ในงานเปิดบ้าน BrandThink: Tomorrow is Now หนึ่งในไฮไลต์สำคัญของงานคือการเปิดเวทีเสวนาถึงปัญหาหนังไทยอย่างเผ็ดร้อนและจริงจัง ภายใต้ชื่อ Cinema ThinkBowl อีกหนึ่งรายการภายใต้การ BrandThink Cinema ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดำเนินรายการโดย ‘ต๊ะ’ จักรพันธุ์ ขวัญมงคล บรรณาธิการบริหารของ BrandThink มาเปิดโต๊ะพูดคุย
โดยประเด็นที่พูดถึงในงานนี้มาในชื่อ ‘หนังไทยยังไหวมั้ย’ เพื่อสะท้อนภาพของวงการหนังไทยในปัจจุบันผ่าน 4 ฟิล์มเมกเกอร์ของวงการหนังไทย ได้แก่ ‘ต้อม’ เป็นเอก รัตนเรือง, ‘ทองดี’ โสฬส สุขุม, ‘โต้ง’ บรรจง ปิสัญธนะกูล และ ‘นุชชี่’ อนุชา บุญยวรรธนะ
การสนทนาเริ่มต้นด้วยการมองการเปลี่ยนแปลงของวงการหนังไทยในรอบ 10 ปี โดยเป็นเอกได้เล่าถึงพัฒนาการของจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการภาพยนตร์ไทยในยุคต่างๆ ไล่เลียงตั้งแต่ยุคดาราเป็นศูนย์กลาง ไปจนถึงตัวผู้กำกับฯ เป็นจุดขาย ขยับขยายจนสตูดิโอกลายเป็น Brand Royalty สำคัญอย่าง GDH สตูดิโอที่กำหนดทิศทางสำคัญให้กับวงการภาพยนตร์ไทยก่อนที่วงการจะพังทลายลงเพราะโควิด
ในขณะที่บรรจงก็ได้พูดถึงการมาของสตรีมมิ่ง ซึ่งทำให้พฤติกรรมคนดูเปลี่ยนไปจนน่ากลัว และเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญของยุคสมัย
ส่วนอนุชาก็ได้ชวนถกว่าปัญหาของหนังไทยอยู่ที่ทุน ซึ่งโมเดลที่น่าสนใจคือการ Co-Production รวมไปถึงการร่วมมือของหน่วยงานรัฐ แนวหนังที่ตลาดโลกสนใจก็คือหนังผี และมาแรงที่สุดคือหนังแนว LGBTQ+ ที่ตลาดโลกโดยเฉพาะอเมริกาใต้สนใจอย่างมีนัยสำคัญ
ขณะที่ทองดี ในฐานะโปรดิวเซอร์ที่หาทุนมาซัพพอร์ตหนังทุนต่ำ ก็เผยว่าการหาทุนในยุคนี้ยากมาก ยิ่งพอเป็นหนังอิสระก็ยิ่งยากไปกันใหญ่ ต้องวัดกันว่าคอนเทนต์ใครน่าสนใจ ซึ่งคาดเดาอะไรไม่ได้เลย เพราะถึงแม้ว่าจะหานายทุนได้ แต่ก็ไม่สามารถรับรองได้เลยว่าจะคืนทุนได้ไหมในยุคที่คนเข้าโรงหนังน้อยลง
แน่นอนว่า การแก้ไขปัญหาของทางภาครัฐเองก็เป็นเรื่องที่สำคัญ โดยอนุชาพยายามผลักดันวาระนี้ให้กับพรรคการเมืองมาโดยตลอด รวมไปถึงการจัดสรรงบจากกระทรวงที่มีปัญหาเสมอมา โดยบรรจงเสริมว่า รัฐมักจะชอบเลือกผลักดันหนังทุนสูงมากกว่า ทั้งที่ความจริงแล้ว หนังเล็กๆ ต่างหากที่ต้องการทุนจัดสรร
บรรจงยังกล่าวว่า คนดูเองก็เป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้บรรยากาศของการดูหนังยุคนี้เกิดปัญหาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แม้การมาของสตรีมมิ่งจะช่วยผลักดันให้หนังเองมีที่ทางมากขึ้น แต่ก็ทำให้พฤติกรรมของคนดู เลือกความสะดวกสบายในการรอดูสตรีมมิ่งมากกว่าในโรง โดยเป็นเอกเสริมว่า ความสะดวกสบายได้ไปทำลายบรรยากาศของการชมภาพยนตร์ เพราะสามารถเร่งสปีด หยุด หรือทำอย่างอื่นไปพร้อมกับการดูได้ จนทุกอย่างมันกลายเป็นคอนเทนต์ไปหมดเมื่ออยู่ในฟอร์แมตเดียวกัน
ทองดียังสงสัยว่า ในช่วงวิกฤตขนาดนี้ คนที่ได้รับผลกระทบที่สุดอย่างโรงหนังกลับไม่มีทีท่าที่จะต่อสู้อะไรเลย โดยเลือกไปที่การลดราคาตั๋วหนัง ซึ่งยิ่งทำให้คนดูหนังยิ่งไม่ร้อนรนที่จะดูหนังรอบแรกๆ ไปกันใหญ่ เข้าใจว่าโรงหนังทำธุรกิจ แต่การทำหนังก็ถือว่าเป็นธุรกิจเช่นกัน
ประเด็นการเซ็นเซอร์ก็เช่นกัน ที่แม้ว่าการจัดเรตติ้งก็มีแล้ว แต่ทำไมถึงยังต้องมีการเซ็นเซอร์อยู่อีก ซึ่งการเซ็นเซอร์ก็ถือเป็นปัญหาเรื้อรังที่แก้ไม่หาย
ทิ้งท้ายกันที่คำถามที่เป็นหัวใจหลักของการสนทนาครั้งนี้ นั่นคือคำว่า “หนังไทยยังไหวมั้ย” ผ่านการเสวนากว่าหนึ่งชั่วโมง ฟิล์มเมกเกอร์ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไม่ไหวก็ต้องไหว” โดยตลอดการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยในวงการหนังไทย พบว่าหนังไทยเผชิญหน้ากับปัญหานานัปการ เพราะถึงจะแก้ปัญหาเก่าได้ แต่เดี๋ยวปัญหาใหม่ก็ตามมาอีก เพราะฉะนั้นจึงต้องเตรียมตั้งรับกับปัญหา และผู้สร้างเองก็ต้องมีความแข็งแกร่งเตรียมพร้อมที่จะเผชิญหน้าปัญหาอยู่ตลอดเวลา
แม้ท้ายที่สุดคำถามนี้จะยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน แต่ BrandThink Cinema ก็อยากจะขอเป็นกำลังใจให้นักทำหนังไทยทุกคนได้ก้าวข้ามอุปสรรคทุกอย่างได้โดยเร็ววัน
‘ต้อม’ เป็นเอก รัตนเรือง ผู้กำกับและนักเขียนบทภาพยนตร์ชาวไทยวัย 61 ปี หนึ่งใน Speaker ของงานเสวนา ThinkBowl Cinema: หนังไทยยังไหวมั้ย? แชร์ความคิดเห็นเกี่ยวกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ณ กิจกรรมเปิดบ้าน BrandThink: Tomorrow is Now อยู่หลากหลายประเด็น
หนึ่งในประเด็นที่จะตอบคำถามสำคัญว่า หนังไทยยังไหมมั้ย? เป็นเอกเน้นย้ำว่า ภาครัฐต้องแก้ไขให้ถูก และคลายปัญหาให้ถูกปม โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการผลักดันหนังไทยของภาครัฐที่ต้องหันกลับมาช่วยเหลือหนังที่มีกำลังน้อยให้มีแรงก้าวต่อไป ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลก็ตาม จะต้องตั้งใจ และเข้ามาทำความเข้าใจ เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน
“นักการเมืองพวกนี้ไม่ใช่คนโง่ ไม่งั้นเขามาปกครองประเทศไม่ได้หรอก ถ้าเขามีความตั้งใจจะแก้ไขปัญหาให้ถูกจุด จริงๆ ถึงจะไม่เก็ตก็ไม่เป็นไร เขาไม่ได้อยู่ในสายงานแบบนี้ เพราะเขาเป็นนักการเมือง ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร และไม่ใช่เรื่องที่ควรไปด่าเขา
“แต่ว่าเขาต้องมีความเต็มใจที่จะเข้ามาทำงาน ในเมื่อพวกกูพูดเรื่อง Soft Power กันทุกวัน ถ้าคุณพูดอย่างนี้ ก็ต้องมีความตั้งใจ เรามาทำความเข้าใจว่าปัญหาคืออะไร
“ถ้าเขาตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาให้ถูกจุดภายใน 4 ปีนี้ อย่างประเทศที่เจริญแล้ว และเขาเห็นว่า ภาพยนตร์ไม่ใช่แค่สื่อบันเทิง แต่มีความเป็นศิลปะด้วย และทำให้เห็นชีวิตผู้คนได้
“องค์กรของประเทศพวกนี้ เวลาที่เขาต้องไปผลักดันหนังของประเทศตัวเอง เขาจะเลือกผลักดันหนังทางเลือก หรือหนังอิสระมากกว่าหนังเมนสตรีม เพราะหน้าตามันใหญ่ มันได้เงินอยู่แล้ว แต่ของเราตรงกันข้าม เวลาไปตั้งที่เทศกาลหนังใหญ่ๆ ทางเดินเข้าบูธ…สุริโยไทก่อนเลย ผมไม่ได้ว่าหนังสุริโยไทนะ เป็นหนังดี แต่เขาไม่ได้ต้องการความช่วยเหลือเบอร์นั้น
“พวกผู้กำกับรางวัลออสการ์ของเกาหลีทั้งหลาย บอง จุน-โฮ หรือ ปาร์ค ชาน-วุค เมื่อก่อนเขาทำหนังแบบ Insects in the Backyard แล้วรัฐบาลเขาผลักดันหนังพวกนี้ ไม่ใช่โปรไฟล์ของผู้กำกับที่ทำหนังคอมเมอร์เชียลได้ 100 ล้านอยู่แล้ว ไม่ได้พูดว่าหนัง 100 ล้านมันไม่มีคุณค่า แต่ถ้าคุณต้องเลือกเพราะมีทุนและเวลาจำกัด เราต้องยื่นมือให้กับคนที่เขาหิว เขาสกปรก ตัวเหม็น และต้องอาบน้ำไหม”
นอกจากประสบการณ์จากปากคนทำหนังไทยที่ดุ เด็ด เผ็ด มัน จากผู้กำกับรุ่นใหญ่อย่าง ‘ต้อม เป็นเอก’ ในการเสวนา ThinkBowl Cinema: หนังไทยยังไหวมั้ย? ครั้งนี้ ยังมีการแชร์ความคิดเห็นที่น่าสนใจจากผู้กำกับท่านอื่น ไม่ว่าจะเป็น ‘ทองดี’ โสฬส สุขุม, ‘โต้ง’ บรรจง ปิสัญธนะกูล และ ‘นุชชี่’ อนุชา บุญยวรรธนะ อีกด้วย
‘นุชชี่’ อนุชา บุญยวรรธนะ นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยคนที่ 8 และผู้กำกับภาพยนตร์ไทยอย่าง มะลิลา (2018) และ อนธการ The Blue Hour (2015) หนึ่งใน Speaker ของงานเสวนา ThinkBowl Cinema: หนังไทยยังไหวมั้ย? แชร์ความคิดเห็นเกี่ยวกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ณ กิจกรรมเปิดบ้าน BrandThink: Tomorrow is Now อยู่หลากหลายประเด็น
หนึ่งในประเด็นที่จะตอบคำถามสำคัญว่า หนังไทยยังไหมมั้ย? นุชชี่เน้นย้ำว่า ต้องแก้ไขปัญหาทุกจุดของวงการให้ได้ ตั้งแต่เรื่องของเงินทุน คุณภาพชีวิตของคนในอุตสาหกรรม นโยบายจากภาครัฐอย่างการเซ็นเซอร์หนัง การให้พื้นที่กับหนังอิสระ การขายหนังในต่างประเทศอย่างมีวิสัยทัศน์ รวมถึงพื้นที่การฉายหนังไทยที่ต้องมีอย่างเพียงพอ
“มันเหมือนหนังไทยมีปัญหาทุกจุด ให้นึกภาพอย่างนั้นก่อน
“วงการหนังไทยมีปัญหาตั้งแต่คนทำที่ขาดเงินทุน เรื่องถัดมาเรามีเซ็นเซอร์ เราต้องทำให้ชัดเจนว่า แต่ละพรรคการเมืองหรือภาครัฐเขามีความชัดเจนกับนโยบายนี้ยังไง
“เงินทุนส่งผลกระทบทั้งหมด ทั้งเรื่องคุณภาพ เรื่องชั่วโมงการทำงาน เราได้รายได้ที่พอกลับมาเลี้ยงชีพหรือเปล่า และได้รายได้มากพอที่จะทำงานให้ผลงานออกมามีคุณภาพหรือเปล่า เราอาจต้องพิจารณาปัญหาทั้งหมดเพื่อจะได้ยกระดับวงการหนังไทยขึ้นมา
“อย่างเรื่องของคนทำ ก็จะมีเรื่องของคนทำหนังอิสระด้วย เพราะเราจะบอกภาครัฐไปว่า หนังอิสระเหมือนเป็นสิ่งที่ทำให้มีคนทำหน้าใหม่ๆ เข้ามาแทนที่คนเก่าในวงการ หรือเป็นพื้นที่การทดลองในแขนงศิลปะภาพยนตร์ และทดลองทำประเด็นการเล่าเรื่องใหม่ๆ ซึ่งทำออกมาแล้วอาจดูเหมือนว่า ทำไมสร้างออกมาก็ไม่มีคนดู ทำแล้วก็เจ๊ง แต่ว่ามันต้องทำ มันต้องทำเอาไว้ เพราะถ้าไม่ทำหนังก็จะไม่พัฒนา
“และเรื่องของการขายหนัง จะขายยังไงเพื่อสนับสนุนให้หนังไทยขายต่างประเทศได้เยอะๆ เพื่อให้ได้รายได้ที่มากขึ้น เราจะ point ไป 2 จุด อย่างแรกคือหนังสยองขวัญหรือแนว LGBTQ+ ที่ควรจะขายนำร่องไปก่อน
“รวมถึงเรื่องการฉายในโรงภาพยนตร์ว่า มันมีเรื่องการผูกขาดไหม มีความเป็นธรรมไหม
“เราต้องพิจารณาเรื่องโควตาพื้นที่ฉายให้ภาพยนตร์ไทยว่าจะให้สัดส่วนระหว่างหนังต่างประเทศกับหนังไทยฉายยังไง ต้องมีสัดส่วนที่กำหนดอย่างแน่นอนไหม เพื่อปกป้องภาพยนตร์ไทยให้อย่างน้อยๆ แล้วได้มีพื้นที่ฉาย ถึงเรามีทุนสู้เขาไม่ได้ แต่ถ้ามีพื้นที่ฉาย ก็อาจจะทำให้เราแข่งขันกับเขาได้”
นอกจากประสบการณ์จากปากคนทำหนังไทยจากผู้กำกับอย่าง ‘นุชชี่ อนุชา’ ในวงเสวนา ThinkBowl Cinema: หนังไทยยังไหวมั้ย? ครั้งนี้ ยังมีการแชร์ความคิดเห็นที่น่าสนใจจากผู้กำกับท่านอื่น ไม่ว่าจะเป็น ‘ทองดี’ โสฬส สุขุม, ‘โต้ง’ บรรจง ปิสัญธนะกูล และ ‘ต้อม’ เป็นเอก รัตนเรือง อีกด้วย
ที่พูดกันเล่นๆ ว่า “หนังไทยยังไหวมั้ย” จริงๆ ตอบได้ง่ายมากเลยว่า “ไม่ไหวแล้ว” ‘โต้ง’ บรรจง ปิสัญธนะกูล
‘โต้ง’ บรรจง ปิสัญธนะกูล ผู้กำกับระดับบิ๊กเนม ที่มีหนังทำเงินระดับพันล้านในมืออย่าง ‘พี่มากพระโขนง’ หรือหนังสร้างชื่อเรื่องแรกที่ได้รับการตอบรับจากคนดูหนังและนักวิจารณ์ทั่วโลกจนฮอลลีวูดยังต้องขอไปรีเมกอย่าง ‘ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ’ รวมไปถึงหนังร่วมทุนสร้างระหว่างไทยกับเกาหลีในหนัง ‘ร่างทรง’ แม้ด้วยผลงานส่วนมากในชีวิตการทำงานของเขาจะการันตีทั้งรายได้และคำวิจารณ์ แต่เมื่ออยู่บนเวทีสนทนา หัวข้อ ‘ThinkBowl Cinema: หนังไทยยังไหวมั้ย?’ หนึ่งในกิจกรรมงานเปิดบ้าน BrandThink: Tomorrow is Now โต้ง บรรจง ก็แสดงความเหนื่อยล้าอยู่ดี แม้จะดูเป็นการหยอดมุกเล่นๆ ก็ตาม
หนึ่งในประเด็นสำคัญที่โต้งกล่าวถึง คือการมาของสตรีมมิ่งที่เป็นการทุบระบบนิเวศเดิมๆ ของนักดูหนังที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการชมภาพยนตร์ในโรงอีกต่อไป แต่โต้งก็กล่าวว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่นักทำหนังทั่วทั้งโลกเองต่างก็เผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงนี้เช่นกัน ย้อนกลับมาที่ไทย โต้งมองผ่านกรอบของผลงานตัวเอง ทั้งในฐานะผู้กำกับ และการเป็นโปรดิวเซอร์ การตลาดในยุครุ่งเรืองนั้นไม่อาจจะใช้ได้ผลแล้วในยุคนี้ ยิ่งตลาดหนังที่วัยรุ่นเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนวงการภาพยนตร์ในฐานะกลุ่มเป้าหมายใหญ่ที่มาอุดหนุนภาพยนตร์นั้น ในตอนนี้ถูกแชร์ด้วยอีเวนต์ และสตรีมมิ่งที่อยู่ในมือเขาไปแล้วเรียบร้อย
อีกกรณีหนึ่งที่ตัวโต้งค่อนข้างกังวล คือพฤติกรรมการเสพสื่อของคนยุคนี้ที่เปลี่ยนไป การเชื่อใน Influencer สายที่ด่าหนังเอามัน จนลืมเข้าใจในหัวจิตหัวใจคนทำงาน เหล่านี้ก็มีส่วนทำให้วงการหนังไทยกำลังอยู่ในภาวะจมน้ำอยู่ไม่ใช่น้อย
รวมไปถึงการช่วยเหลือจากภาครัฐที่ดูจะไม่เกื้อหนุนหรือสนับสนุนวงการหนังไทยเท่าที่ควร โดยโต้งเทียบจากประสบการณ์การทำงาน และการเดินสายจากเทศกาลต่างๆ เขากลับพบว่าการสนับสนุนจากภาครัฐในประเทศนั้นให้ค่ากับภาพยนตร์ต่างประเทศมากกว่า
ดังนั้นการพูดคำว่าไม่ไหวแล้ว ออกจากปากของฟิล์มเมกเกอร์สายเมนสตรีม น่าจะเป็นสัญญาณที่น่ากังวลว่า คำว่า ‘หนังไทยยังไหวมั้ย?’ อาจจะไม่ไหวจริงๆ แล้วก็เป็นได้
นอกจากประสบการณ์จากปากคนทำหนังไทยที่ดุ เด็ด เผ็ด มัน จากตัวของ ‘โต้ง’ บรรจง ปิสัญธนะกูล แล้ว ในการเสวนา ThinkBowl Cinema: หนังไทยยังไหวมั้ย? ครั้งนี้ ยังมีการแชร์ความคิดเห็นที่น่าสนใจจากผู้กำกับท่านอื่น ไม่ว่าจะเป็น ‘ต้อม’ เป็นเอก รัตนเรือง, ‘ทองดี’ โสฬส สุขุม และ ‘นุชชี่’ อนุชา บุญยวรรธนะ อีกด้วย
‘ทองดี’ โสฬส สุขุม ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ หนึ่งใน Speaker ของงานเสวนา ‘ThinkBowl Cinema: หนังไทยยังไหวมั้ย?’ แชร์ความคิดเห็นเกี่ยวกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ณ กิจกรรมเปิดบ้าน BrandThink: Tomorrow is Now อยู่หลากหลายประเด็น
หนึ่งในประเด็นที่จะตอบคำถามสำคัญว่า หนังไทยยังไหมมั้ย? ทองดี โสฬส เน้นย้ำว่า เงินทุนที่หาได้ยากในประเทศไทยส่งผลอย่างมากต่อทั้งองคาพยพของการทำหนัง และสภาพของการหาทุนทำหนังไทยก็ถือเป็นเรื่องยากแบบนี้มานานแล้ว แต่ในปัจจุบันกลับยิ่งยากเย็นกว่าเดิมเพราะการเข้ามาของแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง และจำนวนโรงฉายที่ให้รอบน้อยลง ซึ่งส่งผลต่อการคาดเดางบประมาณที่ต้องใช้ในการทำหนังหนึ่งเรื่องด้วย
“สำหรับเราหนังอิสระหรือหนังอินดี้ มันไม่ใช่หนังอาร์ตนะ แต่เป็นหนังที่ไม่ได้ทำกับระบบสตูดิโอ หรือไม่ได้เป็นหนังที่สตูดิโอคิดว่ามันขายได้ เพราะฉะนั้น เราเลยต้องไปหาทุนกันเอง
“อย่างที่นุชชี่บอก บ้านเรามีทุนแต่ไม่สม่ำเสมอ หรืออาจไม่มีทุนสนับสนุน เราก็เลยต้องไปหาเอง เราก็เพิ่งคุยกับพี่ต้อม เป็นเอก ว่า ไอ้เรื่องความยากลำบาก ส่วนตัวเราที่ทำหนังอิสระกันมา โดยสภาพมันลำบากอยู่แล้ว
“แต่มันก็มีข้อดีนะครับ คือถ้าสมัยก่อนเราทำหนังอิสระ เพื่อเป็นทางเลือก คือมันยากลำบากแหละ แต่เราก็พยายามหาทางเลือกอื่นๆ สมมติทุกคนดูหนัง GDH ซึ่งเป็นข้อดีอยู่แล้ว และเป็นมาตรฐานของอุตสาหกรรม แต่อาจมีคนอยู่ 10 เปอร์เซ็นต์ที่อยากดูหนังอย่างอื่น เราเลยทำหนังอินดี้ออกมาได้ เราว่า ข้อดีสมัยนี้คือ แม้แต่สตูดิโอใหญ่ ทุกคนหลังชนกำแพงหมด ไม่รู้เลยว่าอะไรจะโดนใจคน
“ถ้าตอนนี้เราทุกคนบนเวทีทำหนังอะไรก็ได้ออกมา เราไม่มีทางคาดเดาได้เลยว่าอะไรจะโดนใจคน ถ้าไม่รวมหนังบล็อกบัสเตอร์ใหญ่ๆ นี่อาจเป็นข้อดีของการหาทุนในประเทศ ที่เขาอาจกล้าเสี่ยงมากขึ้น ถ้าเขายังอยากทำหนัง
“แต่ข้อเสีย สมมติหนังอิสระกลับมาหาทุนในเมืองไทย แต่ก่อนจะมีในแง่สปอนเซอร์ จะมีนายทุนที่เรียกว่า Private Invester เราจะพอเดายอดได้ว่า หนังที่เราทำอาจต้องหาเงินสัก 5-6 ล้าน ฉะนั้นหนังทุนสร้างประมาณ 10 ล้าน เราก็ต้องหาทุนเมืองนอกที่เป็น Seat Fund เป็นทุนให้เปล่า ที่เหลือเราอาจขอนายทุนอิสระอีกสัก 3 ล้านเพื่อเอามาทำหนัง
“สิ่งหนึ่งที่เป็นมานานแล้วคือ โรงหนังอาจให้รอบฉายน้อย ทำให้ตอนนี้เราอาจคาดเดาไม่ได้มากขนาดนั้นว่า จริงๆ แล้วหนังที่เราทำจะได้ถึง 3 ล้านหรือเปล่า ซึ่งอาจเกิดจากระบบสตรีมมิ่งและเรื่องโรงฉายด้วย”