The Flash การแก้ไขมิติเวลา และการถวิลหาของนักดูหนังคลั่งอดีต

The Flash การแก้ไขมิติเวลา และการถวิลหาของนักดูหนังคลั่งอดีต

2 Min
552 Views
25 Jun 2023

จะด้วยความล่าช้าของการเข้าฉาย หรือต้องถ่วงเวลาเพื่อให้คนลืมพฤติกรรมของตัวนักแสดงนำของเรื่องก็ตามแต่ แต่การมาของหนัง ‘The Flash’ ที่แทบจะเกาะท้ายขบวนเทรนด์มัลติเวิร์สซึ่งเคยว้าว แต่ตอนนี้กลับรู้สึกว่าธรรมดา ก็อาจจะลดทอนความรู้สึกที่มีต่อหนังได้พอสมควร ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วหากจะยึดตามไทม์ไลน์ของมัน The Flash น่าจะได้ฉายในช่วงเวลาที่เหมาะสม และน่าจะเป็นหนึ่งในโปรเจกต์อันเลอค่าของ Warner Bros. และ DC Studio ที่พร้อมจะขยายขอบเขตดังเช่นที่ทำสำเร็จกับตัวละครอย่าง Batman, Superman หรือ Wonder Woman

แต่สุดท้าย หนังก็พาตัวเองไปสู่ความล้มเหลวทางรายได้ จนนำไปสู่ความน่าเสียดายที่ไปไม่ถึงฝั่งฝัน แต่หากจะบอกว่าหนัง The Flash นั้นล้มเหลวในเชิงคุณภาพ ก็อาจจะพูดได้ไม่เต็มปากสักเท่าไหร่

หนังไม่เสียเวลาในการปูทางอะไรมากมาย เพราะ The Flash เองก็มีทั้งในรูปแบบซีรีส์ และรูปแบบหนังที่ถูกรวมเรื่องอยู่ใน Justice League (2017) อยู่แล้ว หนังฉายถึงบุคลิกของ แบร์รี อัลเลน (รับบทโดย เอซรา มิลเลอร์) หนุ่มเนิร์ดที่แม้อีกด้านจะเป็น The Flash สุดเกรียน แต่อีกด้านเขาก็ต้องแบกรับความทุกข์อันแสนสาหัสที่ต้องเห็นแม่ตายต่อหน้า และพ่อต้องมาเป็นแพะในข้อหาฆาตกรรมภรรยาตัวเอง แบร์รีหมกมุ่นอยู่กับการพยายามช่วยพ่อเพื่อหาหลักฐานยืนยันว่า ตัวพ่อของเขาไม่ได้อยู่ในเหตุฆาตกรรมนั้นมาโดยตลอด

จนกระทั่งเขาได้ค้นพบการเดินทางข้ามมิติแห่งกาลเวลา ที่สามารถนำพาให้เขาสามารถหยุดยั้งการตายของแม่เขาได้ และนั่นก็นำไปสู่การค้นพบโลกที่แตกต่าง ที่ไม่เพียงประวัติศาสตร์ที่เปลี่ยนไปเท่านั้น แต่เค้าโครงของเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์แปรผกผันให้แบร์รีได้พบเจอคนที่เคยสนิทใจ แต่กลายเป็นคนแปลกหน้าไปเสียอย่างงั้น หนึ่งในนั้นก็คือ บรูซ เวย์น ที่เป็นคนละคนกับที่อยู่ในมิติของเขา

และนั่นก็เปิดโอกาสให้คนดูได้ดื่มด่ำความรู้สึกถวิลหา เมื่อได้เห็นหน้าแบทแมนในเวอร์ชันที่เขาได้ดูในตอนเด็ก ไม่เพียงเท่านั้น หนังยังเรียกความทรงจำดีๆ มากมายจากคลังของ Warner ที่ทำการ replace ประวัติศาสตร์ซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับซูเปอร์ฮีโร่มากมาย ก็ทำให้คนดูได้ซาบซึ้งกับการได้เห็นการรวมมิตรของคาแรกเตอร์ที่เราได้ชมในอดีต ดังเช่นที่คนดูเคยประทับใจกับ ‘Spider-Man: Far From Home’ มาแล้ว แต่อาจจะรุ่นใหญ่กว่า (ใครเกิดทัน Batman เวอร์ชัน ไมเคิล คีตัน ก็ไม่น่าจะเด็กแล้ว) จึงทำให้ The Flash อาจจะดูเสียเปรียบไปสักหน่อย ไปจนถึงความรู้สึกที่แม้ศูนย์กลางของเรื่องจะเป็น The Flash และมีถึง 2 คน จาก 2 มัลติเวิร์ส แต่ความรู้สึกที่ได้ดูกลับทำให้รู้สึกว่าเขาเป็นเพียงนักแสดงสมทบมากกว่าตัวนำ แต่อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า ท้ายที่สุดคนดู (รุ่นใหญ่) น่าจะได้ดื่มด่ำกับบรรยากาศการถวิลหาอดีตจากนักแสดงรับเชิญมากมาย เพื่อตอกย้ำถึงความศักดิ์สิทธิ์ของซูเปอร์ฮีโร่เหล่านี้บนจอภาพยนตร์มากกว่า

ที่น่ากล่าวถึงพอๆ กันคือ สารที่หนังเรื่องนี้กล่าวถึง นั่นคือเงื่อนไขของกาลเวลาที่แม้เราจะสามารถเปลี่ยนแปลงมันได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าท้ายที่สุดมันจะลงเอยได้อย่างราบรื่น อดีตอันเลวร้ายเป็นเพียงบาดแผลเพื่อตอกย้ำ และเป็นบทเรียนให้เราเลี่ยงเดินทางอื่นเพื่อไม่ให้ซ้ำรอยที่ผิดพลาดในอดีต ซึ่งข้อนี้ Warner Bros. เองก็คงพยายามที่จะแก้ไขอดีตจากพฤติกรรมอันเหลือทนของ เอซรา มิลเลอร์ เช่นกัน แต่มันก็สายเกินจะแก้ไปเสียแล้ว เลยอยากไปเห็นอีกมิติหนึ่งที่ The Flash ได้ฉายในช่วงเวลาอันเหมาะสม นักแสดงนำไม่มีข่าวฉาวติดตัวมา แล้วผลลัพธ์ของหนังเรื่องนี้จะอยู่ที่ตรงไหน