คำกล่าวรับรางวัลที่ถูกตัดทิ้ง ทำให้มีคนตั้งคำถามกับ ‘ชมรมวิจารณ์บันเทิง’

3 Min
335 Views
10 Jan 2022

หากใครที่ติดตามความเคลื่อนไหวในแวดวงภาพยนตร์ไทยมาอย่างต่อเนื่อง อาจจะทราบกันดีถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากกรณีเมื่อวันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมา ที่ทางเพจเฟซบุ๊ก ‘ชมรมวิจารณ์บันเทิง’ มีการเผยแพร่คลิปบรรยากาศงานประกาศรางวัลภาพยนตร์ไทยยอดเยี่ยม ซึ่งถูกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2564 ณ ลิโด้ คอนเนคท์ โรงภาพยนตร์ที่ 2 เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ โดยมีอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในงานครั้งนี้

คลิปข้างต้น (https://bit.ly/3t2V0jl) มีความยาวราว 1 ชั่วโมง 5 นาที โดยเป็นการถ่ายทอดการประกาศผลและมอบรางวัลในสาขาต่างๆ แต่หลังจากเผยแพร่ออกมาไม่นานก็มีผู้คนจำนวนมากพากันแชร์ ตลอดจนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการตัดทอนบางตอนของงานออกจากคลิป ซึ่งนั่นก็คือช่วงกล่าวขอบคุณบนเวทีของกลุ่มคนทำงานที่ได้รับรางวัลภาพยนตร์สาขาต่างๆ บนเวที โดยเป็นการตัดทิ้งเกือบทั้งหมด ยกเว้นสปีชของ นก-สินจัย เปล่งพานิช ที่ขึ้นรับรางวัลแทน ‘หม่อมน้อย’ หรือ ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล ซึ่งได้รับรางวัลเกียรติคุณประจำเวที

มีผู้ตั้งคำถามท้ายคลิปงานมอบรางวัลดังกล่าวในเพจของชมรมวิจารณ์บันเทิง โดยหลายคนสงสัยว่าเพราะเหตุใดการกล่าวขอบคุณบนเวทีของผู้ที่ได้รับรางวัลสาขาอื่นๆ จึงถูกตัดทิ้งทั้งหมด เหลือแต่คำกล่าวของสินจัย แม้แต่ผู้ได้รับรางวัลใหญ่อย่างภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยมก็ถูกตัดทิ้ง จึงมีผู้เรียกร้องให้ทางชมรมวิจารณ์บันเทิงชี้แจงเหตุผลที่ตัดเนื้อหาส่วนดังกล่าวออกไป

หลังจากนั้นไม่นาน ‘เบสท์-วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย’ แห่ง Eyedropper Fill ผู้กำกับเจ้าของผลงาน ‘School Town King แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน’ หนึ่งในผู้ที่ได้รับรางวัลในงานครั้งนี้ ก็ได้โพสต์คลิปช่วงสปีชที่ถูกตัดออกผ่านเฟซบุ๊ก พร้อมกับใส่แคปชันไว้ว่า “โชคดีที่ถ่ายเก็บไว้ speech ของ School Town King ทั้ง 7 รางวัล งานชมรมวิจารณ์บันเทิง (ที่ถูกตัดออก) รวมไว้ในโพสนี้เผื่อเพื่อนๆคนไหนอยากฟังคับ แชร์กันได้ตามอัธยาศัย”

ภายในคลิปของ เบสท์ วรรจธนภูมิ กล่าวว่า อยากขอบคุณโปรดิวเซอร์ที่ร่วมกันเริ่มโปรเจกต์นี้ขึ้นมา ภาพยนตร์เรื่องนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากศูนย์ ตั้งแต่ยังไม่มีเงินทุน ออกเงินกันเอง ขอบคุณที่ทำหนังเรื่องนี้มาด้วยกัน ขอบคุณผู้ช่วยผู้กำกับ ตากล้องและทีมคนอื่นๆ ที่มีส่วนช่วยในหนังเรื่องนี้ ขอบคุณนักแสดงในสารคดีเรื่องนี้ด้วย

นอกจากนี้ คลิปที่โพสต์โดยผู้กำกับ School Town King ยังมีการพูดสปีชของหรินทร์ แพทรงไทย เจ้าของรางวัลสาขาลำดับภาพยอดเยี่ยมกับผลงานลำดับภาพ จากเรื่อง School Town King ซึ่งหรินทร์ กล่าวขอบคุณชมรมวิจารณ์บันเทิงที่ให้รางวัลลำดับภาพยอดเยี่ยมในครั้งนี้ ขอบคุณทุกคนที่เกี่ยวข้องที่ให้โอกาสในการมาร่วมกับโปรเจกต์นี้ ขอบคุณนักแสดงทุกคนที่อยู่ในหนังที่เปิดโอกาสให้เราเข้าไปสำรวจชีวิตกว่า 130 วัน ที่นำมาถ่ายทอดให้ทุกคนได้ดู รวมถึงขอบคุณคนในครอบครัว

หรินทร์ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “หนังเรื่องนี้ทำให้ผมพยายามจะเป็นคนที่ดีขึ้น เพราะว่าชีวิตของน้องๆ และประเด็นที่เราสื่อสาร มันทำให้ผมทบทวนตัวเอง พยายามไม่เป็นผู้ใหญ่ในแบบที่ผมเกลียด School town king อาจจะแสดงให้เห็นถึงความกดทับและความเหลื่อมล้ำทางสังคมและระบบการศึกษา แต่มันไม่ใช่แค่ระบบการศึกษาหรอกครับที่กดทับเราอยู่ ระบบมันครอบงำเราตั้งแต่ส่วนที่เล็กที่สุดไปจนส่วนที่ใหญ่ที่สุด โดยคนที่อยู่บนสุด”

“ผมขอใช้โอกาสนี้ขอเป็นกำลังใจและอยู่เคียงข้างเหล่านักสู้ที่ถูกจองจำอย่างไม่เป็นธรรม ปล่อยเพื่อนเรา ยังมีคนที่ต้องทนทุกข์แล้วก็ถูกจองจำ ลำบากเพราะความอยุติธรรมของระบบ ขอบคุณสำหรับรางวัลอีกครั้งนะครับ ผมเชื่อว่ามันจะมีวันที่ดีสำหรับพวกเรา ความยุติธรรมจะต้องเกิดขึ้น ขอบคุณครับ” หรินทร์ กล่าวทิ้งท้ายโดยอ้างอิงถึงกลุ่มผู้ทำกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกคุมขัง

นอกเหนือจากสปีชข้างต้นที่หยิบยกมานั้น ยังมีของ นัท-นันทวัฒน์ จรัสเรืองนิล และสุภัชา ทิพเสนา โปรดิวเซอร์ School Town King, จิรเมธ โง้วศิริ เจ้าของรางวัลกำกับภาพยอดเยี่ยม จาก School Town King และธนายุทธ ณ อยุธยา หรือ ‘บุ๊ค’ ที่ได้รับรางวัลเพลงจากภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากผลงาน กระบอกเสียง ประกอบภาพยนตร์ School Town King เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังไม่มีการชี้แจงใดๆ จากทางชมรมวิจารณ์บันเทิง ถึงประเด็นที่หลายคนได้ตั้งคำถามว่าเหตุผลเพราะอะไรถึงทำให้สปีชถูกตัดออก ทั้งๆ ที่ภาพยนตร์ล้วนสร้างขึ้น เพื่อหวังขับเคลื่อนเรื่องราวต่างๆ ในสังคมอยู่เสมอ และการตัดการแสดงความคิดเห็นของผู้ได้รับรางวัลออกเกือบทั้งหมด อาจสะท้อนว่าพื้นที่ในการวิพากษ์หรือเห็นต่างกำลังถูกลดทอนลงไป 

ขณะที่คำจำกัดความของ ‘ชมรมวิจารณ์บันเทิง’ ที่ปรากฏทางสื่อสังคมออนไลน์ ระบุว่าชมรมนี้ประกอบด้วยนักวิจารณ์บันเทิงจากนิตยสาร หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ ทั้งยังเป็นมอบรางวัลภาพยนตร์ไทย ‘ชมรมวิจารณ์บันเทิง’ (Bangkok Critics Assembly) ให้แก่บุคคลในวงการผลิตภาพยนตร์ของไทยที่มีผลงานดีเด่นที่สุดในสาขาต่างๆ ของแต่ละปี นับจากวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2534 ที่มีการประกาศผลและมอบรางวัลนี้ครั้งแรก โดยตัวรางวัลถูกออกแบบเป็นรูปปิรามิด บนฐานกลมและสี่เหลี่ยม ซึ่งมีความหมายถึง ‘ปลายปากกา’

อ้างอิง