‘ปลาฉลามปากเป็ด’ ไม่เกี่ยวอะไรกับ ‘ฉลาม’ แต่โผล่อีกครั้งที่จีน หลังถูกประกาศว่า ‘สูญพันธ์’ ไปแล้ว
เมื่อไม่กี่เดือนมานี้มีข่าวใหญ่ข่าวหนึ่งที่ถูกพูดถึงในกลุ่มคนรักสิ่งแวดล้อม เพราะมีการประกาศว่าปลาสายพันธุ์หนึ่งในแหล่งน้ำจืดธรรมชาติของจีนเข้าข่าย ‘สูญพันธุ์’ ไปแล้วอย่างเป็นทางการ และระบุชื่อชัดเจนว่าคือ ‘ปลาฉลามปากเป็ดจีน’ หรือ Chinese Paddlefish
ถึงจะมีชื่อไทยว่า ‘ฉลามปากเป็ด’ แต่ปลาสายพันธุ์นี้ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับ ‘ฉลาม’ แห่งท้องทะเล และอยู่ในอันดับใกล้เคียงกับ ‘ปลาสเตอร์เจียน’ ที่เป็นต้นกำเนิดเมนู ‘ไข่ปลาคาเวียร์’ มากกว่า ทำให้ปลานี้ถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ‘สเตอร์เจียนแห่งแยงซี’
ผู้ฟันธงการสูญพันธุ์เมื่อเดือนกรกฎาคม 2022 ก็คือ ‘สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ’ (IUCN) ซึ่งเป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จึงนับว่ามีความชอบธรรมและก็น่าเชื่อถือเพียงพอ ทำให้มีกระแสถกเถียงในอินเทอร์เน็ตตามมาไม่น้อยว่าที่ปลาฉลามปากเป็ดสูญพันธุ์ ‘น่าจะ’ เกิดจากน้ำมือมนุษย์ที่ไปก่อสร้างเขื่อนจนกระทบแม่น้ำอันเป็นถิ่นเกิดของปลาสายพันธุ์นี้
ซึ่งก็แน่นอนว่า ‘จีน’ ที่สร้างเขื่อนขนาดใหญ่–กลาง–เล็ก รวมแล้วประมาณ 98,000 แห่งทั่วประเทศ ก็หนีไม่พ้นการถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นตัวการทำให้ระบบนิเวศในแม่น้ำเปลี่ยนแปลงจนส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำต่างๆ จนถึงขั้น ‘สูญพันธ์’ เหมือนปลาฉลามปากเป็ดที่เดิมมีถิ่นที่อยู่ในแม่น้ำแยงซี แต่กลับไม่มีผู้พบเห็นในแหล่งน้ำแห่งนี้อีกเลยนับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ทั้งยังเกรงว่าอาจจะมีสัตว์น้ำอีกหลายชนิดที่เสี่ยงสูญพันธุ์ต่อจากนี้
แต่กลางเดือน 2022 ที่ผ่านมา สำนักข่าว China Daily สื่อของรัฐบาลจีน รายงานว่าปลาฉลามปากเป็ดถูกพบเห็นอีกครั้งในแม่น้ำแยงซีแถวเขตถวนเฟิง (Tuanfeng) มณฑลหูเป่ย และเจ้าหน้าที่ประมงได้ไปตรวจสอบแล้วก็ยืนยันว่านี่คือปลาฉลามปากเป็ดอายุประมาณ 5-6 ปีที่มีน้ำหนักเกือบ 4 กิโลกรัม และมีความยาว 96 เซนติเมตรเพียงแต่บอกไม่ได้ว่านี่คือปลาที่ถูกเลี้ยงขึ้นมาในกระชังหรือเป็นปลาที่โตมาจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติ
อย่างไรก็ดี ปลาตัวที่พบมีร่องรอยบาดเจ็บ เจ้าหน้าที่จึงส่งต่อให้ศูนย์วิจัยประมงในแม่น้ำแยงซีรับปลาดังกล่าวไปรักษาอาการและติดตั้งระบบติดตามก่อนจะปล่อยกลับสู่แม่น้ำแยงซี
ก่อนหน้าที่ IUCN จะประกาศว่าปลาฉลามปากเป็ดจีนสูญพันธุ์ไปแล้ว ทางการจีนได้พยายามปรับแก้กฎเกี่ยวกับการบริหารจัดการและการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ เช่น ห้ามจับปลาหรือสัตว์อื่นๆ ที่อยู่ในบัญชีคุ้มครอง จำกัดการสร้างเขื่อนและฝายในแม่น้ำที่เป็นเส้นทางอพยพหรือวางไข่ของปลาและสัตว์น้ำ ซึ่งอาจจะเห็นผลช้า แต่ถ้าเข้มงวดกับมาตรการจริงๆ ก็อาจจะยังพอมีความหวังอยู่บ้าง
อ้างอิง
- China Daily. ‘Extinct’ Yangtze sturgeon spotted in Hubei. https://bit.ly/3Sgl5Vi
- CNN. China lost its Yangtze River dolphin. Climate change is coming for other species next. https://cnn.it/3BXgF0e
- QZ. Managing China’s thousands of dams is trickier in the era of climate change. https://bit.ly/3DGVb9e