ความเป็นไทยคือ ‘อินเนอร์’ หรือเป็นสิ่งที่เราถูกปลูกฝังให้เชื่อต่อกันมา?
ถ้าพูดถึงความเป็นไทย คุณนึกถึงอะไร และ #นิยามความเป็นไทย ที่ผุดขึ้นมาในหัวตั้งแต่แรกเห็นคำนี้ประกอบด้วยอะไรบ้าง ถ้าเกิดเป็นคนไทยแล้วจะมีความเป็นไทยในตัว 100 เปอร์เซ็นต์เลยไหม?
เชื่อว่าหลายคนมีคำตอบที่แตกต่างหลากหลาย เพราะ ‘ความเป็นไทย’ ก็มีวิวัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไปหลายยุค แม้แต่การเกิดมาในประเทศไทยก็ไม่ได้ทำให้คนทุกคนที่เกิดในแผ่นดินนี้รู้สึกถึงความเป็นไทยได้เองโดยอัตโนมัติ แต่ต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้และเลือกอัตลักษณ์ของตัวเองในตอนที่โตขึ้นจนถึงขั้นรู้ความกันแล้ว ‘ความเป็นไทย’ จึงไม่ไช่ ‘อินเนอร์’ แน่ๆ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะมีความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างถูกต้องตรงกันในทุกๆ ด้าน
นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ หลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมายบ่งชี้ว่าคนไทยในปัจจุบันมีรากเหง้าจากเชื้อชาติเผ่าพันธุ์มากมายที่เคลื่อนย้ายเลื่อนไหลในเอเชียตะวันออกมานานหลายร้อยปี ทำให้สายเลือดที่ประกอบสร้างขึ้นเป็นคนไทยในทุกวันนี้ไม่ได้มาจากแค่เชื้อชาติเดียว ด้วยเหตุนี้รัฐจึงต้องกำหนด ‘ความเป็นไทย’ ที่เป็น ‘ค่ามาตรฐาน’ ของสังคมขึ้นมา
แต่ความเป็นไทยที่ถูกกำหนดโดย ‘รัฐ’ กับสิ่งที่คนทั่วไปเชื่อหรือยึดมั่นไม่ได้เหมือนกันเสมอไป
วิวัฒนาการ ‘ความเป็นไทย’ ในยุคสร้างชาติ
เรารู้กันดีว่ากว่าจะเป็นประเทศไทยในปัจจุบัน ดินแดนแห่งนี้เคยถูกเรียกว่า ‘สยาม’ มาก่อน และถ้าย้อนไปไกลกว่านั้นก็มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์บ่งชี้ว่า อาณาจักรยุคโบราณในบริเวณนี้ไม่ได้รวมกันเป็นหนึ่งเดียวแบบปึกแผ่นแน่นหนา แต่มีทั้งการต่อสู้ทำสงครามและกวาดต้อนผู้คนมาเป็นเชลยสร้างบ้านแปงเมืองกันมานานหลายร้อยปี ผู้ที่เรียกตัวเองว่าคนไทยในยุคนี้จึงอาจสืบเชื้อสายมาจากคนมอญ คนขแมร์ ลาว จาม มลายู รวมถึงเชื้อชาติอื่นๆ ที่อพยพย้ายถิ่นฐานจากที่อื่นมาตั้งรกรากในยุคต้นๆ ของอาณาจักรรัตนโกสินทร์สมัยที่ยังเรียกตัวเองในนาม ‘สยามประเทศ’
จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 สยามได้เปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งถูกชาติตะวันตกมองว่า ‘ล้าหลัง’ มาเป็นประชาธิปไตยในช่วงสั้นๆ และเปลี่ยนชื่อจาก ‘สยาม’ มาเป็น ‘ประเทศไทย’ อย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2482 ก่อนจะเผชิญกับการรัฐประหารใน พ.ศ. 2500 ทำให้ไทยตกอยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหารต่อมาอีกราว 2 ทศวรรษ และในยุคเผด็จการทหารนี้เองที่มีการประกอบสร้าง ‘ความเป็นไทย’ ขึ้นมาโน้มน้าวจิตใจผู้คนในประเทศกันอย่างเข้มข้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าความเป็นไทยนั้นมี ‘การเมือง’ เป็นสารตั้งต้น
บริบทแวดล้อมที่สำคัญคือ ตอนนั้นเป็นยุคของรัฐบาล จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งรัฐประหารยึดอำนาจมาจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม อีกที ตามด้วยยุค จอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยเพิ่งเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ได้ไม่นาน ต้องตกอยู่ท่ามกลางแรงกดดันของชาติตะวันตกที่กำลังทำสงครามเย็นกันอยู่ โดยสหรัฐอเมริกาหนุนหลังประเทศประชาธิปไตย และสหภาพโซเวียตคอยสนับสนุนฝั่งคอมมิวนิสต์ ขณะที่อิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็มีผลต่อกลุ่มคนจำนวนหนึ่งซึ่งต้องการเปลี่ยนประเทศไทยไปจากระบอบเผด็จการที่เป็นอยู่เช่นกัน
รัฐบาลในยุคนั้นจึงรณรงค์อย่างหนักให้ประชาชนมีสำนึกของ ‘ความเป็นไทย’ แม้แต่ลูกหลานคนจีนที่มาตั้งรกรากในไทยก็ยังต้องปลุกความเป็นไทยในตัวเองขึ้นมา โดยรัฐให้คำนิยามว่าคนไทยจะต้องเคารพและยึดมั่นใน 3 สถาบันที่เป็นเสาหลักของประเทศ คือ ‘ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์’ ส่วนผู้ที่ไม่เคารพใน 3 เสาหลักถือเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของชาติ
การปลูกฝัง ‘ความเป็นไทย’ ในแบบที่เน้นย้ำว่าผู้ที่เห็นต่างจากนโยบายรัฐยุคนั้นคือ ‘คนอื่น’ เช่น เป็นญวน เป็นแกว เป็นลาว เป็นอั้งยี่ เป็นคอมมิวนิสต์ นำไปสู่การกวาดล้างคนจำนวนมาก ทั้งยังทำให้ผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจรัฐถูกผลักไปอยู่ฝ่ายตรงข้าม ซึ่งประวัติศาสตร์บาดแผลในยุคนี้ถูกบันทึกไว้ว่า ประชาชนจำนวนมากที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองต้องเสียชีวิตเพราะถูกเจ้าหน้าที่รัฐปราบปรามด้วยอาวุธจริงทั้งช่วงก่อนและหลังเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516-2519 โดยที่บรรยากาศอันกดดันเหล่านี้มีผลอย่างมากต่อการรับรู้เรื่อง ‘ชาติไทย’ และ ‘ความเป็นไทย’ ของผู้คนในห้วงเวลานั้นและในยุคต่อๆ มา
ยุครีแบรนด์การท่องเที่ยว ‘ความเป็นไทย’ คือจุดขายทางวัฒนธรรม
หลังจากเหตุการณ์เดือนตุลาคม ประเทศไทยเผชิญการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองอีกหลายครั้ง จากยุคที่ถูกเรียกว่า ‘ประชาธิปไตยครึ่งใบ’ ไปจนถึง ‘ยุคประชาธิปไตยเต็มใบ’ หลังจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ก่อนจะถูกดึงกลับไปสู่ยุครัฐบาลทหารในช่วงสั้นๆ หลังรัฐประหารในปี 2549 และเข้าสู่ยุคระบอบพันทาง (Hybrid regime) ตามการนิยามของนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ต่างชาติหลังจากการยึดอำนาจรัฐบาลเลือกตั้งเมื่อปี 2557
ในยุคที่หัวหน้าคณะรัฐประหารกลายมาเป็นผู้นำรัฐบาล (และยังสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน) เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ ‘ความเป็นไทย’ ซึ่งเคยถูกปลูกฝังโดยยึดโยงกับความเป็นชาติและความมั่นคงในอดีต ถูกนำกลับมารีแบรนด์ (rebrand) หรือปรับวิธีคิดใหม่ให้สะท้อนความหลากหลายขององค์ประกอบภายในชาติยิ่งกว่าเดิม และดูเหมือนจะพูดถึง ‘คนเล็กคนน้อย’ ในเชิงอัตลักษณ์ท้องถิ่นมากขึ้น
หลักฐานบ่งชี้คือแคมเปญรณรงค์การท่องเที่ยว ‘วิถีไทย’ ซึ่งชูจุดขายด้าน ‘ความเป็นไทย’ ที่รอให้ชาวต่างชาติมาค้นหา ถูกประกาศออกมาในปี 2558 โดยใช้ชื่อแคมเปญภาษาอังกฤษว่า ‘2015 Discover Thainess’ ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ผนึกกำลังกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้คำนิยามว่า ‘วิถีไทย’ คือการนำเสนอ ‘ความเป็นไทย’ ในมิติทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย โดยขยายไปสู่ความเป็นอยู่ของผู้คนในแต่ละภูมิภาคที่แตกต่างจากความเป็นไทยแบบประเพณีนิยมส่วนกลางที่มักจะยึดเอา ‘วัฒนธรรมภาคกลาง’ เป็นค่ามาตรฐาน ซึ่งเป้าหมายหลักของแคมเปญนี้ก็คือการดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติกระจายไปเที่ยวในจังหวัดอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่แค่การกระจุกตัวอยู่ในเมืองท่องเที่ยวหลักๆ อย่างที่เคยเป็นมาตลอด
อีกเหตุผลที่ทำให้ ‘ความเป็นไทย’ ต้องปรับตัวในยุคนี้ น่าจะเป็นเพราะหลังรัฐประหาร 2557 ไทยถูกหลายชาติลดระดับความร่วมมือและความสัมพันธ์ในบางด้าน การรณรงค์เกี่ยวกับภาพลักษณ์ของประเทศจึงต้องเน้นย้ำจุดแข็งด้านวัฒนธรรมต่างๆ เพื่อให้พ้นไปจากการถูกเพ่งเล็งเรื่องการเมืองและการปกครอง เห็นได้จากการที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ในสมัยนั้นย้ำว่า ‘วิถีไทยและความเป็นไทย’ ก็คือ “ภาพลักษณ์ด้านบวก ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ความรัก ความสามัคคี ความปลอดภัย และมิตรไมตรีของคนไทย โดยเฉพาะความสุข ความรื่นเริง และความเป็นอยู่แบบไทยที่พบเห็นได้ทุกถิ่นทั่วไทย”
ความเป็นไทยในปีนั้น (และปีต่อๆ มา) จึงเปิดพื้นที่ให้ผู้คนและวัฒนธรรมกลุ่มย่อยมากขึ้น ประเพณีท้องถิ่นในจังหวัดต่างๆ ถูกขับเน้นให้ชัดเจนยิ่งกว่าเดิม เพื่อสะท้อนความหลากหลายที่แตกต่างจากภาพจำความเป็นไทยที่ถูกยึดโยงกับวัดวาอารามและพระราชวังหลวงที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งมักถูกยกให้เป็น ‘ตัวแทนความเป็นไทย’ ในยุคก่อนหน้า
นอกจากนี้ยังมีการตีความใหม่ว่า ‘ความเป็นไทย’ ก็ต้องปรับตัวเข้ากับโลกยุคมิลเลนเนียลส์เช่นกัน ซึ่งตัวอย่างแบบป๊อปๆ ที่เห็นได้ชัดในปีนั้นคือ ‘ชุดประจำชาติไทย’ ในเวทีการประกวดนางงามโลก ‘มิสยูนิเวิร์ส 2018’ มีการเปลี่ยนจากชุดไทยประยุกต์ที่มักจะมีสไบและผ้าไทยเป็นพื้นฐาน ให้กลายเป็นชุด ‘รถตุ๊กตุ๊ก’ ซึ่งเรียกเสียงฮือฮากันไปทั่วโลก และเสียงวิจารณ์ในตอนแรกๆ ที่เปิดตัวก็เงียบกริบเมื่อชุดดังกล่าวคว้ารางวัลชุดประจำชาติยอดเยี่ยมในปีนั้นมาครอง และเป็นหมุดหมายหนึ่งที่นิยามความเป็นไทยซึ่งจะถูกส่งออกไปสื่อสารกับชาวโลกมีความ ‘ร่วมสมัย’ มากขึ้น เพราะมีการนำสิ่งที่อยู่ในวิถีชีวิตประจำวันจริงๆ ของผู้คนในประเทศมาเป็นส่วนหนึ่งของ ‘ความเป็นไทย’
หลังจากนั้นมา ถ้าไม่นับ ‘สัญชาติไทย’ และ ‘เชื้อชาติไทย’ ที่ระบุในเอกสารราชการ การพูดถึง ‘ความเป็นไทย’ กับคนรุ่นใหม่ก็กลายเป็นความท้าทายมาโดยตลอด เพราะถ้าไปถามความเห็นคนที่เป็นวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ตอนต้นในโลกยุคศตวรรษที่ 21 จะเห็นว่าคนรุ่นนี้พร้อมที่จะแสดงความเห็นกับทุกเรื่องลงในสื่อโซเชียล และมีหลายครั้งที่คนรุ่นนี้ถกเถียงกับคนต่างยุคเพราะไม่ได้มอง ‘ความเป็นไทย’ ในบริบทเดียวกับพ่อแม่ปู่ย่าตายายและผู้มีอำนาจรัฐในปัจจุบัน
การปลูกฝังหรือพยายามรณรงค์ ‘ความเป็นไทย’ ในรูปแบบเดิมที่ตายตัวจึงไม่ใช่สิ่งที่คนในยุคดิจิทัลพร้อมจะยอมรับโดยไม่ตั้งคำถาม เพราะยุคที่ข้อมูลข่าวสารเชื่อมโยงโลกทั้งโลกไว้ด้วยกัน ปรากฏว่าคนจำนวนมากเลือกที่จะนิยามตัวเองเป็น ‘พลเมืองโลก’ (Global Citizen) มากขึ้น และหลายครั้งคนเหล่านี้ก็ไม่ได้เลือก ‘ความเป็นไทย’ แต่เลือกที่จะโอบรับแนวคิดหรือค่านิยมสากลซึ่งยึดโยงกับคนในประเทศอื่นๆ อีกซีกโลกหนึ่งแทน
แคมเปญ #โคตรไทย จาก BrandThink และ Thai PBS ชวนคุณถอดรหัส ค้นหาและเข้าใจใน ‘ความเป็นไทย’ ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายและอาจไม่ได้มีแต่ในตำรา ย้อนกลับไปเข้าใจเรื่องราวของ ‘เรา’ ตั้งแต่ก่อนคำว่า ‘ไทย’ จะถือกำเนิด เพื่อตอบคำถามโลกแตกว่าสุดท้ายแล้ว ‘ไทยแท้’ มีจริงไหม?
สำรวจ ‘ความเป็นไทย’ จากจุดเริ่มต้น จากมนุษย์โบราณอายุหมื่นปี จากถ้อยคำและภาษามากมาย จากชาติพันธุ์ที่หลากหลาย จากเม็ดเลือดในร่างกาย และเข้าใจเรื่องราวการเดินทางว่าเรา ‘เป็นไทย’ อย่างในทุกวันนี้ได้อย่างไร ผ่านการรวบรวมข้อมูลทางวิชาการ หลักฐานทางโบราณคดี จากสารคดี ไทยพีบีเอส ‘เธอ เขา เรา ใคร สำรวจคนไทยในแผ่นดิน’ ให้เข้าใจใน 10 นาที มาร่วมเดินทางไปกับเราได้ที่ www.thaipbs.or.th/CodeThai
เข้าใจ ‘ความเป็นไทย’ ในมิติทางสังคมกันให้มากยิ่งขึ้น จากการตั้งคำถาม มุมมอง ความคิดเห็น ข้อมูลที่แตกต่าง หลากหลาย ของผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ บุคคลที่น่าสนใจ ที่ https://thinkster.brandthink.me/campaign/code-thai
อ้างอิง
- BBC Thai. นักประวัติศาสตร์ไขปริศนานายกฯ “ชาติไทยมีมาเกือบ 1,000 ปี. https://bbc.in/3fHMZbC
- Cambridge University Press. Being Thai: A Narrow Identity in a Wide World. https://bit.ly/3FEldHL
- Coconut Thailand. Miss Universe Thailand walks proudly in ‘Tuk Tuk dress. https://bit.ly/3GO07I9
- ETA Journal. วิถีไทย ทุนทางสังคมและวัฒนธรรม. https://bit.ly/3nHdKBt