4 Min

เครื่องบินจีนตก คือ Boeing 737-800 รุ่นที่ ‘ปลอดภัย’ อันดับต้นๆ แต่บางรุ่นก็เคยมีปัญหามาก่อน

4 Min
1111 Views
23 Mar 2022

ถึงแม้เหตุ ‘เครื่องบินตก’ ทางใต้ของจีนเมื่อ 21 มีนาคม 2022 จะเป็นเที่ยวบินในประเทศของสายการบินไชน่าอีสเทิร์น และทางการจีนยืนยันว่า ‘ไม่มีชาวต่างชาติ’ อยู่บนเครื่องบิน แต่บริษัทต่างชาติบางแห่งต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ โดยเฉพาะบริษัทโบอิง ผู้ผลิตเครื่องบินรุ่นที่เกิดเหตุ รวมถึงคณะกรรมการด้านความปลอดภัยการจราจรของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบเหตุที่เกี่ยวข้องกับการจราจรและยานพาหนะประเภทต่างๆ ของบริษัทอเมริกัน

China Eastern Airlines Boeing

ผู้ผลิตเครื่องบินโบอิง บริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกัน ออกแถลงการณ์ ‘ขออยู่เคียงข้าง’ ครอบครัวของผู้โดยสารและลูกเรือ 132 รายที่อยู่บนเครื่องบินโบอิงรุ่น 787-800 เที่ยวบิน MU5735 ของสายการบินไชน่าอีสเทิร์น ซึ่งตกลงกลางภูเขาในเมืองอู๋โจว ทางใต้ของประเทศจีน เมื่อ 21 มีนาคม 2022 และหน่วยงานรัฐบาลจีนระดมกำลังเข้าค้นหาจุดเกิดเหตุเพื่อค้นหาผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต รวมถึงเก็บหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการบิน

ขณะเดียวกัน สายการบินไชน่าอีสเทิร์นก็ได้ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อผู้อยู่บนเครื่องบินที่เสียชีวิต โดยไม่มีการระบุตัวเลขที่ชัดเจน แต่มีคำยืนยันเพิ่มเติมจากรัฐบาลท้องถิ่นจีนว่าไม่มีชาวต่างชาติอยู่บนเครื่องบินดังกล่าว ขณะที่บริษัทโบอิง ในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องบินโบอิง 737-800 รวมถึงคณะกรรมการความปลอดภัยการจราจรแห่งสหรัฐอเมริกา (NTSB) จะให้ความร่วมมือกับจีนเพื่อตรวจสอบสาเหตุของเครื่องบินตก

ทั้งนี้ คลิปวิดีโอที่ผู้เห็นเหตุการณ์ในเมืองอู๋โจวบันทึกไว้ได้ ทำให้เห็นว่าเครื่องบินลำที่ประสบเหตุดิ่งลงแบบหัวปักลงพื้นในเวลาอันรวดเร็ว สอดคล้องกับข้อมูลของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งชาติจีน (CAAC) ที่ระบุว่าเที่ยวบิน MU 5735 ขาดการติดต่อจากศูนย์ควบคุมภาคพื้นดินหลังบินเข้าสู่น่านฟ้าของเมืองอู๋โจว

ขณะที่เว็บไซต์ FlightRadar24 ที่ติดตามการบินแบบเรียลไทม์ พบว่าเที่ยวบิน MU5735 ซึ่งบินออกจากเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน เพื่อไปยังปลายทางในเมืองกว่างโจว มณฑลกวางตุ้ง เกิดสูญเสียการควบคุมและลดระดับลงอย่างรวดเร็วจากความสูงราว 29,100 ฟุตเหนือระดับน้ำทะเล เมื่อเวลา 14:20 น.ตามเวลาท้องถิ่นจีน ไปอยู่ที่ 7,425 ฟุต และเพิ่มระดับขึ้นเป็น 8,600 ฟุต และดิ่งลงอีกครั้งอย่างรวดเร็วเช่นกัน โดยระดับความสูงของเที่ยวบินที่เว็บไซต์บันทึกไว้ได้ครั้งสุดท้าย อยู่ที่ 3,225 ฟุต เหนือระดับน้ำทะเล

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อความเศร้าสลดแก่ครอบครัวผู้ที่อยู่บนเครื่องบิน รวมถึงสะเทือนใจผู้พบเห็น และสื่อต่างชาติหลายสำนักรายงานเกี่ยวกับความปลอดภัยการบิน โดยชี้ว่าสภาพอากาศในเมืองอู๋โจวขณะเกิดเหตุไม่ถือว่าเป็นอุปสรรคร้ายแรงทางการบิน และเหตุการณ์นี้ทำให้หุ้นของบริษัทโบอิงในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ ตกลงหลายจุด เช่นเดียวกับหุ้นของบริษัทจีอี (GE) ที่ร่วมผลิตเครื่องยนต์ให้เครื่องบินรุ่นโบอิง 737-800 ตกลงเช่นกัน

Boeing 737

2 ปมสำคัญ สาเหตุเครื่องบินตกทั่วโลก

เว็บไซต์ Flight Global ซึ่งเป็นสื่อด้านการบินพลเรือนและอากาศยาน รายงานว่าเครื่องบินรุ่นโบอิง 737-800 เป็นรุ่นที่ได้รับการยืนยันว่า ‘ปลอดภัย’ ติดอันดับต้นๆ ของโลก

ขณะที่สำนักข่าวรอยเตอร์ส (Reuters) รายงานว่านับตั้งแต่ปี 1993 เป็นต้นมา สายการบินทั่วโลกสั่งซื้อและครอบครองเครื่องบินโบอิงรุ่น 737-800 รวมแล้วกว่า 7,000 ลำ และอุบัติเหตุครั้งล่าสุดที่เกี่ยวข้องกับเครื่องรุ่นนี้เกิดขึ้นที่อินเดียในปี 2020 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 21 ราย แต่ผลสอบสาเหตุพบว่านักบินของสายการบินแอร์อินเดียเอ็กซ์เพรส (Air India Express) ควบคุมเครื่องผิดพลาด ทำให้เครื่องพุ่งชนรันเวย์ขณะลงจอดที่สนามบินในเมืองกาลิกัต

อย่างไรก็ดี เครื่องบินโบอิง รุ่น 787 Max ซึ่งเป็นรุ่นที่ออกมาทีหลัง 737-800 เกี่ยวพันกับเหตุเครื่องบินตกในอินโดนีเซียเมื่อปี 2018 และที่อียิปต์ในปี 2019 ทำให้ผู้อยู่บนเครื่องบินเสียชีวิตทั้งหมด รวม 346 ราย และโบอิงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ รวมกว่า 2,500 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 75,000 ล้านบาท) เพื่อเป็นค่าปรับที่บริษัทไม่ให้ความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ในการสอบสวนเหตุเครื่องบินตกในต่างประเทศ และเพื่อนำไปเป็นกองทุนชดเชยให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุเครื่องบินโบอิงตกทั้งสองครั้ง

ทางด้านสำนักข่าว ABC News รายงานอ้างอิงคริสตัล จาง ผู้เชี่ยวชาญด้านอากาศยานของสถาบัน MIT ระบุว่าสาเหตุของเครื่องบินตกในหลายประเทศมักเกิดจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ 1. ความผิดพลาดของบุคลากร (Human Error) และ 2. เหตุขัดข้องทางเทคนิค (Technical Issue)

กรณีความผิดพลาดของบุคลากร มีตั้งแต่ศูนย์ควบคุมการบินให้ข้อมูลด้านทิศทางคลาดเคลื่อนหรือผิดพลาด หรือนักบินเองก็อาจจะกดปุ่มหรือใช้โหมดบังคับผิดพลาด ไปจนถึงเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลการซ่อมบำรุงที่ไม่ได้ตรวจสอบความปลอดภัยหรือระบบที่ชำรุดให้ดีก่อนเครื่องจะขึ้นบินจริง

ส่วนเหตุขัดข้องทางเทคนิค เป็นข้อผิดพลาดที่เกิดจากตัวเครื่องหรือระบบเครื่องยนต์ทำงานล้มเหลว รวมถึงระบบปฏิบัติการหรือสั่งการทางเทคนิคทำงานผิดพลาด ซึ่งกรณีของเครื่องบินโบอิงรุ่น 737 Max ทั้งสองเหตุการณ์ มีการสรุปผลสอบสวนว่าเป็นเพราะระบบช่วยควบคุมการบิน หรือ MCAS (ย่อมาจาก Maneuvering Characteristics Augmentation System) อ่านผลวัดองศาการบินอัตโนมัติ ‘ผิดพลาด’ ทำให้เครื่องบินลดระดับลงอย่างรวดเร็วแบบหัวทิ่ม (nose diving) จนนักบินไม่สามารถควบคุมเครื่องได้

ต่อมา โบอิงได้แถลงข่าวว่ามีการปรับปรุงพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ใช้งานกับระบบ MCAS เพื่อเพิ่มความปลอดภัยทางการบินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทำให้เครื่องบิน 737 Max ที่ถูกสั่งระงับบินในหลายประเทศหลังเกิดเหตุที่อินโดนีเซียและอียิปต์ ได้รับอนุญาตให้ขึ้นบินอีกครั้ง

ส่วนเครื่องบินโบอิง 737-800 ของสายการบินไชน่าอีสเทิร์น เพิ่งใช้งานมาได้เพียง 6 ปี และที่ผ่านมาสายการบินแห่งนี้ก็ได้รับการจัดอันดับว่าเป็นสายการบินที่มีความปลอดภัยติด 10 อันดับแรกของโลก

อย่างไรก็ดี ABC News และ Flight Glonal ระบุว่ารายงานความปลอดภัยของสายการบินไชน่าอีสเทิร์นมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ‘น้อยกว่า’ หากเทียบกับสายการบินที่ต้องให้บริการในสหรัฐอเมริกาหรือแคนาดา เพราะสองประเทศมีกฎบังคับให้สายการบินพาณิชย์ต้องเผยแพร่ข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับการบินที่จำเป็นต่อสาธารณะ

อ้างอิง

  • ABC News. Footage captures moment China Eastern Airlines plane nosedives before crash. https://ab.co/3IucqcA
  • Carrus Home. Boeing 787 เครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่หรูสุดในโลก น้ำหนักเบา โครงสร้างหลักคอมโพรไซท์. https://bit.ly/3uk4CoM
  • Flight Global. NTSB, Boeing, GE and FAA to participate in China Eastern crash investigation. https://bit.ly/3IokQm1
  • France24. Boeing to pay $2.5 billion settlement over 737 Max. https://bit.ly/3imQN3z
  • Reuters. Factbox: Details of crashed Boeing 737-800 and China Eastern Airlines. https://reut.rs/353n5xq