ไม่ใช่แค่แฟชั่น! ชุดอาหรับที่ ‘ชัชชาติ’ ใส่ในงาน เชื่อมสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ มีอะไรบ้าง?
หลังจากรัฐบาลไทยประกาศความสำเร็จเมื่อเดือนมกราคม 2565 ว่าสามารถรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับซาอุดีอาระเบียได้ จากที่เคยถูกลดระดับลงไปหลังเกิด ‘คดีเพชรซาอุฯ’ ทำให้เกิดการลงนามในข้อตกลงทางเศรษฐกิจ การค้า และความร่วมมือในด้านต่างๆ หลายครั้ง และล่าสุด ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็ได้รับเชิญไปร่วมงานแสดงนิทรรศการ ‘สะพานเชื่อมสัมพันธ์ไทย–ซาอุดีอาระเบีย (Efforts of the Kingdom of Saudi Arabia in serving Muslim Brothers) ซึ่งจัดโดยสถานเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบียประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ที่ผ่านมา
สถานที่จัดงานดังกล่าวคือ มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ และในงานมีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ประเพณี สินค้า อาหาร และวัฒนธรรมของซาอุดีอาระเบีย และผู้ว่าฯ ชัชชาติได้รับเชิญให้สวมชุดของชาวซาอุดีฯ ที่ขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องแต่งกายแบบประเพณีนิยมของชาวอาหรับในหลายประเทศ ณ ปัจจุบันด้วย
ถ้าจะจำแนกแบบคร่าวๆ ว่าชัชชาติสวมใส่อะไรบ้างก็จะแบ่งเป็น ‘เสื้อคลุมสีดำตัวยาว’ หรือ bisht ซึ่งตามปกติแล้วผู้ชายซาอุดีฯ (และผู้ชายอาหรับในประเทศอื่นๆ) สวมใส่กันทั่วไปในชีวิตประจำวัน เรื่อยไปจนถึงใส่ในงานพิธีหรืองานฉลองต่างๆ แทนชุดสูทที่เป็นเครื่องแต่งกายของตะวันตก
ลำดับต่อมาคือ ‘ผ้าคลุมศีรษะ’ ซึ่งชาวซาอุดีฯ ส่วนใหญ่เรียกว่า คุตระ (ghutra) ขณะที่ชาวอาหรับชาติอื่นๆ จะเรียกว่าชีมัก (shemagh) และคนจำนวนมากทั่วโลกน่าจะคุ้นตากับผ้าลายตารางสีขาวแดงแบบนี้ไม่น้อย เพราะแบรนด์แฟชั่นฝั่งตะวันตกหลายเจ้านำลายแบบนี้ไปทำเป็นสินค้าของตัวเองด้วย
แต่ถ้าไปถามคนในประเทศอาหรับส่วนใหญ่ก็จะยืนยันว่า ผ้าคลุมแบบนี้ไม่ใช่แค่แฟชั่นสำหรับพวกเขา แต่เป็นเครื่องสะท้อนรากเหง้าที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษที่เป็นชนเผ่าในทะเลทรายตะวันออกกลางเมื่อสมัยโบราณ โดยผ้าคลุมนี้มีไว้เพื่อรักษาอุณหภูมิร่างกาย รวมถึงคลุมกันละอองทราย ซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายที่ปรับให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศและสภาพภูมิประเทศ
นอกจากนี้ยังมี ‘อิกัล’ (Igal) วงแหวนรัดผ้าคลุม ซึ่งบางคนก็ใช้วัสดุจากเชือกถัก แต่ถ้าเป็นสมัยโบราณมักจะทำจากขนสัตว์ และหน้าที่ของอิกัลก็คือตรึงผ้าคลุมศีรษะให้อยู่กับที่ไม่ให้หลุดหรือเคลื่อนไปง่ายๆ
ในระหว่างที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติได้รับการเชิญชวนให้สวมชุดดังกล่าว ก็ได้บอกด้วยว่ากรุงเทพมหานครพร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวจากซาอุดีอาระเบีย เพราะในอนาคตน่าจะมีการเพิ่มเที่ยวบินระหว่างทั้งสองประเทศเพิ่มมากขึ้น และ อิซอม ซอเละห์ อัลจีเตลี (H.E. Mr. Essam Saleh H. Algetale) หัวหน้าคณะผู้แทนแห่งสถานเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบียประจําประเทศไทย ก็บอกว่าซาอุดีฯ พร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวจากไทยทุกกลุ่มเช่นกัน ไม่ใช่แค่ผู้นับถือศาสนาอิสลาม
อย่างไรก็ดี หลังมีภาพชัชชาติในชุดแต่งกายประจำชาติซาอุดีฯ เผยแพร่ออกไปในสื่อออนไลน์ ก็มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์จาก ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ที่เผยแพร่ภาพชัชชาติในเฟซบุ๊คเพจของตัวเอง พร้อมข้อความว่า “โอ๊ยๆๆๆๆ….กรี๊ดดดดดดดดด พี่สรยุทธช่วยอธิบายทีครับ!!! โอ๊ยยยยยย ไม่ไหวแล้ว!!!” ทำให้คนจำนวนมากเข้าไปตอบโต้ท้ายโพสต์ของเขา
ความเห็นท้ายโพสต์ของศรีสุวรรณที่มีผู้กดไลค์กว่า 4,100 คน ซึ่งมากกว่าจำนวนผู้กดไลค์โพสต์ของศรีสุวรรณเอง เป็นโพสต์ของ ธนกร วงษ์ปัญญา ผู้สื่อข่าวของ The Standard ที่กล่าวว่า “ระวังจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศนะครับ นี่คือการแต่งกายเพื่อให้เกียรติซาอุดีอาระเบีย ในงานกระชับความสัมพันธ์ ซึ่งมีปัญหายาวนานมา 32 ปีนะครับ”
อ้างอิง
- Arab News. Not just a checkered scarf. https://bit.ly/3wHA8iF
- Matichon. ชัชชาติ จัดเต็ม ชวนเที่ยวงานสัมพันธ์ไทย–ซาอุฯ ย้ำนิมิตหมายอันดี เผยกทม.เปิดเมืองรับ. https://bit.ly/3TxSmwH
- Facebook. ศรีสุวรรณ จรรยา. https://bit.ly/3pUHYlh