เปลี่ยนแปรงทุก 3 เดือน ดีต่อสุขภาพฟัน แล้วเปลี่ยนแปรงอย่างไรถึงจะดีกับสุขภาพโลก

2 Min
842 Views
19 Apr 2021

เชื่อว่า – ผู้อ่านคงเคยได้ยินคำแนะนำให้เราเปลี่ยนแปรงสีฟันที่ใช้กันอยู่ประจำทุกวัน อย่างน้อยทุกๆ 3-4 เดือนต่อครั้ง

แปรงสีฟันเก่า

แปรงสีฟันเก่า | AFP

เพราะเมื่อใช้ไปเรื่อยๆ ตัวแปรงก็จะเสื่อมสภาพ ขจัดสิ่งสกปรก เศษอาหาร ได้ไม่ดี หัวแปรงที่บานยังเป็นอันตรายต่อเหงือก

หากไม่อยากมีปัญหาเรื่องกลิ่นปาก ฟันเหลืองไม่ขาวสะอาด มีคราบเกาะ ไปจนถึงอาการฟันผุ เหงือกอักเสบบวมแดง มีเลือดออกระหว่างแปรงฟัน ก็ควรเปลี่ยนแปรงเสียให้บ่อย

ตามคำแนะนำของทันตแพทย์ก็ประมาณ 3 หรือ 4 เดือนต่อครั้ง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้หลังการเปลี่ยนแปรง คือเราได้สร้าง “ขยะพลาสติก” เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งชิ้น ที่สุดท้ายปลายทางกลายเป็นขยะฝังกลบหรือไม่ก็อาจเป็นไมโครพลาสติกที่ลอยอยู่ในทะเล สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศ สัตว์น้ำ

และหวนกลับมาถึงคนทิ้งในที่สุด

ทำไมต้อง ‘เปลี่ยนแปลง’ ก่อน ‘เปลี่ยนแปรง’

สกู๊ปพิเศษของนิตยสารเนชั่นเนลจีโอกราฟฟิก ที่เขียนถึงวิกฤตขยะพาสสติกจากแปรงสีฟัน ระบุว่า หากทุกคนรักสุขภาพฟันตามที่ทันตแพทย์บอกเปลี่ยนแปรงกันทุกๆ 3 หรือ 4 เดือนต่อครั้ง – เฉพาะในสหรัฐอเมริกาจะมีขยะจากแปรงสีฟันมากกว่าหนึ่งพันล้านชิ้นต่อปี และหากทั่วโลกปฏิบัติตามคำแนะนำนี้เช่นกัน โลกจะมีขยะจากแปรงสีฟันเพียงอย่างเดียวสูงถึง 23,000 พันล้านชิ้นต่อปี

หรือมากพอจะเอามาเรียงต่อกันรอบโลกได้ 80 รอบ

ซึ่งปัญหาใหญ่ๆ คือ แปรงสีฟันจำนวนมากไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้ เพราะส่วนประกอบบางอย่างไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ หรือทำลาย-แยกส่วนไม่ได้ สุดท้ายปลายทางก็เป็นดังที่บอกไป ถ้าไม่ใช่ขยะฝังกลบอยู่ใต้โลก ก็เป็นขยะพลาสติกลอยเท้งเต้งอยู่กลางมหาสมุทร

หรือหากว่ากันที่จำนวนจริงๆ แล้ว ในวิชาประวัติศาสตร์หัวข้อการถือกำเนิดของแปรงสีฟันพลาสติกที่มีมาตั้งแต่ปี 1930 จากช่วงเวลาดังกล่าวมาถึงวันนี้ ย่อมหมายความว่าแปรงสีฟันเกือบจะทุกอันที่ถูกผลิตขึ้น ยังเป็นส่วนหนึ่งของโลกเราอยู่ ไม่ได้ถูกย่อยสลายหรือหายไปไหนอย่างแน่นอน

ในไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์พบว่า นกทะเลอัลบาทรอส กำลังเผชิญกับภัยพลาสติกอย่างร้ายแรง เพราะหลงเข้าใจผิดคิดว่าพลาสติกเป็นอาหาร

ภาพนกตัวแม่ที่บินกลับมารังแล้วป้อนพลาสติกให้ลูกน้อยกลายเป็นฉากสุดสะเทือนใจของผู้ชม ซึ่งหนึ่งในนั้นมีเศษชิ้นส่วนของแปรงสีฟันรวมอยู่ด้วย

ซ้ำร้ายยังมีนกบางตัวที่พลาดพลั้งกินด้ามแปรงสีฟันเข้าไป กลายเป็นจุดจบอันน่าอนาถ

แม่นกป้อนพลาสติกให้ลูกกิน เพราะความเข้าใจผิด

แม่นกป้อนพลาสติกให้ลูกกิน เพราะความเข้าใจผิด l Chris Jordan

Toothbrush regurgitated by albatross

Toothbrush regurgitated by albatross | commons.wikimedia

‘เปลี่ยนแปลง’ ก่อน ‘เปลี่ยนแปรง’

อันที่จริง ด้วยความตระหนักถึงปัญหานี้ และความใส่ใจสิ่งแวดล้อมของใครหลายๆ คน ทำให้เราสามารถแก้ไขเรื่องนี้ได้ไม่อยาก เพียงแค่หันมาใช้แปรงสีฟันแบบใหม่ๆ ที่ไม่ได้มีส่วนประกอบของพลาสติก – เรื่องก็จบ

เช่น แปรงสีฟันที่ทำขึ้นจากไม้ไผ่ ทั้งด้ามจับและขนแปรง ข้อดีคือเป็นวัสดุที่ผลิตขึ้นจากธรรมชาติ สามารถย่อยสลายได้เองในเวลาไม่นาน – แต่อาจมีข้อเสียเรื่องอายุการใช้งานที่อาจอยู่ได้ไม่นานนัก

หรือในอีกแบบ ลองหาแปรงสีฟันที่เป็นสามารถเปลี่ยนหัวแปรงได้ ก็จะไม่ต้องกังวลถึงเรื่องขยะต่อไป เพราะด้ามแปรงจะอยู่กับเราตลอด ส่วนหัวแปรงก็เปลี่ยนตามเวลาที่กำหนด

Everloop

Everloop | stirworld

หรือหากจะมองให้ไกลกว่านั้น นักสิ่งแวดล้อมแนะนำว่า เราทุกคนควรจะเขียนจดหมาย หรือแสดงเจตจำนงต่อบริษัทที่ผลิตแปรงสีฟันออกมาขาย เพื่อกดดันให้บริษัทต่างๆ หันมาทำธุรกิจแปรงสีฟันที่เป็นมิตรต่อโลกมากยิ่งขึ้น

ในความเป็นประชาธิปไตย ทุกคนมีสิทธิมีเสียงเรียกร้องให้เกิดการความเปลี่ยนแปลง เพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า…

อ้างอิง