ศตวรรษที่ 21 ไม่ใช่ศตวรรษที่ดีนักของบุหรี่ เพราะโลกทั้งใบเหมือนพร้อมใจกันผลักไสทั้งบุหรี่และคนสูบบุหรี่จนแทบไม่มีที่ยืนในสังคม พื้นที่สูบบุหรี่เหลือน้อยนิด ภาษีบุหรี่สุดโหดทำให้ราคาบุหรี่ขึ้นแบบไม่มีลิมิต ล่าสุดในเดือนธันวาคม 2022 ประเทศอย่างนิวซีแลนด์ก็ออกกฎหมายใหม่ที่จะไม่ให้คนรุ่นใหม่ที่เกิดตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมาซื้อบุหรี่ไปตลอดชีวิตแล้ว
แม้ว่าประเทศอื่นจะยังไม่โหดขนาดนี้ แต่มาตรการที่นอกเหนือจากการจำกัดพื้นที่และเก็บภาษีสูงๆ ที่นิยมใช้กันก็คือ การขยายพื้นที่ ‘คำเตือน’ บนซองบุหรี่ให้ใหญ่โตจนไม่เห็นบุหรี่ ซึ่งในหลายประเทศมันไม่ใช่แค่ตัวหนังสือพร้อมข้อความน่ากลัวเท่านั้น แต่ยังเป็น ‘รูป’ ของอวัยวะร่างกายคนที่เสื่อมถอยไปเพราะบุหรี่ด้วย เพราะมาจากสมมติฐานว่า ถ้าคำเตือนมันยิ่งโหด ภาพยิ่งน่ากลัว เด็กรุ่นใหม่ๆ ก็จะหลีกหนีบุหรี่มากขึ้นไปเอง
แต่คำถามคือ นี่คือสิ่งที่คนวางนโยบาย ‘คิดไปเอง’ หรือเปล่า ที่จริงเด็กๆ กลัว ‘คำเตือน’ พวกนี้หรือไม่
คำตอบของสองคำถามนี้น่าพิจารณามากๆ
เพราะงานวิจัยใน Nicotine & Tobacco Research ในปี 2017 นั้นพบว่า จริงๆ แล้ว ยิ่งเราใส่ภาพรุนแรงเยอะๆ อัดคำเตือนไปรัวๆ เด็กที่มีแนวโน้มจะสูบบุหรี่ก็จะยิ่งสูบบุหรี่เร็วขึ้น อันนี้เขาทำการทดลองกับเด็กจริงๆ เลย ว่าถ้าให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีพวกคำเตือนห้ามสูบบุหรี่เยอะๆ กับไม่มีคำเตือนเลย ผลก็ออกมาอย่างที่กล่าวไป
คำอธิบายเรื่องนี้ก็คือ ‘ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ’ เพราะในแง่หนึ่ง พวกเด็กวัยรุ่นที่มีความขบถอยู่ในตัว การไปห้าม นั้นก็เหมือนยิ่งเป็นการไปกระตุ้นให้เด็กเหล่านั้นทำในสิ่งที่ผู้ใหญ่ไม่อยากให้ทำ
ซึ่งถามว่านัยของการวิจัยคืออะไร ส่วนหนึ่งก็คือ มันแสดงให้เห็นว่า ‘คำเตือน’ นั้นใช้ไม่ได้ผลกับเด็กวัยรุ่นที่มีความเสี่ยงจะสูบบุหรี่อยู่แล้ว และมันอาจไม่ส่งผลอะไรเลยนอกจากสร้างความปวดหัวให้คนสูบบุหรี่ เพราะไม่รู้ว่ามันคือบุหรี่ยี่ห้อไหนเนื่องจากคำเตือนมันบังเต็มซองไปหมด
ดังนั้นอาจตีความได้ว่า การที่รัฐอัดคำเตือนมาเยอะๆ มันไม่เวิร์ก คนจะสูบก็ยิ่งอยากสูบ และนี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ในที่สุด ประเทศอย่างนิวซีแลนด์นั้นถึงกับออกกฎหมายที่จะ ‘ตัดวงจร’ บุหรี่ไปอย่างถาวรด้วยการไม่ให้คนรุ่นใหม่สูบอีกต่อไปเพราะเขาคงคิดว่ามันทำอย่างอื่นไม่ได้แล้วจริงๆ
g
- IFLS. Graphic Anti-Smoking Ads May Have An Unintended Effect On Teens. https://www.iflscience.com/graphic-antismoking-ads-may…