4 Min

เราเป็นใคร คนไทยมาจากไหน การตรวจ DNA สามารถบอกได้

4 Min
2068 Views
26 Jul 2022

เราเป็นใครมาจากไหน?

ถ้าหากถามกันโดยทั่วไปเราคงสามารถย้อนรอยต้นตระกูลกันได้อย่างมากก็ราว 4-5 รุ่น การจะย้อนรอยสายเลือดที่ไกลกว่านั้นอาจเป็นเรื่องที่ตอบได้ยากเพราะไม่มีหลักฐานแน่ชัด เพราะมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่อพยพเคลื่อนย้ายอยู่เสมอ เราเดินทางข้ามพื้นที่และดินแดนมากมาย เพราะฉะนั้นในร่างกายของเราอาจไม่ได้มีเพียงเชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่ง แต่ถ้าหากเราอยากรู้ว่าเราเป็นใครเราสามารถสืบได้จากเลือดในตัวของเราเอง

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หลายคนน่าจะเคยเห็นเทรนด์การตรวจดีเอ็นเอหาเชื้อชาติของตนเองกันมากขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีทุกวันนี้ทำให้การศึกษาดีเอ็นเอเพื่อหาชาติกำเนิดของตัวเองนั้นเป็นเรื่องที่ง่ายดาย เพียงแค่ส่งตัวอย่างดีเอ็นเอไปที่ห้องทดลองที่น่าเชื่อถือ ก็สามารถรู้เชื้อชาติของตนเองได้ว่าเราเป็นใครมาจากไหน

ก่อนอื่นคงต้องพูดถึงกันก่อนว่าดีเอ็นเอ’ (DNA) คืออะไรและมีความสำคัญอย่างไรกับการระบุอัตลักษณ์และตัวตนของเรา

ดีเอ็นเอเป็นสารพันธุกรรมที่มีอยู่ในสิ่งมีชีวิตทั้งคน สัตว์ และพืช ซึ่งหากเรายังจำวิชาวิทยาศาสตร์ตอนมัธยมกันได้ หน้าตาของมันจะเป็นเกลียวคล้ายกับบันไดวน ดีเอ็นเอของมนุษย์มีอยู่ 2 ที่ด้วยกันคือ นิวเคลียร์ดีเอ็นเอ (nDNA) และไมโทคอนเดรียดีเอ็นเอ (mtDNA)

นิวเคลียร์ดีเอ็นเอมีความยาวมากถึง 3,000 ล้านเบสแต่ใน 1 เซลล์มีจำนวนชุดดีเอ็นเอแค่ 2 จำนวนเท่านั้น ส่วนไมโทคอนเดรียดีเอ็นเอที่เป็นส่วนให้พลังงานของเซลล์ มีลักษณะเป็นวงสั้นๆ ที่มีความยาวเพียง 1,600 เบส แต่มีจำนวนชุดดีเอ็นเอ 100-1,000 จำนวน ซึ่งมากกว่าดีเอ็นเอในนิวเคลียสถึง 10 เท่า

การตรวจดีเอ็นเอด้วยไมโทคอนเดรียเป็นอีกหนึ่งวิธีการตรวจหาเชื้อชาติที่ได้ความนิยมอย่างแพร่หลาย เนื่องจากไมโทคอนเดรียดีเอ็นเอไม่มีการรวมกลุ่มของยีนใหม่ (recombination) มีความหลากหลายสูง และมีการสะสมของการเกิดการกลายพันธุ์ (mutation) หรือความแปรผันของลำดับเบส (mutation rate) มากกว่า

อธิบายแบบง่ายๆ ก็คือ แม้ในอดีตมนุษย์มีการอพยพและสืบพันธุ์กันระหว่างเชื้อชาติกันตามหลักฐานประวัติศาสตร์ต่างๆ ที่พบ ไม่ว่าบรรพบุรุษของคนคนหนึ่งจะมีกี่เชื้อชาติก็ตาม ทุกอย่างจะถูกเก็บไว้ในไมโทคอนเดรียดีเอ็นเอไปเรื่อยๆ ซึ่งนั่นก็คือข้อมูลของดีเอ็นเอที่ต้องนำไปคำนวณทางสถิติและถอดรหัสกันต่อไป

นอกจากนี้ การตรวจดีเอ็นเอด้วยไมโทคอนเดรียจะมีจำนวนที่มากแล้ว ยังมีข้อดีในเรื่องการทนต่อการเสื่อมสภาพ ไมโทคอนเดรียดีเอ็นเอสามารถอยู่รอดได้นานมาก ซากโครงกระดูกโบราณอายุ 50-100 ปีก็สามารถตรวจหาดีเอ็นเอได้ ตัวอย่างการใช้ไมโทครอนเดรียในการระบุตัวตนที่มีชื่อเสียงได้แก่ การระบุตัวตนศพและโครงกระดูกของราชวงศ์โรมานอฟ

อย่างไรก็ตาม การใช้ไมโทคอนเดรียก็มีข้อเสียด้วยเช่นกัน นั่นคือมันมีลักษณะเหมือนกัน เช่น พี่น้องแม่เดียวกันก็จะมีไมโทคอนเดรียดีเอ็นเอที่เหมือนกัน มันจึงสามารถแสดงความสัมพันธ์ทางสายเลือดได้อย่างเดียวเท่านั้น ไม่สามารถระบุตัวตนได้ว่าเป็นใคร แต่เท่านั้นก็เป็นข้อมูลที่เพียงพอสำหรับการสืบหาเชื้อชาติของบรรพบุรุษ

หลังจากที่เราส่งตัวอย่างดีเอ็นเอไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง?

หลังจากนำตัวอย่างดีเอ็นเอที่ส่วนมากจะเป็นน้ำลายหรือเนื้อเยื่อกระพุ้งแก้มส่งไปที่ห้องทดลองแล้ว จะถูกตรวจสอบด้วยวิธีทางชีววิทยาด้วยการทำให้เซลล์แตกตัว สกัดดีเอ็นเอออกมา จากนั้นจำกัดเศษซากที่ไม่ใช่ดีเอ็นเอออก รอให้ตกตะกอน แล้วจึงนำไปตรวจหาความเปลี่ยนแปรของดีเอ็นเอในตัวไมโทคอนเดรีย

ผลที่ได้รับจากการตรวจหาความเปลี่ยนแปรคือรหัสพันธุกรรม ซึ่งผลที่ได้จะนำมาศึกษาเปรียบเทียบกับตัวอย่างอื่นๆ จากฐานข้อมูลและหาว่าดีเอ็นเอมีความสัมพันธ์กับเชื้อชาติไหนอย่างไร ซึ่งสามารถรู้ผลได้ตั้งแต่ 2 สัปดาห์ถึง 2 เดือน การตรวจหาดีเอ็นเอจึงทำให้เรารู้ประวัติความเป็นมาและความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมของตนเอง

อย่างที่ทราบกันว่าคนไทยมีความหลากหลายของดีเอ็นเอสูงมาก ผลตรวจดีเอ็นเอของหลายๆ คนจึงค่อนข้างน่าประหลาดใจ บางคนที่เชื่อว่าตัวเองเป็นคนกรุงเทพมหานครโดยกำเนิดก็อาจมีเชื้อสายเอเชียใต้ หรือบางคนที่เติบโตทางภาคเหนือก็อาจมีเชื้อสายออสโตรนีเชียน (Austronesian) หรือคนจากทางหมู่เกาะได้เช่นกัน 

ฉะนั้นการที่รู้ว่าตัวเองมาจากไหนจึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เข้าใจบริบทของตัวเองมากขึ้นเท่านั้น มันไม่ได้มีความสำคัญไปกว่าการมีชีวิตอยู่ของตัวเองในปัจจุบันและไม่ได้ทำให้ตัวตนของเราเปลี่ยนไป เราก็ยังคงเป็นคนเดิมที่รู้ว่าตัวเองมีเชื้อชาติอะไรอยู่ในตัวบ้างเท่านั้นเอง

ความเป็นไทยอาจไม่ได้อยู่ในหนังสือประวัติศาสตร์ แต่อยู่รอบๆ ตัวเรา BrandThink และ ThaiPBS ชวนคุณร่วมค้นหาและเข้าใจในความเป็นไทยที่ไม่ได้มีแต่ในตำราไปด้วยกัน ในแคมเปญ #โคตรไทย ตั้งแต่จุดเริ่มต้นก่อนโลกนี้มีคำว่าไทย เพื่อตอบคำถามโลกแตกว่าสุดท้ายแล้วไทยแท้มีจริงไหม?

มาร่วมถอดรหัสอะไรคือไทยแท้?’ จากจุดเริ่มต้น จากมนุษย์โบราณอายุหมื่นปี จากถ้อยคำและภาษามากมาย จากชาติพันธุ์ที่หลากหลาย จากเม็ดเลือดในร่างกาย และเข้าใจเรื่องราวการเดินทางว่าเราเป็นไทยอย่างในทุกวันนี้ได้อย่างไร ผ่านการรวบรวมข้อมูลทางวิชาการ หลักฐานทางโบราณคดีในสารคดีเธอ เขา เรา ใครให้เข้าใจใน 10 นาที มาร่วมเดินทางไปกับเราได้ที่ www.thaipbs.or.th/CodeThai

เข้าใจ  ความเป็นไทย  ในมิติทางสังคมกันให้มากยิ่งขึ้น จากการตั้งคำถาม มุมมอง ความคิดเห็น ข้อมูลที่แตกต่าง หลากหลาย ของผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ บุคคลที่น่าสนใจ ที่  https://thinkster.brandthink.me/campaign/code-thai

อ้างอิง

  • ThiaPBS. ดีเอ็นเอคนไทย: เธอ เขา เรา ใคร สำรวจคนไทยในแผ่นดิน (28 .. 62) . https://bit.ly/3rMW6ic
  • Smart Science. DNA คืออะไร. https://bit.ly/36eV3PM
  • Sci Spec. พิสูจน์บุคคลด้วยลายพิมพ์ดีเอ็นเอ (DNA Fingerprint). https://bit.ly/3gNTryh
  • คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. ทำความรู้จัก ไมโทคอนเดรีย DNA หนึ่งในตัวแปรสำคัญ #คดีน้องชมพู่. https://bit.ly/34SIb10
  • WIRED. July 9, 1993: Yes, They’re the Romanovs, DNA Tests Confirm. https://bit.ly/3gMiCBt