“คนเหนือต้องผิวขาว”
“คนอีสานหน้าไม่เหมือนคนกรุงเทพฯ”
“คนใต้ต้องผิวเข้ม”
“ตาตี่แต่ทำไมไม่ใช่คนจีน?”
ประโยคทั้งหมดที่ว่ามาอาจเคยมีคนได้ยินมาแล้วหลายต่อหลายครั้งในชีวิตจริง แต่ความหมายของสิ่งที่พูดอาจจะไม่ใช่ข้อเท็จจริงเสมอไป และนี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนในสังคมจำนวนมากรู้สึกว่าพวกเขาถูกเข้าใจผิดเพราะ ‘มายาคติ’ ที่ครอบคลุมอยู่รายรอบตัว
ที่จริงแล้ว ความเป็นคนไทยในปัจจุบันมีรากเหง้าจากความหลากหลายทั้งทางเชื้อชาติ วัฒนธรรม และการปรับเปลี่ยนทางนโยบายของภาครัฐ แต่เท่าที่ผ่านมา แบบเรียนไทยในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานก็ไม่ได้อธิบายรายละเอียดตรงส่วนนี้มากนัก รวมถึงไม่ได้ ‘อัพเดต’ ข้อมูลปลีกย่อยอีกหลายอย่าง จึงไม่แปลกที่คนจำนวนมากจะต้องเจอกับความเข้าใจผิดหรือความคิดแบบเหมารวมที่ยังมีอยู่ในสังคม
การจะทำลายมายาคติเหล่านี้ได้ ต้องทำให้คนเข้าใจถึง ‘ความสัมพันธ์’ ของผู้คนกับสิ่งที่ประกอบสร้างขึ้นมาเป็นสังคมไทยในปัจจุบัน และองค์ความรู้ที่สำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือ ‘ประชากรศาสตร์’ ที่หลายคนอาจเคยได้ยินมาบ้างแล้ว แต่ยังงงๆ อยู่ว่ามันเกี่ยวกับอะไรกันแน่
อัตลักษณ์และความเป็นไทยในประชากรศาสตร์
ทฤษฎีเกี่ยวกับวิวัฒนาการส่วนใหญ่เชื่อว่า มนุษย์มีพัฒนาการและก้าวสู่ความเปลี่ยนแปลงเพราะมีการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา การศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับผู้คนผ่านแว่นตาของวิชา ‘ประชากรศาสตร์’ จะช่วยให้เข้าใจได้ว่าการเกิด การตาย การโยกย้ายถิ่นฐาน รวมถึงการถูกกดดันด้วยนโยบายของภาครัฐ ล้วนมีผลทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวของคนในสังคมมาตั้งแต่อดีต ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้คือเหตุผลที่สำคัญอย่างมากที่ทำให้คนบางกลุ่มหรือคนจำนวนมากมีวิถีชีวิต วัฒนธรรม หรืออัตลักษณ์อย่างที่ได้เห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบัน ทั้งยังจะส่งผลต่อการกำหนดความเป็นไปของสภาพสังคมในอนาคตอีกด้วย
ก่อนหน้าจะมี ‘คนไทย’ ในปัจจุบัน มีการย้ำหลายครั้งแล้วว่าดินแดนสยามเคยเป็นศูนย์กลางการติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนของกลุ่มคนหลากหลายเชื้อชาติ และตลอดเวลาหลายร้อยปี มีทั้งภาวะสงคราม ภัยธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำให้ดินแดนแห่งนี้เจอกับการย้ายถิ่นฐานและการตั้งรกรากของผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลายอย่างที่ว่ามาแล้ว จนเกิดเป็นการหลอมรวมทางวัฒนธรรม
เมื่อ ‘ประเทศไทย’ ถือกำเนิดขึ้น ก็มีการกำหนดนโยบายจากภาครัฐเพื่อที่จะวางรากฐาน ‘การพัฒนา’ และรองรับการเติบโตของประชากรในรัฐสมัยใหม่ที่จะต้องอยู่ร่วมกับคนในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก การเลื่อนไหลของผู้คนจึงไม่ใช่แค่การเปิดรับจากนอกประเทศสู่ในประเทศ แต่เป็นการเคลื่อนย้ายของ ‘คนใน’ จากภาคเหนือ อีสาน ใต้-(ตะวัน)ออก-(ตะวัน)ตก ไหลสู่ภาคกลางหรือจังหวัดอื่นๆ ที่มีการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะพูดว่าการวางรากฐานทางเศรษฐกิจหลังยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านประชากรที่ส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน เพราะ ‘แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ’ ที่ยังดำเนินต่อเนื่องมาทุกวันนี้ ทำให้เกิดการย้ายถิ่นฐานของผู้คนเข้ามาในเขตเมืองใหญ่ เพราะช่วงแรกที่ไทยพยายามเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรม ทำให้แรงงานภาคเกษตรถูกกดดันทั้งทางตรงและทางอ้อมจนต้องเปลี่ยนวิถีทำมาหากินมาเป็นแรงงานในภาคการผลิต เพราะการกว้านซื้อที่ดินเพื่อการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ ทำให้ผู้คนถูกผลักเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม ขณะที่การปรับระบบการศึกษาก็เน้นที่การผลิตคนมาทำงานในระบบที่กำลังเติบโต
ผลพวงของนโยบายเศรษฐกิจและความต้องการแรงงานยุคแรกๆ ของไทย ทำให้คนจากแทบจะทุกภูมิภาคมุ่งหน้าสู่เมือง โดยเฉพาะช่วงประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504-2509) จนถึงฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535-2539) ที่เน้นความเจริญเติบโตในด้านอุตสาหกรรม การค้า การท่องเที่ยว และการบริการ แต่ผลข้างเคียงของนโยบายนี้ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำขึ้นอย่างมาก เพราะการขยายตัวของเมืองและโอกาสทางการงานอาชีพ ‘กระจุกตัว’ อยู่ในไม่กี่จังหวัด เช่นเดียวกับการกระจายระบบสาธารณูปโภคให้ทั่วถึงทั้งประเทศก็ยังไม่เกิดขึ้นจริง
การโยกย้ายถิ่นฐาน ที่เรียกแบบบ้านๆ ว่า ‘การไปทำมาหากินในเมือง’ จึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา และเป็นเหตุผลให้คนจากภูมิภาคต่างๆ เกิดการไหลเลื่อนจนผสมผสานกับคนในพื้นที่ดั้งเดิม กลายเป็นคนไทยในยุคปัจจุบันที่เกิดจากการ ‘หลอมรวม’ ผ่านมิติความสัมพันธ์ การว่าจ้างงาน การตั้งรกรากและถิ่นฐานใหม่ ไปจนถึงการกลืนกลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม กลายเป็นอัตลักษณ์ของผู้คนแบบที่เห็นกันอยู่ในตอนนี้
การตั้งคำถามว่าคนเหนือทำไมถึงผิวไม่ขาว คนอีสานหน้าตาเหมือนคนภาคกลาง คนใต้หน้าเหมือนคนจีน หรือคนภาคตะวันออกแต่ ‘พูดไม่เหน่อ’ จึงเป็นการนำชุดความรู้และความเคยชินเก่าๆ มาครอบทับผู้คนที่มีความหลากหลาย ซึ่งนอกจากจะไม่ตรงกับข้อเท็จจริงแล้ว ยังอาจทำให้ ‘ผิดหู’ ผู้ที่ต้องรับฟังข้อมูลแบบนี้อยู่บ่อยๆ อีกด้วย
อนาคต ‘ประชากรไทย’ จะเป็นอย่างไรต่อ?
ในช่วงทศวรรษต่อจากนี้ ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างแน่นอน เพราะอัตราการเกิดนั้นไม่สัมพันธ์กับการตายมาได้สักพักใหญ่ๆ ทำให้การนำเข้า ‘แรงงานต่างชาติ’ เป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และก็อย่าแปลกใจที่คนจากประเทศเพื่อนบ้านจะหลั่งไหลมาไทยอย่างต่อเนื่อง
ยิ่งในยุคที่ประเทศรอบข้างไทยต้องเจอกับความผันผวนทางการเมือง รวมถึงความขัดแย้งถึงขั้นสู้รบ ทำให้การอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน รวมถึงการลี้ภัย ‘เป็นเรื่องเข้าใจได้’ เพราะตราบใดที่สถานการณ์ไม่สงบ ผู้คนซึ่งไม่อาจคาดเดาชะตากรรมของตัวเองก็คงยังกลับไปถิ่นฐานบ้านเกิดไม่ได้ง่ายๆ
เมื่อคนต่างชาติเข้ามาในตลาดแรงงานไทยอย่างเป็นระบบ ก็ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในสังคมและแบกรับภาระด้านภาษีต่างๆ เช่นกัน พวกเขาจึงไม่ใช่คนแปลกหน้า แต่ถือเป็นส่วนหนึ่งใน ‘สังคมไทย’ การทำความเข้าใจโดยไม่เลือกปฏิบัติจะทำให้ ‘การอยู่ร่วมกัน’ มีความราบรื่นและสร้างสรรค์กว่าการแบ่งแยก ‘เรา’ และ ‘เขา’ เพราะทั้งหมดนี้ก็ล้วนคือ ‘ประชากร’ ที่ต้องอาศัยอยู่และเป็นพลวัตขับเคลื่อนบ้านนี้เมืองนี้แทบไม่ต่างจากเราเหมือนกัน
อย่างไรก็ดี ลูกหลานคนต่างชาติที่เกิดในไทยจำนวนหนึ่ง ซึ่งตามหลักสากลแล้วก็ควรได้รับสถานะพลเมืองไทย ยังคงตกหล่นและไม่ได้รับสิทธิด้านสถานะ เพราะการเข้ามาในไทยอย่างผิดกฎหมายของคนที่เป็นพ่อและแม่ จนกลายเป็นปัญหาคาราคาซังมาถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน และอีกทางหนึ่งก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เช่นกันว่ากระบวนการพิจารณาสัญชาติและการให้ความรู้ขั้นพื้นฐานแก่ประชากรที่เกิดในไทยก็ยังไม่ครอบคลุมทั่วถึง ทำให้ ‘ทรัพยากรมนุษย์’ กลุ่มนี้ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างที่ควรจะเป็น
ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ประชากรที่หลุดออกจากระบบสวัสดิการเพราะเหตุผลด้านสัญชาติเหล่านี้อาจจำต้องเข้าสู่วังวนการค้ามนุษย์ อาจถูกเอารัดเอาเปรียบด้านแรงงาน และอาจจะนำไปสู่การก่ออาชญากรรมหรือการละเมิดสิทธิในด้านต่างๆ ในอนาคต ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ไม่เป็นผลดีกับประเทศไทยโดยรวม เพราะอาจจะกลายเป็นวังวนความรุนแรงและการทำธุรกิจผิดกฎหมายอื่นๆ ด้วย
แคมเปญ #โคตรไทย จาก BrandThink และ Thai PBS ชวนคุณถอดรหัส ค้นหาและเข้าใจใน ‘ความเป็นไทย’ ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายและอาจไม่ได้มีแต่ในตำรา ย้อนกลับไปเข้าใจเรื่องราวของ ‘เรา’ ตั้งแต่ก่อนคำว่า ‘ไทย’ จะถือกำเนิด เพื่อตอบคำถามโลกแตกว่าสุดท้ายแล้ว ‘ไทยแท้’ มีจริงไหม?
สำรวจ ‘ความเป็นไทย’ จากจุดเริ่มต้น จากมนุษย์โบราณอายุหมื่นปี จากถ้อยคำและภาษามากมาย จากชาติพันธุ์ที่หลากหลาย จากเม็ดเลือดในร่างกาย และเข้าใจเรื่องราวการเดินทางว่าเรา ‘เป็นไทย’ อย่างในทุกวันนี้ได้อย่างไร ผ่านการรวบรวมข้อมูลทางวิชาการ หลักฐานทางโบราณคดี จากสารคดี ไทยพีบีเอส ‘เธอ เขา เรา ใคร สำรวจคนไทยในแผ่นดิน’ ให้เข้าใจใน 10 นาที มาร่วมเดินทางไปกับเราได้ที่ : www.thaipbs.or.th/CodeThai
เข้าใจ ‘ความเป็นไทย’ ในมิติทางสังคมกันให้มากยิ่งขึ้น จากการตั้งคำถาม มุมมอง ความคิดเห็น ข้อมูลที่แตกต่าง หลากหลาย ของผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ บุคคลที่น่าสนใจ ที่ https://thinkster.brandthink.me/campaign/code-thai
อ้างอิง
- Britannica. Thailand. https://bit.ly/3B7spL
- New Security Beat. Four Steps to Thailand’s Demographic Dividend. https://bit.ly/3JfiGFW
- NIH. Factors affecting demographic trends in Thailand. https://bit.ly/35ZBef
- PR Mahidol. ประชากรไทย อดีต–ปัจจุบัน–อนาคต. https://bit.ly/3GH2qM9