“คนไทยอพยพโยกย้ายมาจากอัลไต–น่านเจ้า และถูกจีนรุกรานลงมาทางใต้”
ความเชื่อนี้เคยถูกบรรจุไว้ในตำราเรียนวิชาสังคมศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ และอาจฝังหัวอยู่ในความทรงจำของคนไทยหลายๆ คน เช่น ‘ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ นายกรัฐมนตรีของไทย ยังเคยประกาศความเข้าใจผิดผ่านการอวยพรในวันตรุษจีนปี 2558 มาแล้ว
แต่ที่สำคัญคือมัน ‘ผิด’ นี่ล่ะ
แล้วความจริงคืออะไรกันแน่?
แกะแหล่งที่มาความเข้าใจผิด
ความเข้าใจผิดว่าคนไทยมาจากเทือกเขาอัลไตมาจากหนังสือเรื่อง ‘หลักไทย’ เขียนโดย ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ตีพิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ. 2471 หนังสือเล่มนี้ทำให้ชนชั้นนำสยามตื่นเต้นกันมาก ข้อมูลชุดนั้นลุกลามแพร่ไปสู่หนังสือแบบเรียน ท้ายที่สุดก็กระจายเข้าไปในความเชื่อของคนไทย
ขุนวิจิตรมาตราอ้างถึง หมอดอดด์ หรือ บาทหลวงวิลเลียม คลิฟตัน ดอดด์ (William Clifton Dodd) เจ้าของผลงาน ‘The Thai Race: The Elder Brother of the Chinese’ ซึ่งเผยแพร่ก่อนหน้านั้นในปี พ.ศ. 2452 หรือช่วงปลายแผ่นดินรัชกาลที่ 5 โดยมีเนื้อหาสำคัญระบุว่า ไทยเป็นเชื้อสายมองโกล เก่าแก่กว่าจีน และเคยเป็นเจ้าของดินแดนจีน แนวคิดนี้ถูกนำไปขยายว่าถิ่นเดิมของไทยอยู่ที่มองโกเลีย
‘ชาตินิยม’ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความเชื่อฉบับ อัลไต–น่านเจ้า ยิ่งทวีความเหนียวแน่นในความคิดของผู้คน
ในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คณะราษฎรสถาปนากรมศิลปากร แล้วมอบหมายหน้าที่ให้เผยแพร่ ‘การเมืองชาตินิยม’ ผ่านความรู้ทางประวัติศาสตร์โบราณคดี
ครั้นถึงปี พ.ศ. 2482 ‘สยาม’ ได้แปรเปลี่ยนเป็น ‘ประเทศไทย’ เกิดเพลง ‘ประวัติศาสตร์’ แต่งโดย หลวงวิจิตรวาทการ มีเนื้อหาสำคัญตอนหนึ่งว่า
“ชาติเรามีสมัญญาว่าชาติไทย เป็นชาติใหญ่แต่โบราณนานนักหนา ภูมิลำเนาของเราแต่ก่อนมา อยู่ท่ามกลางพสุธาของเอเชีย เมื่อชาติจีนรุกร้นร่นลงใต้ เข้าแย่งไทยทำกินถิ่นก็เสีย จีนไล่ไทยเหมือนไฟไหม้ลามเลีย ไทยต้องเสียดินแดนแคว้นโบราณ ถูกแย่งที่หนีร่นลงทางใต้ ไทยมาตั้งเมืองไทยอย่างไพศาล…”
สุจิตต์ วงษ์เทศ อดีตบรรณาธิการนิตยสารศิลปวัฒนธรรม กับ ขรรค์ชัย บุนปาน นักเขียนรางวัลศรีบูรพา เน้นย้ำผ่านรายการ ‘ขรรค์ชัย–สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว’ ว่า แนวคิดเรื่องเชื้อชาติเพิ่งมีในยุโรปเมื่อ 200 กว่าปีมานี้แล้วแผ่มายังรัตนโกสินทร์ ขณะที่ไทยเพิ่งรับมาในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ส่วนสมัยสุโขทัย อยุธยา ไม่มีเชื้อชาติไทย
แต่ถ้าหากแนวคิดคนไทยมาจากเทือกเขาอัลไตเป็นเพียงความเข้าใจผิดที่ถูกโปรโมตจากอุดมการณ์รัฐชาติ อย่างนั้นความจริงแล้วคนไทยมาจากไหนกันล่ะ?
โชคดีที่เทคโนโลยีสมัยใหม่กับหลักฐานที่เพิ่มพูนมาตามกาลเวลาช่วยให้เราได้คำตอบที่ชัดเจนขึ้น
คนไทยไม่ได้มาจากเทือกเขา แต่มาจาก…?
สุจิตต์ วงษ์เทศ กับ ขรรค์ชัย บุนปาน ร่วมกันอธิบายว่า บรรพชนไทยสามารถแบ่งออกกว้างๆ อย่างน้อย 3 กลุ่ม คือ
1. มาจากโซเมีย ทางภาคใต้ของจีน กระจายลงมาข้างล่าง
2. มาจากร้อยพ่อพันแม่ในอุษาคเนย์
และ
3. มาจากทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น อินเดีย ลังกา อิหร่าน ยุโรป แม้กระทั่งอเมริกา
สุจิตต์ยังกล่าวอีกด้วยว่า ประเด็นเรื่องเชื้อชาติ บางประเทศยกออกจากรัฐธรรมนูญไปแล้ว เพราะเป็นต้นเหตุของการเข่นฆ่ากัน บรรพชนไทย ผสมผสานหลากหลาย ไม่มีไทยแท้
สอดคล้องกับการศึกษาดีเอ็นเอของ รศ.ดร.วิภู กุตะนันท์ นักชีววิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุศาสตร์เชิงมานุษยวิทยา ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Molecular Biology and Evolution ฉบับเดือนสิงหาคม 2021 ทำให้เห็นความหลากหลายของดีเอ็นเอของคนไทยที่พาเราก้าวข้ามความคิดชาตินิยมที่วนเวียนอยู่กับแค่เทือกเขาอัลไต
รศ.ดร.วิภู ค้นพบว่า คนไทยภาคกลางเป็นคนมอญ คนเมืองซึ่งเป็นประชากรหลักในภาคเหนือของไทยมีดีเอ็นเอคล้ายกับชาวไตจากสิบสองปันนา ประเทศจีนตอนใต้ ส่วนคนอีสานมีดีเอ็นเอที่มีการผสมผสานระหว่างกลุ่มประชากรที่พูดมอญ–เขมร กับดีเอ็นเอของคนไทยในสิบสองปันนา และดีเอ็นเอของคนภาคกลางและภาคใต้ยังมีบางส่วนเหมือนกันชาวอินเดียตอนใต้ ซึ่งแสดงถึงการผสมผสานทางพันธุกรรมจากเอเชียใต้สู่ดินแดนสุวรรณภูมิ
เช่นเดียวกับสุจิตต์ รศ.ดร.วิภู ยืนยันว่า ‘ไทยแท้ไม่มีจริง’
ประเด็น ‘คนไทยมาจากไหน?’ เริ่มมีการถกเถียงมานานอย่างน้อยตั้งแต่ พ.ศ. 2507 ผู้จุดประเด็นคัดค้านอย่างต่อเนื่องคือ ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม เจ้าของรางวัลวัฒนธรรมเอเชียฟุกุโอกะ ประจำปี พ.ศ. 2550
ท้ายที่สุด กระทรวงศึกษาธิการก็ถอดเรื่องคนไทยมาจากเทือกเขาอัลไตออกจากหลักสูตรใน พ.ศ. 2521 แต่ไม่ยกเลิกประเด็นน่านเจ้า แนวคิดลักษณะนี้ยังมีอำนาจสืบมา และในปัจจุบันหลายๆ คนก็ยังเข้าใจผิดอยู่
แต่ถ้าคุณอ่านมาถึงตอนนี้ คุณก็น่าจะรู้แล้วว่าคนไทยไม่ได้มาจากเทือกเขาอัลไตและ ‘คนไทย’ ก็หมายถึง ‘ความหลากหลาย’ ที่ผสมผสานสืบอยู่ยงมาจนปัจจุบัน
BrandThink และ ThaiPBS ชวนคุณร่วมค้นหาและเข้าใจใน ‘ความเป็นไทย’ ที่ไม่ได้มีแต่ในตำราไปด้วยกัน ในแคมเปญ #โคตรไทย ตั้งแต่จุดเริ่มต้นก่อนโลกนี้มีคำว่าไทย เพื่อตอบคำถามโลกแตกว่าสุดท้ายแล้ว ‘ไทยแท้’ มีจริงไหม?
มาร่วมถอดรหัส ‘อะไรคือไทยแท้?’ จากจุดเริ่มต้น จากมนุษย์โบราณอายุหมื่นปี จากถ้อยคำและภาษามากมาย จากชาติพันธุ์ที่หลากหลาย จากเม็ดเลือดในร่างกาย และเข้าใจเรื่องราวการเดินทางว่าเรา ‘เป็นไทย’ อย่างในทุกวันนี้ได้อย่างไร ผ่านการรวบรวมข้อมูลทางวิชาการ หลักฐานทางโบราณคดีในสารคดี ‘เธอ เขา เรา ใคร’ ให้เข้าใจใน 10 นาที มาร่วมเดินทางไปกับเราได้ที่ www.thaipbs.or.th/CodeThai
เข้าใจ ‘ความเป็นไทย’ ในมิติทางสังคมกันให้มากยิ่งขึ้น จากการตั้งคำถาม มุมมอง ความคิดเห็น ข้อมูลที่แตกต่าง หลากหลาย ของผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ บุคคลที่น่าสนใจ ที่ https://thinkster.brandthink.me/campaign/code-thai
อ้างอิง
- Matichon Online. ‘อัลไตมาจากไหน?’ 93 ปีแห่งอำนาจ จาก ‘หลักไทย’ ถึงการเมืองร่วมสมัย. https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_3011553
- Matichon Online. ไม่ว่าคนไทยมาจากไหน ‘เชื้อชาติไทย’ ก็ไม่มีจริง. https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_2694697
- The Standard. ถ้าคนไทยไม่ได้มาจากเทือกเขาอัลไต แล้วมีใครอยู่ที่นั่น?. https://thestandard.co/altai-mountains-question-of-thai…/
- Voice. จากอัลไตถึงกรุงเทพฯ. https://www.voicetv.co.th/read/88393
- The Momentum. วิภู กุตะนันท์ พบคำตอบ ‘คนไทยมาจากไหน’ บนเกลียวดีเอ็นเอ. https://themomentum.co/theframe-wibhu-kutanan/
- Thai PBS. รายการ เธอ เขา เรา ใคร สำรวจคนไทยในแผ่นดิน. ตอน ดีเอ็นเอคนไทย
- Thai PBS. รายการ เธอ เขา เรา ใคร สำรวจคนไทยในแผ่นดิน. ตอน รวมเป็นไทย