเซ็กซี่ มีอาชีพปรนเปรอ พูดน้อยคำ และหนึ่งในประโยคที่พวกเธอพูดคือคำว่า “You ordered me” หรือ “คุณสั่งซื้อฉันมา” แม้กระทั่งในเกม Grand Theft Auto IV ก็ยังมีตัวละครหญิงที่ขึ้นเครดิตในเกมว่าเป็น โสเภณีไทย (Thai prostitute)
เป็นไปได้ว่าผู้เล่าเรื่องราวเหล่านั้น อาจจะไม่รู้ข่าวว่าตำรวจไทยไปตรวจตราพัทยามาแล้วและไม่พบโสเภณีสักคน
ไทยมี ‘ปัญหายาเสพติด’
ประเทศไทยมีพื้นที่เชื่อมต่อกับดินแดน ‘สามเหลี่ยมทองคำ’ ที่สื่อหลายแห่งระบุว่าเป็นแหล่งค้าและผลิตยาเสพติดของโลก ทำให้บ่อยครั้งทีเดียว ที่ประเทศไทยจะไปปรากฏในสื่อต่างชาติในฐานะ ‘บ้านใหญ่’ ของยาเสพติด
ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ฝั่งเอเชียเรื่อง Infernal Affair ที่คำว่า ‘ไทย’ ถูกเอ่ยออกมาในฐานะผู้ค้ายาเสพติดให้แก๊งค้ายาในฮ่องกง หรือในหนังฝั่งฮอลลีวูด American Gangster ที่ตัวละครเปรียบกรุงเทพฯ ไม่ต่างจาก ‘ป่า’ แวดล้อมด้วยภาพบาร์อะโกโก การเสพเฮโรอีน และพ่อค้ายาชาวไทย
ความหาง่ายของยาเสพติดยังปรากฏในเรื่อง Hangover II, A Prayer Before Dawn หรือ The Beach ที่ตัวละครล้วนแต่ติดปมปัญหายาเสพติดในประเทศไทยทั้งสิ้น หรือในการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง CMB กับ Japonica ก็เล่าเรื่องที่ชาวญี่ปุ่นมาเมามันกับยาเสพติดในไทย
ไทยมี ‘สาวข้ามเพศ’ ที่สวยมาก?
มีสื่อต่างชาติจำนวนไม่น้อยทีเดียว ที่มักวาดภาพหรือเล่นมุกตลกว่า สาวไทยคนสวยที่เห็นตรงหน้า เห็นกันคืนนั้น หรือเห็นหลังจากหลับนอนด้วยกันมาแล้ว อาจไม่ได้เป็น ‘สาว’ โดยสภาพกำเนิด
ในหนังจีนเรื่อง Lost in Thailand มีฉากที่ตัวละครหลักชายสองคนอยู่ในลิฟต์ พวกเขาเจอสาวสวยคนหนึ่งที่เข้ามา และสนทนากันลับหลังสาวสวยคนนั้นพลางคาดเดาว่าเธอจะเป็น ‘lady boy’ หรือไม่ ตัวละคร Xu Lang พูดกับ Wang Bao ว่า “นี่ ฟังนะ ในประเทศไทย สาวสวยทุกคนที่นายเห็นเป็นกะเทย”
ความสวยจนแยกไม่ออกที่กลายมาเป็นเครื่องมือในการสร้างมุกขำขัน ก็ปรากฏซ้ำอีกครั้งในหนังเรื่อง Hangover II ที่ตัวละคร Stu ตกใจเมื่อค้นพบว่าสาวเซ็กซี่ผิวแทนที่เขาเคยหลับนอนด้วยและนั่งอยู่ตรงหน้าเขามีอวัยวะเพศชาย กระทั่งตัวละคร Alan ยังพูดออกมาว่า “ผมไม่เข้าใจ นี่เล่นกลโชว์หรือเปล่า”
กระนั้น แม้ใน Lost in Thailand กับ Hangover II จะเอ่ยถึงความ ‘สวยจนแยกไม่ออก’ ในฐานะเครื่องมือสร้างมุกขบขัน แต่ก็ยังมีภาพยนตร์อื่นๆ เช่นเรื่อง 30 Degrees in February หรือเรื่อง A Prayer Before Dawn ที่ขับเน้นเรื่องความงามของสาวข้ามเพศในไทยในแง่มุมโรแมนติก
ภาพจำเรื่องสาวข้ามเพศของประเทศไทย ยังไปปรากฏในการ์ตูนญี่ปุ่น เช่นเรื่อง Back Street Girls หรือ Umareru Seibetsu wo Machigaeta! อีกด้วย
ไทยมี ‘ช้างเยอะ’?
ประโยค “ช้างกูอยู่ไหน” ที่ถูกลั่นออกมาโดย จา พนม ในหนังไทยเรื่อง ต้มยำกุ้ง ได้ช่วยส่งเสริมภาพจำที่ว่าคนไทยผูกพันกับช้างออกไปอย่างกว้างขวางทีเดียว มากถึงขนาดที่ว่า คนไทยที่ได้ไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศอาจจะเคยได้ยินคำถามในเชิงว่า คนไทยยังขี่ช้างไปไหนมาไหนกันอยู่ใช่ไหม
ภาพคนไทยขี่ช้างที่ว่านี้ไปปรากฏอยู่ในหนังเรื่อง Hangover II ตอนต้นๆ ที่ตัวละครเดินอยู่ในซอยพลุกพล่าน และข้างหลังก็ปรากฏภาพ ‘คนขี่ช้าง’ แม้สถานที่นั้นจะเป็นซอยในกรุงเทพฯ ก็ตาม รวมถึงในหนังเรื่อง The Elephant King ก็โยงความไทยเข้ากับช้าง กรอบความคิดที่ว่า มีไทย = มีช้าง ยังลามไปถึงการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง Reborn ที่ปรากฏร่าง ‘พระอาจารย์แปร๋นแปร๋น’ สอนมวยไทยใส่หมวกรูปหูช้าง
แม้อาจจะดูเป็นการเหมารวม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ช้าง’ นั้นเป็นจุดขายในเชิงการท่องเที่ยวประเทศไทยจริงๆ ส่วนภาพความคิดที่ว่าคนไทยยังขี่ช้างไปไหนมาไหน คงต้องให้ชาวต่างชาติมาเห็นด้วยตาตัวเองว่ามันไม่ถึงขนาดนั้น
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นภาพปรากฏซ้ำเรื่อง ‘ไทยๆ’ ผ่านเลนส์ของชาวต่างชาติ เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในโลกนี้ ประเทศไทยย่อมมีด้านอื่นๆ ที่น่าจดจำอีกมากที่รอการค้นพบจากผู้มาเยือน ภาพยนตร์เพียงไม่กี่เรื่อง สื่อเพียงไม่กี่อย่าง ย่อมไม่สามารถทำหน้าที่ไกด์ที่สมบูรณ์แบบให้ ‘ไทยแลนด์’ ได้อย่างแท้จริง
ภาพจำเหล่าจากสื่อเหล่านี้จะจริงแค่ไหน คนอยู่ไทยหรือเยือนไทยจริงๆ เท่านั้นที่รู้
แคมเปญ #โคตรไทย จาก BrandThink และ Thai PBS ชวนคุณถอดรหัส ค้นหาและเข้าใจใน ‘ความเป็นไทย’ ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายและอาจไม่ได้มีแต่ในตำรา ย้อนกลับไปเข้าใจเรื่องราวของ ‘เรา’ ตั้งแต่ก่อนคำว่า ‘ไทย’ จะถือกำเนิด เพื่อตอบคำถามโลกแตกว่าสุดท้ายแล้ว ‘ไทยแท้’ มีจริงไหม?
สำรวจ ‘ความเป็นไทย’ จากจุดเริ่มต้น จากมนุษย์โบราณอายุหมื่นปี จากถ้อยคำและภาษามากมาย จากชาติพันธุ์ที่หลากหลาย จากเม็ดเลือดในร่างกาย และเข้าใจเรื่องราวการเดินทางว่าเรา ‘เป็นไทย’ อย่างในทุกวันนี้ได้อย่างไร ผ่านการรวบรวมข้อมูลทางวิชาการ หลักฐานทางโบราณคดี จากสารคดี ไทยพีบีเอส ‘เธอ เขา เรา ใคร สำรวจคนไทยในแผ่นดิน’ ให้เข้าใจใน 10 นาที มาร่วมเดินทางไปกับเราได้ที่ : www.thaipbs.or.th/CodeThai
เข้าใจ ‘ความเป็นไทย’ ในมิติทางสังคมกันให้มากยิ่งขึ้น จากการตั้งคำถาม มุมมอง ความคิดเห็น ข้อมูลที่แตกต่าง หลากหลาย ของผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ บุคคลที่น่าสนใจ ที่ https://thinkster.brandthink.me/campaign/code-thai
อ้างอิง
- The Matter. Thailand in Foreigners’ Aspect ต่างชาติมองไทยอย่างไรผ่านสื่อบันเทิง. https://bit.ly/3tEnqQS
- The Standard. ไทยกวาดรายได้ท่องเที่ยวอันดับ 4 ของโลก เชื่อปีนี้โตอีก 10% นักท่องเที่ยวจีน–อาเซียนยังเป็นตลาดหลัก. https://bit.ly/3nEff3q
- Saranphon Poltecha. STEREOTYPICAL DEPICTION OF THAI WOMEN IN HOLLYWOOD FILMS. https://bit.ly/3Kjubh7
- Khoasod. โล่งอกไปที! ตำรวจลุยตรวจ วอล์กกิ้งสตรีท พัทยา ไม่พบคนขายบริการ–ยาเสพติด. https://bit.ly/3FIgB36