ติด ‘โค้ก’ ที่สุดในโลก! คนเชียปัสในเม็กซิโกใช้โค้กไหว้เจ้า ดื่มแทนน้ำ-ป้อนแทนนม เพราะน้ำสะอาดขาดแคลน
คงไม่มีใครในโลกที่ดื่มโค้ก หรือ โคคา–โคล่า (Coca-Cola) มากไปกว่าชาว ‘เชียปัส’ รัฐทางใต้สุดและยากจนที่สุดของเม็กซิโกแล้วล่ะ
จากการศึกษาในปี 2019 โดยศูนย์วิจัยสหสาขาวิชาชีพเชียปัสและชายแดนใต้ (Cimsur) ผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กทุกคนในเชียปัส ดื่มน้ำอัดลมชนิดนี้เฉลี่ย 285-3,250 มิลลิลิตรต่อปี คิดเป็นเกือบ 16 ลิตรต่อคนต่อสัปดาห์ หรือราว 2.2 ลิตรต่อวัน
ถ้าอ้างอิงข้อมูลจากหน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรป (European Food Safety Authority: EFSA) คนเราควรดื่มของเหลวเฉลี่ยแล้วราวๆ วันละ 2 ลิตร ที่กล่าวว่าเป็นของเหลว เพราะสิ่งที่ดื่มนี้สามารถเป็นได้ทั้งน้ำเปล่า หรือแม้กระทั่งน้ำหวานในชิ้นผลไม้ก็ได้
และคนเชียปัสก็เลือก ‘โคคา–โคล่า’ ที่เปี่ยมไปด้วยน้ำตาลและคาเฟอีนเป็นดั่ง ‘น้ำดื่ม’ ในหนึ่งวัน!
การศึกษาของ Cimsur พบว่า คนทั่วโลกดื่มน้ำอัดลมเฉลี่ยอยู่ที่ 25 ลิตร ซึ่งเมื่อเทียบกับปริมาณโคล่าที่คนเชียปัสดื่มแล้ว คิดเป็นเพียง 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น พูดง่ายๆ คือในขณะที่คนทั่วโลก ‘ดื่ม’ แต่คนเชียปัสเหมือน ‘สูบ’ โคล่าอย่างไรอย่างนั้น
มาร์กอส อารานา (Marcos Arana) นักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์และโภชนาการแห่งชาติ อธิบายว่าเชียปัสเป็น ‘ศูนย์กลาง’ ของการบริโภคน้ำอัดลมมากที่สุดในเม็กซิโก โดยเฉพาะในภูมิภาคลอส อัลตอส ซึ่งผู้อยู่อาศัยส่วนใหญ่เป็นชนพื้นเมือง ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองและหมู่บ้านในชนบท
โคคา–โคล่า มีโรงงานบรรจุขวดใน ซาน คริสโตบัล เด ลาส กาซาส (San Cristóbal de las Casas) และถือเป็น ‘ยอดราชา’ ในตลาดน้ำอัดลมของภูมิภาคนี้ อ้างอิงจากการศึกษาของ Cimsur เหตุผลที่ โคคา–โคล่า ได้รับความนิยมอย่างมากในเชียปัส เป็นทั้งเพราะการตลาดที่เน้นโปรโมตด้วยภาษาพื้นเมือง (ส่วนใหญ่เป็นภาษามายัน) และเพราะความขาดแคลนน้ำสะอาดเพื่อบริโภค
ในปี 2018 หนังสือพิมพ์ The New York Times รายงานว่า หลายๆ หมู่บ้านในซาน คริสโตบัล เด ลาส กาซาส มีน้ำประปาใช้เพียงไม่กี่ครั้งต่อสัปดาห์ และหลายครัวเรือนถูกบังคับให้ซื้อน้ำเพิ่มจากรถบรรทุกน้ำมัน
‘ดังนั้น ผู้อยู่อาศัยจำนวนมากจึงดื่มโคคา–โคล่า ซึ่งหาได้ง่ายกว่าน้ำขวด และมีราคาถูกเกือบเท่ากัน’ รายงานกล่าว
ในทำนองเดียวกัน อารานาบอกกับ BBC Mundo ว่า “โคคา–โคล่า เป็นผลิตภัณฑ์ที่เข้าถึงได้ง่ายสุดในลอส อัลตอส เราต้องเดินไกลกว่านี้เพื่อซื้อตอร์ตียาหรืออย่างอื่น” เขากล่าว “คนขายมันเยอะเกินไป แถมไม่มีการควบคุม แถมยังลดราคาขายกันได้เยอะถึง 30 เปอร์เซ็นต์”
ในปี 2559 มีการค้นพบว่า 3 เปอร์เซ็นต์ ของทารกในเชียปัสได้รับโคคา–โคล่าจากมารดา ทั้งๆ ที่พวกเขาควรได้ดื่มน้ำนมแม่เท่านั้น
ไม่น่าแปลกใจเลยที่โรคเบาหวานจะเป็นปัญหาใหญ่ในเชียปัส โดย The New York Times รายงานว่า ในรัฐแห่งนี้จะมีผู้ป่วยโรคเบาหวานและเสียชีวิตด้วยโรคนี้เพิ่มขึ้นมากกว่า 3,000 คนทุกๆ ปี
ไฆเม ปาจ ปลิเอโก (Jaime Page Pliego) นักวิจัยของ Cimsur บอกกับ BBC Mundo ว่า เขาเคยได้ยินคนจากเมืองเตเนฮาปา (Tenejapa) บอกว่าที่นั่นไม่เคยมีปัญหาโรคเบาหวานและโรคหัวใจเลย จนมีการสร้างถนนซึ่งมันนำน้ำหวานและอาหารขยะเข้าไปที่นั่นง่ายขึ้น
น้ำอัดลม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โคคา–โคล่า ยังเข้ามามีบทบาทในศาสนาของชาวมายันพื้นเมืองในเชียปัส โดยกลายเป็น ‘ของไหว้เจ้า’ ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของชนพื้นเมืองบางกลุ่มด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพิธีกรรมการรักษา
ปัจจุบัน ชาวเมืองเตเนฮาปาเหมือนมีธรรมเนียมที่จะต้องดื่มโคล่า 2-3 ลิตรระหว่างพักรับประทานอาหารกลางวันหลังจากทำงานในทุ่งนาไปแล้ว หลายคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “ผมชอบดื่มโคล่า มันช่วยให้ผมอิ่มท้อง เวลาไม่ได้ดื่มก็จะรู้สึกอยาก ผมหยุดดื่มมันไม่ได้”
ไฆเมกล่าวว่า นี่เป็นเรื่องน่าเศร้ามากๆ เพราะแม้แต่คนที่เป็นเบาหวานยังเคยยอมรับว่าตัวเองยังดื่มโคล่าอยู่ต่อไป พวกเขาไม่สามารถจินตนาการถึงชีวิตโดยปราศจากน้ำอัดลมได้เลย
อ้างอิง
- Mexico News Daily. With average daily consumption of 2.2 liters of Coca-Cola, Chiapas leads the world. https://bit.ly/37TB76d