ประเทศไทยมีประชากรกี่คน?
ถ้าหากเรานำคำถามนี้ไปเสิร์ชลงในกูเกิลจะได้คำตอบเป็นตัวเลขแน่ชัดว่า ปัจจุบันคนไทยมีประชากรราว 69.8 ล้านคน ซึ่งในประชากรหลายล้านคนของประเทศไทยนั้นเต็มไปด้วยความหลากหลาย บางคนเป็นครึ่งจีน บางคนสืบเชื้อสายจากมอญ บางคนว่าตัวเองเป็นคนไทยแท้ ประเทศไทยยังมีบุคคล ‘ไร้สัญชาติ’ อยู่มากถึง 1.8 ล้านคนตามการสำรวจข้อมูลพื้นฐานครัวเรือน โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 2561
และหนึ่งในนั้นคือกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า ‘ชนกลุ่มน้อย’ หรือกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย ซึ่งมีกลุ่มชาติพันธุ์ราว 56 กลุ่มมีภาษาพูดมากกว่า 70 ภาษากระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศที่มีความสืบเนื่องทางประวัติศาสตร์กับสังคมไทยมาตั้งแต่อดีต และมีความแตกต่างด้านต่างๆ มีวัฒนธรรมประเพณีของตนเอง หลายกลุ่มยังคงเลือกที่จะมีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมที่แตกต่างจากคนปัจจุบัน ซึ่งเรามักจำแนกเป็นกลุ่มตามลักษณะของถิ่นที่อยู่อันสอดคล้องกับการใช้ชีวิต
1. กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง หรือ ‘ชนชาวเขา’ จำนวน 13 กลุ่ม ได้แก่ กะเหรี่ยง ม้ง (แม้ว) เย้า (เมี่ยน) ลีซู (ลีซอ) ลาหู่ (มูเซอ) อาข่า (อีก้อ) ลัวะ ถิ่น ขมุ จีนฮ่อ ตองซู คะฉิ่น และปะหล่อง (ดาราอั้ง)
2. กลุ่มชาติพันธุ์ตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ราบ จำนวน 38 กลุ่ม ได้แก่ มอญ ไทลื้อ ไทใหญ่ ไทเขิน ไทยอง ไทหย่า ไทยวน ภูไท ลาวครั่ง ลาวแง้ว ลาวกา ลาวตี้ ลาวเวียง แสก เซเร ปรัง บรู (โซ่) โซ่ง โว (ทะวิง) อึมปี้ ก๊อง กุลา ชอุโอจ (ชุอุ้ง) กูย (ส่วย) ญัฮกรุ (ชาวบน) ญ้อ โย้ย เขมรถิ่นไทย เวียดนาม (ญวน) เญอ หมี่ซอ (บีซู) ชอง กระชอง มาลายู กะเลิง และลาวโซ่ง (ไทดำ, ไทยทรงดำ)
3. กลุ่มชาติพันธุ์ที่ตั้งถิ่นฐานในทะเล หรือ ‘ชาว’ จำนวน 3 กลุ่ม ได้แก่ มอแกน มอแกลน และอูรักลาโว้ย
4. กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในป่า จำนวน 2 กลุ่ม ได้แก่ มลาบรี (ตองเหลือง) และซาไก (มันนิ)
กลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มที่กล่าวมาข้างต้นอาศัยอยู่ในดินแดนนี้มาตั้งแต่อดีต บางกลุ่มอยู่ในพื้นที่นี้มาตั้งแต่ก่อนยุคประวัติศาสตร์ แต่พวกเขากลับเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ไม่ได้รับสัญชาติไทย อาจเพราะการตกสำรวจ อาจอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและมีข้อจำกัดทางภาษา รวมถึงไม่มีเอกสารแสดงตัวตนทำให้ไม่ได้ถูกนับว่าเป็น ‘คนไทย’ ด้วยมาตรฐานแบบปัจจุบัน ทั้งยังถูกปฏิบัติในฐานะ ‘ของแปลก’ และเป็นพื้นที่สำหรับการท่องเที่ยว
ตามมาตรา 70 ของรัฐธรรมนูญประเทศไทยบัญญัติไว้ว่า “รัฐพึงส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวน ทั้งนี้ เท่าที่ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือสุขภาพอนามัย”
ที่ผ่านมากลุ่มชาติพันธุ์ที่เลือกใช้วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมตามบรรพชนก็ต้องเจอกับกฎหมายและเงื่อนไขจากรัฐที่ขัดแย้งกัน โดยเฉพาะปัญหาในเรื่องพื้นที่ทำกินของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ทับซ้อนกับพื้นที่ของรัฐหรือเอกชนจนเกิดเป็นความขัดแย้งและข้อพิพาทในหลายพื้นที่
นอกจากนี้สิทธิของคนไร้สัญชาติยังคงเป็นปัญหาอันเกี่ยวข้องกับกฎหมายอย่างน้อย 3 ฉบับคือ พระราชบัญญัติสัญชาติ พระราชบัญญัติทะเบียนราษฎร และพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง อย่างไรก็ตามในปี 2548 มีการปรับปรุงนโยบายให้คนไร้สัญชาติสามารถเข้าเรียนได้โดยไม่ต้องใช้เอกสารในระดับประถมศึกษา แต่กลุ่มชาติพันธุ์ที่ไร้สัญชาติยังคงเผชิญหน้ากับปัญหาด้านสวัสดิการรัฐรวมไปถึงการรักษาพยาบาลที่ไม่ครอบคลุมเท่ากับคนไทยในทะเบียนราษฎร ขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญหน้ากับอคติทางชาติพันธุ์ที่ยังคงถูกส่งต่อในสื่อต่างๆ
สิทธิคนไร้สัญชาติเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานในประเทศไทย และนำมาสู่คำถามในปัจจุบันของเราว่า แม้พวกเขาอาจมีวิถีชีวิตที่แตกต่าง พูดภาษาที่แตกต่าง หรือไม่มีหลักฐานยืนยันตัวตน พวกเขาควรได้รับสิทธิในฐานะ ‘คนไทย’ เหมือนกับอีก 69.8 ล้านคนหรือไม่?
BrandThink และ ThaiPBS ชวนคุณร่วมค้นหาและเข้าใจใน ‘ความเป็นไทย’ ที่ไม่ได้มีแต่ในตำราไปด้วยกัน ในแคมเปญ #โคตรไทย ตั้งแต่จุดเริ่มต้นก่อนโลกนี้มีคำว่าไทย เพื่อตอบคำถามโลกแตกว่าสุดท้ายแล้ว ‘ไทยแท้’ มีจริงไหม?
มาร่วมถอดรหัส “อะไรคือไทยแท้?” จากจุดเริ่มต้น จากมนุษย์โบราณอายุหมื่นปี จากถ้อยคำและภาษามากมาย จากชาติพันธุ์ที่หลากหลาย จากเม็ดเลือดในร่างกาย และเข้าใจเรื่องราวการเดินทางว่าเรา ‘เป็นไทย’ อย่างในทุกวันนี้ได้อย่างไร ผ่านการรวบรวมข้อมูลทางวิชาการ หลักฐานทางโบราณคดีในสารคดี ‘เธอ เขา เรา ใคร’ ให้เข้าใจใน 10 นาที มาร่วมเดินทางไปกับเราได้ที่ : www.thaipbs.or.th/CodeThai
เข้าใจ ‘ความเป็นไทย’ ในมิติทางสังคมกันให้มากยิ่งขึ้น จากการตั้งคำถาม มุมมอง ความคิดเห็น ข้อมูลที่แตกต่าง หลากหลาย ของผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ บุคคลที่น่าสนใจ ที่ https://thinkster.brandthink.me/campaign/code-thai
อ้างอิง
- Chula. ‘ปัญหาคนไร้สัญชาติ ซับซ้อนแต่ไม่ไร้ความหวัง’. https://bit.ly/3B5PiiE
- Matichon. ‘กลุ่มชาติพันธุ์’ คือบรรพชน ‘คนไทย’ ความเป็นไทย ‘เปิดรับ’ ทุกกลุ่มชาติพันธุ์. https://bit.ly/3Gzu6Tk
- สกสว. กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย งานวิจัยและความท้าทาย. https://bit.ly/34Ji64f