ใช้ ‘ถุงผ้า’ อาจไม่ได้หมายความว่ารักษ์โลก เพราะขั้นตอนผลิตมีผลต่อสิ่งแวดล้อมกว่าที่คิด

Bag l uhsplash
ภาพปลาในทะเลติดอยู่ในถุงพลาสติก หรือข่าววาฬตายเพราะกินถุงพลาสติกแล้วไม่ย่อยที่เห็นผ่านตาในสื่อทั่วโลกกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้หลายประเทศเห็นตรงกันว่า ‘ขยะพลาสติก’ เป็นปัญหาใหญ่ รัฐบาลต่างๆ พยายามรณรงค์ให้คนหันมาใช้ข้าวของทำจากวัสดุธรรมชาติกันมากขึ้น รวมถึง ‘ถุงผ้า’ เพื่อลดปริมาณถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือประเทศแถบยุโรปและอเมริกาเหนือที่บังคับใช้นโยบายงดแจกถุงพลาสติกฟรีในห้างร้านต่างๆ เช่นเดียวกับไทยที่ใช้แนวทางเดียวกันนี้มาตั้งแต่ปี 2020 ทำให้การใช้ถุงผ้าเป็นเรื่องปกติในยุคนี้
แต่หลายประเทศก็หันมาตั้งคำถามว่าการใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติกเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ได้ผลที่สุดจริงหรือไม่ หลังจากที่รายงานหลายชิ้นบ่งชี้ว่ากระบวนการผลิตถุงผ้ากระทบสิ่งแวดล้อมไม่น้อยเลยเช่นกัน
เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา The Independent อ้างอิงรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับอุตสาหกรรมฝ้ายที่จัดทำโดยองค์กรด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน The Circula Laboratory ย้ำว่าฝ้ายที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตถุงผ้า ต้องใช้น้ำในปริมาณมหาศาลในกระบวนการผลิต เพราะรวมทั้งการเพาะปลูก เก็บเกี่ยว คัดสรร และนำไปแปรรูป
รายงานชิ้นนี้ระบุด้วยว่า การผลิตฝ้าย 1 กิโลกรัมต้องใช้น้ำประมาณ 10,000 – 20,000 ลิตร ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติค่อนข้างมาก และอาจไม่สมดุลจนส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกพืชที่เป็นอาหาร
ขณะที่ Mental Floss อ้างอิงผลการวิจัยในปี 2011 พบว่าการผลิตกระเป๋าหรือถุงผ้าฝ้ายหนึ่งใบจะทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ เฉลี่ย 598.6 ปอนด์ หรือประมาณ 271.5 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตถุงพลาสติก 1 ใบที่มีค่าเฉลี่ย 3.48 ปอนด์ หรือประมาณ 1.57 กิโลกรัม ก็ถือว่าการผลิตถุงผ้าปล่อยก๊าซที่มีผลต่อภาวะโลกร้อนมากกว่าการผลิตถุงพลาสติกเสียอีก
หลายคนอาจจะสงสัยว่าถ้าอย่างนั้นก็ควรจะใช้ถุงพลาสติกต่อไปไม่ดีกว่าหรือ? ก็มีคำตอบจากรายงานของกระทรวงสิ่งแวดล้อมและอาหารของเดนมาร์ก ที่เผยแพร่ออกมาตั้งแต่ปี 2018 ยืนยันว่าการใช้ถุงผ้า (แต่ต้องย้ำว่า ‘ถุงผ้าฝ้ายออร์แกนิก’ เท่านั้น) มีผลดีต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว แม้ว่ากระบวนการผลิตจะเป็นเหตุให้เกิดก๊าซคาร์บอนมากกว่าก็ตาม แต่ถุงผ้าช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกได้จริงหากผู้บริโภคใช้ซ้ำไปจนถึงจุดที่คุ้มค่าต่อการผลิต
ประเด็นต่อมาก็เลยเป็นคำถามว่า ต้องใช้ถุงผ้าฝ้ายนานแค่ไหนจึงจะไปถึงจุดคุ้มค่านั้น ซึ่งรายงานของรัฐบาลเดนมาร์กก็ประเมินไว้คร่าวๆ ว่าจะต้องใช้ซ้ำอย่างน้อย 20,000 ครั้งถึงจะคุ้มกับรอยเท้าคาร์บอน (carbon footprint) ที่เกิดขึ้นมาระหว่างขั้นตอนการผลิต
สิ่งที่น่ากังวลก็คือคนส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ถุงผ้าซ้ำๆ บ่อยขนาดนั้น และหลายคนก็มีถุงผ้ามากกว่าหนึ่งใบ ขณะที่ถุงผ้าหนึ่งใบก็ไม่ได้เป็นผ้าออร์แกนิกเสมอไป แต่กลับมีเส้นใยสังเคราะห์เป็นส่วนผสม รวมถึงวัสดุอุปกรณ์ที่ไม่ย่อยสลายอื่นๆ ที่ใช้ประดับตกแต่ง ซึ่งต้องตัดทิ้งเวลานำผ้าเหล่านี้ไปรีไซเคิลหรือทำลาย
การใช้ถุงผ้าให้เกิดประโยชน์สูงสุดเมื่อเทียบกับทรัพยากรที่เสียไป จึงได้แก่การ ‘ใช้ซ้ำ’ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และไม่ควรเพิ่มจำนวนถุงผ้าในครอบครองให้เกินความจำเป็น
อ้างอิง
- The Independent. Cotton tote bags not environmentally-friendly due to overproduction, says report. https://bit.ly/3pmVY6n
- Mental Floss. Why Your Canvas Tote Could Be Just as Bad for the Environment as a Plastic Bag. https://bit.ly/3xMHdOf
- Metro. Are tote bags bad for the environment? Why reusables can be problematic. https://bit.ly/31iAyz8
- Thailand Environment Institute. ขยะพลาสติกพุ่งกว่า 60 % ในช่วงโควิด -19. https://bit.ly/31ivNWF