2 Min

‘เมี่ยง’ อาจไม่ได้หมายถึงอาหารห่อเป็นคำ แต่เป็นชื่อของชาอัสสัมต่างหาก

2 Min
1365 Views
02 May 2023

สำหรับชาวไทยภาคกลาง ‘เมี่ยง’ หมายถึงอาหารที่ห่อกินเป็นคำ ๆ เช่น เมี่ยงปลาเผา เมี่ยงญวน หรือเมี่ยงคำ ไม่ว่าวัตถุดิบที่ใช้ห่อจะเป็นผักหรือแป้งประเภทใดก็ตาม แต่ในวัฒนธรรมล้านนาซึ่งเชื่อกันว่าเป็นจุดเริ่มต้นของเมี่ยงในไทย คำว่า ‘เมี่ยง’ กลับหมายถึงใบชาต่างหาก

คนล้านนาผูกพันกับต้นชามานาน ภาคเหนือมีการปลูกชาเพื่อเป็นสินค้าเศรษฐกิจในหลายจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่มีชายแดนติดกับเมียนมาและมีการรับเอาวัฒนธรรมแบบเมียนมาและจีนมาแต่อดีต เช่นในจังหวัดเชียงรายและแม่ฮ่องสอนซึ่งพบว่ามีต้นชาอัสสัมดั้งเดิมที่อายุมากกว่า 100 ปีอยู่ในหลายไร่เลยทีเดียว

โดยหากอ้างอิงตามชื่อสถานที่ที่เรียกขานกันแต่เดิม เราจะเห็นว่าในภาคเหนือมีหมู่บ้านชื่อ ‘ป่าเมี่ยง’ (ป่าเหมี้ยง) กระจายอยู่ในหลายจังหวัด นัยว่าพื้นที่ไหนที่มีการปลูกเมี่ยงมาก ก็เรียกเสียให้ง่ายว่าเป็นบ้านป่าเหมี้ยง เป็นหลักฐานว่า ‘เมี่ยง’ ในบริบทของภาษาล้านนาไม่เคยหมายถึงการห่ออาหารให้เป็นคำๆ มาก่อนเลย

แล้ว ‘เมี่ยง’ ใบชา กลายเป็น ‘เมี่ยง’ อาหารห่อไปได้อย่างไรล่ะ?

ก่อนอื่นต้องขอแนะนำให้รู้จักกับเมี่ยงตัวจริงเสียงจริงกันก่อน ด้วยว่าคนเหนือมีวัฒนธรรมการเคี้ยวเมี่ยงเพื่อเอาคาเฟอีนจากใบชา ไม่ต่างจากที่คนไทยเคี้ยวหมากเคี้ยวพลูเพื่อให้มีแรงทำงาน เมี่ยงในที่นี้คือการเอาใบชามานึ่งและหมักด้วยกระบวนการเฉพาะจนมีรสเปรี้ยวแกมฝาดต่างกันไปตามความนิยมในแต่ละพื้นที่

โดยวิธีการเคี้ยวเมี่ยง หรือ ‘อมเหมี้ยง’ ก็คือการนำชาหมักเหล่านี้มาห่อด้วยเครื่องซึ่งหลากหลายไปตามรสนิยมของคนกิน มีทั้งเกลือ ขิง กระเทียมดอง มะพร้าวคั่ว น้ำตาล ถั่วลิสง ฯลฯ ห่อพอคำแล้วก็เคี้ยวและดูดกินน้ำจากใบเมี่ยงไปเรื่อยๆ เมื่อจืดก็คายทิ้ง (หรือจะเคี้ยวแล้วกลืนไปทั้งหมดก็ได้) การเคี้ยวเมี่ยงเป็นได้ทั้งของว่างบริหารปากแบบเดียวกับหมากฝรั่ง บางคนก็นิยมเคี้ยวเพื่อดับกลิ่นปากหลังกินอาหาร เคี้ยวเพื่อให้สดชื่นมีแรงทำงาน หรือมีไว้เพื่อเป็นสำรับต้อนรับแขกก็มี

สันนิษฐานกันว่า การเคี้ยวเมี่ยงแบบนี้น่าจะเผยแพร่เข้ามาสู่ภาคกลางในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ได้ถวายตัวรับราชการเป็นพระสนมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเลย ข้าราชบริพารที่ตามติดลงมาจากเชียงใหม่ก็ได้นำเอาวัฒนธรรมต่างๆ มาปฏิบัติกันเป็นปกติแทบไม่ต่างจากเมื่อครั้งยังอยู่เชียงใหม่ รวมถึงวัฒนธรรมการอมเหมี้ยงอย่างคนล้านนาด้วย เหมี้ยงอมจากภาคเหนือจึงได้ชื่อว่าเป็น ‘เมี่ยงพายัพ’ หรือ ‘เมี่ยงลาว’ ไปเสียในยุคนั้น

ภายหลังการกินเมี่ยงจึงถูกประยุกต์โดยตำหนักต่างๆ กลายเป็นเครื่องว่างประเภทห่อ โดยจะใช้ใบชะพลู หรือกลีบบัวเป็นแผ่นห่อแทนใบชาหมัก ส่วนเครื่องเมี่ยงก็มีได้สารพัดสมกับที่เป็นยุคเฟื่องฟูของการคิดค้นสูตรอาหาร คำว่าเมี่ยงที่หมายถึงใบชา จึงได้เพิ่มความหมายใหม่ขึ้นนับแต่นั้นเป็นต้นมา จนปรากฏเป็นหลักฐานเป็น กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน ในสมัยรัชกาลที่ 6 ว่า ‘เมี่ยงคำน้ำลายสอ เมี่ยงสมอ เมี่ยงปลาทู’ นั่นเอง

อ้างอิง