หน้าตาแบบ ‘ไทยแท้’ มีจริงหรือ? ในเมื่อรากเหง้าคนไทยไม่ได้มีเชื้อชาติเดียว
เชื่อว่าเวลาที่หลายคนส่องกระจกแล้วเห็นหน้าตัวเอง ซึ่งเป็นคนสัญชาติไทย เกิดในไทย พูดภาษาไทย และโตในไทย ก็คงจะไม่เคยสงสัยว่าหน้าตาแบบที่เห็นนับว่าเป็น ‘ไทยแท้’ หรือไม่ เพราะแต่ละคนน่าจะรู้อยู่ว่าบรรพบุรุษของตัวเองนั้นมีเชื้อสายอะไรบ้าง บางคนอาจจะมีเชื้อสายจีน มอญ ไปจนถึงชาติพันธุ์กลุ่มน้อยต่างๆ หรือฝรั่งมังค่า
แต่หลายครั้งที่คนไทยจำนวนหนึ่งมักจะชมเชยหรือเปรียบเปรยคนที่มีลักษณะทางกายภาพบางอย่างว่ามีหน้าตาแบบ ‘ไทยแท้’ เช่น ถ้าเป็นผู้หญิงก็จะต้องมีผิวสีน้ำผึ้ง คิ้วเข้ม ผมดำ ตาดำ ริมฝีปากอิ่ม ตัวไม่สูงนัก และผู้ชายก็อาจจะมีใบหน้าคล้ายๆ กัน แต่ต้องมีสันกรามเด่นชัด หรือไม่ก็ดูคมเข้มกว่าคนที่มีเชื้อสายจีน
ความเข้าใจแบบนี้เป็นเรื่องที่มีหลักฐานรองรับหรือไม่? ที่จริงแล้ว…อาจจะตรงกันข้าม
บันทึกต่างชาติบรรยายหน้าตา ‘บรรพบุรุษไทย’ อย่างไรบ้าง?
หากย้อนไปไกลถึงยุค ‘มนุษย์โบราณ’ ที่เคยอาศัยอยู่ในแผ่นดินที่เป็นประเทศไทยปัจจุบันเมื่อราว 13,000 ปีก่อน อ้างอิงจากโครงกระดูกมนุษย์ผู้หญิงในสมัยไพลสโตซีนตอนปลายที่พบในแหล่งโบราณคดี ‘เพิงผาถ้ำลอด’ อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ก็จะเห็นว่าภาพจำลองมนุษย์หญิงโบราณที่ผู้เชี่ยวชาญถอดแบบออกมานั้นมีรูปหน้าค่อนข้างสั้น หน้าผากกว้าง หนังตาสองชั้น จมูกไม่เป็นสันคม และมีริมฝีบากค่อนข้างหนา
ถ้าจะบอกว่าหน้าตาแบบนี้คือ ‘ไทยแท้’ เพราะเป็นมนุษย์ดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในดินแดนละแวกนี้ยาวนานที่สุดเท่าที่เคยพบหลักฐานยืนยันทางประวัติศาสตร์ ก็อาจจะพูดอย่างนั้นไม่ได้เหมือนกัน เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลเชื่อมโยงว่ามนุษย์ยุคที่พบในถ้ำลอดสืบเชื้อสายมาจนถึงคนไทยในปัจจุบันจริงหรือไม่
ขณะที่บันทึกของชาวต่างชาติซึ่งเคยเดินทางมาในอาณาจักรสยาม ต้นทางของประเทศไทย ณ ปัจจุบัน ก็บรรยายรูปร่างหน้าตาชาวสยามแบบที่คนในสมัยนี้อาจไม่คุ้นเคยเท่าไรนัก
ยกตัวอย่างจดหมายเหตุของ ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de La Loubère) ทูตฝรั่งเศส ที่ ‘ศิลปวัฒนธรรม’ ถอดความไว้ ได้บรรยายลักษณะของชาวสยามยุคนั้นว่า “วงหน้าของชาวสยามทั้งชายและหญิง กระเดียดไปข้างรูปขนมเปียกปูน (หรือข้าวหลามตัด) มากกว่าที่จะเป็นรูปไข่ ใบหน้ากว้าง ผายไปทางเหนือโหนกแก้ม แล้วทันใดก็ถึงหน้าผากอันแคบ รวมเข้าเป็นรูปมนเหมือนปลายคาง”
“อนึ่งนัยน์ตาซึ่งหางตาค่อนข้างจะยกสูงขึ้นไปข้างบนนั้นเล็ก และไม่สู้แจ่มใสไวแววนัก และตาขาวซึ่งควรจะขาวนั้นก็ออกเหลืองๆ แก้มของพวกเขานั้นตอบ ค่าที่โหนกแก้มสูงเกินไปนั่นเอง ปากนั้นกว้าง ริมฝีปากซีดๆ และฟันดำ ผิวนั้นหยาบ สีน้ำตาลปนแดง”
เชื่อว่าหลายคนที่อ่านคำบรรยายของ เดอ ลา ลูแบร์ อาจไม่อยากเชื่อว่านี่คือหน้าตาบรรพบุรุษของเราๆ ในยุคนี้ แต่ถ้าจะบอกว่านี่คือหน้าตาแบบ ‘ไทยแท้’ ก็คงไม่ใช่อยู่ดี เพราะสิ่งที่นักการทูตและนักเดินทางในอดีตบันทึกไว้ตรงกันก็คือการย้ำว่าชาวสยามนั้นสืบสายมาจากหลากหลายเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ เพราะดินแดนแห่งนี้มีการไปมาหาสู่และทำมาค้าขายกับต่างชาติ ทั้งยังมีการไล่กวาดต้อนผู้คนหลังศึกสงครามมาเป็นไพร่พลแรงงาน ทำให้ผู้อาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้มีความผสมผสานคละเคล้ากันไป
เมื่อไล่เลียงเรื่อยมาจนถึงยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ความเป็นไทยที่ภาครัฐพยายามรณรงค์ มุ่งไปยังความเป็นชาตินิยมที่อิงกับวัฒนธรรมและเรื่องของอุดมการณ์เชิงนามธรรม และมีการดำเนินนโยบายกลืนกลายกลุ่มชาติพันธุ์ให้กลายเป็นคนไทย ผ่านกระบวนการให้สัญชาติไทย ขณะที่ลักษณะหน้าตาแบบไทยแท้ไม่ใช่ประเด็นที่มีการพูดถึงกันมากนัก
สรุปแล้ว หน้าตา ‘ไทยแท้’ แบบที่ว่ามาอาจเป็นเพียงจินตนาการของคนจำนวนหนึ่งเท่านั้น เพราะความ ‘ไทยแท้’ ที่มีการนิยามอย่างชัดเจนตอนนี้มีเพียง ‘คำไทยแท้’ ที่หมายถึงคำในภาษาไทยที่ไม่ได้ยืมมาจากภาษาอื่น ส่วนใหญ่เป็นคำที่ไม่ควบกล้ำและไม่มีตัวการันต์ แต่ถ้าพูดถึงหน้าตา ‘ไทยแท้’ ยังไม่เห็นมีใครเคยให้คำนิยามที่ชัดเจนและเห็นพ้องต้องกันอย่างเป็นเอกฉันท์ได้เลย
แคมเปญ #โคตรไทย จาก BrandThink และ Thai PBS ชวนคุณถอดรหัส ค้นหาและเข้าใจใน ‘ความเป็นไทย’ ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายและอาจไม่ได้มีแต่ในตำรา ย้อนกลับไปเข้าใจเรื่องราวของ ‘เรา’ ตั้งแต่ก่อนคำว่า ‘ไทย’ จะถือกำเนิด เพื่อตอบคำถามโลกแตกว่าสุดท้ายแล้ว ‘ไทยแท้’ มีจริงไหม?
สำรวจ ‘ความเป็นไทย’ จากจุดเริ่มต้น จากมนุษย์โบราณอายุหมื่นปี จากถ้อยคำและภาษามากมาย จากชาติพันธุ์ที่หลากหลาย จากเม็ดเลือดในร่างกาย และเข้าใจเรื่องราวการเดินทางว่าเรา ‘เป็นไทย’ อย่างในทุกวันนี้ได้อย่างไร ผ่านการรวบรวมข้อมูลทางวิชาการ หลักฐานทางโบราณคดี จากสารคดี ไทยพีบีเอส ‘เธอ เขา เรา ใคร สำรวจคนไทยในแผ่นดิน’ ให้เข้าใจใน 10 นาที มาร่วมเดินทางไปกับเราได้ที่ : www.thaipbs.or.th/CodeThai
เข้าใจ ‘ความเป็นไทย’ ในมิติทางสังคมกันให้มากยิ่งขึ้น จากการตั้งคำถาม มุมมอง ความคิดเห็น ข้อมูลที่แตกต่าง หลากหลาย ของผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ บุคคลที่น่าสนใจ ที่ https://thinkster.brandthink.me/campaign/code-thai