2 Min

คนจีนหันมานำเข้า ‘วัฒนธรรมการชม’ จากอเมริกา เหตุสังคมจีนไม่ชอบชม เพราะอยากให้คนถ่อมตัว

2 Min
181 Views
12 Jun 2024

เป็นที่ทราบกันดีว่า แม้รัฐบาลจีนจะไม่ค่อยถูกกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเท่าไหร่นัก แต่ชาวจีนกลับเป็นกลุ่มคนที่โปรดปรานวัฒนธรรมอเมริกันเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่น วิถีชีวิต หรือแม้แต่โทรศัพท์ iPhone จนทำให้ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลจีนต้องมีมาตการออกมาปราบปรามความคลั่งไคล้อเมริกันเหล่านี้อยู่บ่อยครั้ง ทว่ามีสิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนว่ารัฐบาลจีนจะเอาไม่ลง นั่นก็คือ ‘วัฒนธรรมการชม’ ที่กำลังแทรกซึมเข้ามาในหมู่ชาวจีนมากขึ้น โดยที่ผ่านมาชาวจีนหลายคนเริ่มตระหนักว่าสังคมจีนและสังคมเอเชียไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการชื่นชมกันและกันมากนัก อย่างเช่นพ่อแม่จะไม่ค่อยชมลูก ครูไม่ค่อยชมนักเรียน เพราะเห็นว่าการชมเชยที่มากเกินไปนี้จะทำให้ผู้คนเหลิงและไม่ถ่อมตัว จนอาจนำไปสู่การขาดระเบียบวินัย (เพราะคิดว่าตนเองดีแล้ว) ซึ่งวัฒนธรรมดังกล่าวกับแตกต่างออกไปเมื่ออยู่ในสังคมอเมริกัน เพราะชาวอเมริกันนั้นมักจะชมเชยกันแทบจะทุกเรื่องของชีวิต ไม่ว่าจะเล็กน้อยเพียงใด 

ตัวอย่างของการชื่นชมแบบอมริกันที่เป็นกระแสไวรัลมากที่สุดในหมู่ชาวจีน ก็คือ ในปีที่ผ่านมา ระหว่างการพบกันของผู้นำสูงสุดของจีนและสหรัฐฯ ที่ซานฟรานซิสโก โจ ไบเดน ได้กล่าวชมเชยรถหุ้มเกราะของ สี จิ้นผิง ว่า มันเป็นรถที่สวยงามมาก ซึ่งการชม (ที่หลายคนมองว่าเป็นเพียงคำพูดธรรมดาๆ) ของไบเดนนี้ ทำให้ชาวจีนเริ่มสัมผัสได้ว่าการชื่นชมกันในเรื่องเล็กน้อยๆ นั้นสวยงามมากเพียงใด จนนำไปสู่การที่ชาวจีนเริ่มจัดตั้งกลุ่มต่างๆ ขึ้นมาทั้งออนไลน์และออฟไลน์เพื่อจะชื่นชม ให้กำลังใจ ขอบคุณ และกล่าวสิ่งดีๆ ให้กับคนแปลกหน้า 

อย่าง ‘โคลเอ เฉิง’ (Chloe Sheng) แฟชั่นบล็อกเกอร์ชาวจีน ที่มีผู้ติดตามบนโซเชียลกว่า 1.6 ล้านคน ได้ออกมาเปิดเผยเมื่อไม่นานมานี้ว่า “คำชมเชยไม่ควรสงวนไว้สำหรับโอกาสพิเศษเท่านั้น หากแต่ควรเป็นสิ่งที่พบได้ในชีวิตประจำวัน” ก่อนจะเล่าว่าเธอประทับใจกับช่วงชีวิตหนึ่งที่อาศัยอยู่ในนิวยอร์กมาก เพราะมีวันหนึ่งที่เธอเดินออกไปข้างนอกพร้อมกับเสื้อโค้ตสีแดงที่ทำให้เธอขาดความมั่นใจ แต่ทันทีที่ก้าวเท้าออกไปบนท้องถนน ก็มีคนแปลกหน้าจำนวนมากเข้ามากล่าวชมเสื้อโค้ตของเธอว่าสวยมาก นี่เองทำให้เธอมั่นใจขึ้นมาทันที และทำให้โคลเอกลับมาที่ประเทศจีนพร้อมกับแนวคิดที่ว่าจะทำให้ร้านค้าและธุรกิจของเธอเป็นพื้นที่ที่ผู้คนจะได้รับความรู้สึกดีๆ โดยเฉิงได้จัดกลุ่มพบปะขึ้นมา แล้วให้ผู้คนจับคู่ชมเชยกันเป็นเวลา 3 นาที แล้วเปลี่ยนคู่ไปเรื่อยๆ เพื่อให้ผู้คนรู้จักการชมเชยกันและกัน

และนอกจากโคลเอแล้วก็ยังมีชาวจีนจำนวนไม่น้อยที่ออกมาแชร์เรื่องราวแนวๆ เดียวกันว่า การกล่าวชมแบบอเมริกันมันเวิร์กเพียงใด เช่นชาว Douyin จากกวางตุ้งคนหนึ่งออกมาเล่าว่า ตั้งแต่เด็กจนโตเธอถูกบูลลี่จากเพื่อนๆ เรื่องรูปร่างกับสีผิว แต่พอไปย้ายอยู่อเมริกา สีผิวและรูปร่างกลับทำให้เธอได้รับคำชมมากมายว่ามีเสน่ห์ ซึ่งนี่ทำให้เธอหันกลับมารักตัวเองได้อีกครั้ง และไม่เพียงชาว Douyin รายนี้ คุณครูจำนวนมากจากทั่วประเทศก็ได้ออกมาแชร์เรื่องราวความสำเร็จหลังจากนำวัฒนธรรมการชมแบบอเมริกันไปใช้กับนักเรียน ว่าทำให้ผลการเรียนของนักเรียนดีขึ้น   

นอกจากนี้ เทรนด์การกล่าวคำชมแบบอเมริกันนี้ยังถูกนำไปปรับใช้ในโลกออฟไลน์ โดยผู้ประกอบการธุรกิจในกลุ่มบาร์และคาเฟ่ ที่มีแนวโน้มจัดกิจกรรมแนวๆ ให้ผู้คนมาพบปะกับกันเพื่อชมเชยกันและกันมากขึ้น ซึ่งก็ทำให้ผู้คนจำนวนมากให้ความสนใจ แต่ที่มากไปกว่านั้นยังทำให้กลุ่มคน (ที่สังคมจีนมองว่าเป็นพวกชายขอบ อย่าง กลุ่มรักร่วมเพศ คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว หรือแรงงานข้ามชาติ กล้าออกมายอมรับและภาคภูมิใจในวิถีชีวิตของตัวเองมากขึ้น หลังจากที่ผ่านมาต้องใช้ชีวิตอย่างเจียมเนื้อเจียมตัว หลบๆซ่อนๆ มาตลอด

อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมการชมนี้ก็ถือว่าอยู่ในเฟสเริ่มต้นเท่านั้น ถ้าเทียบกับจำนวนประชากรชาวจีนทั้งประเทศกว่า 1,400 ล้านคน แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับสังคมจีนที่จะได้เริ่มกล่าวคำชมเชย และส่งต่อพลังบวกให้แก่กันและกันบ้าง

อ้างอิง