ถึงวันนี้ ‘AI ตอบคำถาม’ อย่าง ChatGPT ถือเป็นเรื่องที่ไม่แปลกใหม่สำหรับเราอีกแล้ว เพราะหลังจากทาง Microsoft จะซื้อหุ้นเพื่อมีเอี่ยวใน Open AI ตัวนี้ซึ่งทำให้พัฒนาการทางโมเดลของมันไปเร็วมากๆ จนผู้คนทั่วโลกหลากสาขาอาชีพได้ลองใช้ และ ‘ทึ่ง’ กับความสามารถจนเริ่มระแวงว่ามันจะมา ‘แย่งงาน’ หรือกระทั่ง ‘ครองโลก’ เลยทีเดียว
แต่ในความเป็นจริงบริษัทที่ถือครองเทคโนโลยีนี้ไม่ได้มีแค่ Chat GPT ที่ดูจะเป็นเจ้าตลาด เพราะยังมี ‘AI ตอบคำถาม’ หรือชื่อทางการกว่าคือ ‘AI โมเดลภาษา’ อีกหลายตัวที่น่าสนใจ ซึ่งเราจะสรุปพอให้เห็นภาพร่วมกัน
เริ่มจาก Bard ของ Google ที่แม้จะยังดูด้อยกว่า ChatGPT ในหลายแง่ แต่ในความเป็นจริง เราก็ต้องไม่ลืมว่าทุกวันนี้เราใช้บริการ Google เยอะมาก และถ้า Google จะเอา AI สักตัวไปเพิ่มในบริการของตัวเอง มันจะเป็น Bard แน่นอน เช่นถ้า Google จะเพิ่ม AI สำหรับ เขียนอีเมล มาใน Gmail แล้ว AI ตัวนั้นก็คือ Bard แน่ๆ Google ไม่มีทางปล่อยให้ ChatGPT มีที่ยืนในแพลตฟอร์มของตัวเอง และก็ไม่ใช่แค่ Gmail แต่พวกบริการงานเอกสารออนไลน์ทั้งหมดของ Google ก็มีแนวโน้มจะได้ใช้บริการของ Bard ฟรีทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการเขียนบทความใน Google Docs ทำสเปรดชีต ใน Google Sheets หรือกระทั่งทำฟรีเซนต์บน Google Slides คือ Google ไม่มีทางจะแพ้ ChatGPT แบบ ‘คาบ้าน’ และสิ่งเดียวที่ Google ต้องทำคือเพิ่มบริการของ Bard เข้าไปฟรีๆ แค่นี้ ChatGPT ก็อยู่ยากแล้วในระบบนิเวศของ Google
ต่อมาก็คือ Ernie ของ Baidu นี่คือ AI โมเดลภาษา ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนอนุมัติ และใช้ได้ในจีน (เนื่องจากจีนแบน ChatGPT) ดังนั้นมันก็มีแนวโน้มจะไปสร้างระบบนิเวศของมันเองและเติบโตได้อย่างน้อยๆ ก็ในจีน ประเทศที่แม้แต่พวก Facebook และ Google ก็ยังบุกทะลวงไม่ได้
แต่ถามว่า ChatGPT นั้นไม่มีทางจะไม่มีที่ยืนในระบบนิเวศของ Google และในแผ่นดินจีนแค่นั้นหรือ? คำตอบคือไม่ใช่ เพราะอุปสรรคจริงๆ คือบริการ ChatGPT ที่เราจะใช้แบบต่อยอดมัน ‘เสียเงิน’ หมด เพราะเราต้องเชื่อมกับระบบของ OpenAI ซึ่งพูดแบบระบบซอฟต์แวร์คือมันเป็น Closed Source เราเอาโค้ดมารันเองไม่ได้เพราะเขาปิดเอาไว้ เราต้องใช้บริการและจ่ายเงินค่าบริการไปเรื่อยๆ
นี่เลยทำให้เกิดขบวนการ Open Source ด้าน AI ขึ้น หรือพูดง่ายๆ คือบริษัทอื่นๆ ที่พยายามจะสู้กับ ChatGPT นั้นแม้ว่าจะสู้ด้านคุณภาพและจังหวะในตลาดไม่ได้ แต่มันสู้ด้วยการเอาโค้ดมาปล่อยให้คนไปใช้ ‘ฟรี’ กันเลย ซึ่งมีตั้งแต่ LLaMA ของทาง Facebook, Alpaca ของทาง Stanford (ที่เป็น LLaMA ต่อยอด), Dolly 2.0 ของ Databricks ซึ่งเป็น AI โมเดลภาษาที่เป็น Open Source เต็มๆ ตัวแรก, StableLM ของทาง Stable AI ผู้สร้างชื่อมากับ Stable Diffusion ไปจนถึง Cerabras-GPT ของ Cerebras ที่เป็นพาร์ตเนอร์กับ AI ผลิตบทความที่เป็นเจ้าตลาดช่วงก่อนหน้านี้อย่าง Jasper
ซึ่งแทบทั้งหมดมีให้ดาวน์โหลดบน Github หรือไม่ก็ที่พวกเว็บไซต์ทางการทั้งหลาย แต่ใครถ้าจะดาวน์โหลดไปใช้ต้องมีความรู้คอมพิวเตอร์ และสเปกคอมพิวเตอร์แรงๆ หน่อย ส่วนคนที่แค่อยากทดลอง มันก็มีหลายคนลองโฮสต์โปรแกรมพวกนี้ เช่น StableLM ก็ลองไปเล่นได้ที่ https://replicate.com/stability-ai/stablelm-tuned-alpha-7b
ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามาน่าจะทำให้ ChatGPT ร้อนๆ หนาวๆ ได้เหมือนกัน เพราะตอนนี้ภาคธุรกิจเริ่มตื่นเต้นและพยายามจะให้มีบริการ AI Chatbot สไตล์ ChatGPT เป็นของตัวเองกันแล้ว ซึ่งแน่นอนวิธีการง่ายสุดคือเชื่อมกับบริการของ ChatGPT ซึ่งทำแล้วก็จะเสียเงิน เพราะมันคือโมเดลการหารายได้ของ ChatGPT แต่ ‘โปรแกรมฟรี’ พวกนี้มันสร้างขึ้นมาเพื่อตัดรายได้แบบนี้ตรงๆ
ดังนั้นบริษัทต่างๆ ถ้าอยากสร้างโมเดลของตัวเอง ทางที่เหมาะคือเอาพวก AI โมเดลภาษาแบบ Open Source พวกนี้ไปขยายผลต่อ คือไปเทรนโมเดลเพิ่ม แบบนั้นคือจะได้โมเดลของตัวเองไปใช้เฉพาะทาง ที่น่าจะตอบคำถามเฉพาะทางได้แม่นยำกว่า ChatGPT เวอร์ชั่นล่าสุดอีกด้วยซ้ำ เพราะมันถูกเทรนมาโดยตรง ซึ่งทั้งหมดย้ำอีกครั้งว่าฟรี
ดังนั้นก็บอกเลยว่า ‘ศึกนี้’ ก็ต้องดูกันยาวๆ เพราะอุตสาหกรรมนี้แข่งขันกันสูง ถึงเป็นผู้บุกเบิกตลาดตอนแรก ก็อาจโดนเจ้าใหม่ในตลาดเขี่ยตกกระป๋องไปในชั่วพริบตาแบบงงๆ ได้ และสิ่งที่เคยชนะขาด ต่อมาก็ไม่ใช่จะไม่พ่ายแพ้และโดนหลงลืมไป ซึ่งนี่ก็ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นแค่รอบสองรอบในอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ต มันเป็นเรื่อง ‘ปกติ’