ชวนย้อนดูศาสนาคริสต์ในเมียนมา…หลังแม่ชีในเมียนมาคุกเข่าขอร้องทหารเมียนมา “อย่ายิงเด็ก”

2 Min
607 Views
31 Mar 2021

“ยิงฉันเถอะ อย่าทำร้ายเด็ก”

สื่อท้องถิ่นเมียนมาเผยแผ่รูปซิสเตอร์ แอน โรส นู ตอง คุกเข่าเพื่อเจรจากับตำรวจในเมืองมิตจีนา ประเทศเมียนมา เพื่อขอร้องให้พวกเขาไม่ทำร้ายเด็กๆ หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงผู้ประท้วงเสียชีวิตอย่างน้อย 2 คน และบาดเจ็บอบ่างน้อย 3 คนในสัปดาห์ที่ผ่านมา จนทำให้ภาพการขอร้องของเธอครั้งนั้นกลายเป็นไวรัลสัญลักษณ์ที่สะท้อนปัญหาความรุนแรงในการประท้วงเพื่อประชาธิปไตยของเมียนมา

แม่ชีที่ยอมแลกชีวิตเพื่อปกป้องประชาธิปไตย | Post today

“ฉันคุกเข่าลง ขอร้องให้พวกเขาหยุดยิงและไม่ใช้ความรุนแรงต่อเด็กๆ แต่ให้ยิงฉันแทน ฉันไม่ต้องการเห็นปัญหาใดๆ เกิดขึ้นที่นี่” ซิสเตอร์ แอน โรส นู ตอง ระบุชัดเจนว่าแม้จะเป็นแม่ชีในคาทอลิกแต่เธอเองก็เป็นพลเมืองเมียนมา ดังนั้นเธอคิดเสมอว่าจะช่วยเหลือชาวเมียนมาไม่ว่าจะศาสนา อาชีพ หรือชาติพันธ์ุไหนก็ต้องร่วมมือกัน

หลายคนอาจไม่ค่อยเห็นภาพศาสนาคริสต์เชื่อมโยงกับเมียนมามากนัก เพราะโดยประชากรเมียนมาส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธมากกว่า 87% ในขณะที่เราจะเห็นความขัดแย้งรุนแรงของกลุ่มศาสนาอิสลามกับชาวพุทธในเมียนมามาตลอดหลายปี แต่ที่จริงแล้วในเมียนมาศาสนาที่มีคนนับถือมากเป็นลำดับที่ 2 คือคริสต์ซึ่งมีคนนับถือราว 6%

ศาสนาคริสต์เริ่มเข้ามาเผยแผ่ในเมียนมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ในขณะที่พื้นที่ตรงนั้นยังเบ่งเป็นรัฐขนาดเล็กจำนวนมากไม่ใช่ประเทศเดี่ยวอย่างในปัจจุบัน ผ่านมิชชันนารีนิกายคาทอลิกชาวโปรตุเกส หลังจากนั้นเริ่มมีการเข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์นิกายต่างๆ เพิ่มมากขึ้นพร้อมๆ กับการเข้ามาของชาติตะวันตก รวมถึงอังกฤษที่เป็นเจ้าอาณานิคมของเมียนมาในเวลาต่อมา

ในเวลานั้นการเข้ามามิชชันนารีเริ่มสร้างความไม่พอใจให้กับคนในพื้นที่ด้วยปัญหาทางการเมือง เมื่ออังกฤษได้เข้ามาครอบครองเมียนมาอย่างเบ็ดเสร็จในปี 1886 ทำให้สำนักคริสต์ในเมียนมาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ มีการสนับสนุนให้มิชชันนารีสร้างโรงเรียนในเมียนมาแต่สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนไปหลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อสำนักคริสต์และโบสถ์เจอกับความไม่สงบในประเทศและผู้ก่อการร้าย

และสถานการณ์ความรุนแรงที่มีต่อกลุ่มมิชชันนารีก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเมื่อเมียนมาได้รับอิสรภาพจากอังกฤษในปี 1948 มีความเกลียดชังต่อศาสนาจากโลกตะวันตก รวมถึงกลุ่มคอมิวนิสต์ที่เข้ามายึดและสังหารมิชชันนารี และกระแสต่อต้านทำให้มิชชันนารีหลายกลุ่มเดินทางออกนอกเมียนมา และแม้ว่าจะมีการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในช่วยอาณานิคมแต่ชาวเมียนมาส่วนใหญ่ยังคงนับถือศาสนาพุทธ

ในปัจจุบันศาสนาคริสต์ยังเป็นศาสนาที่มีคนนับถือมากเป็นอันดับ 2 ซึ่งผู้รับถือส่วนใหญ่เป็นชาวชีน ชาวกะชีน และชาวกะเหรี่ยง แต่รวมแล้วมีผู้นับถือไม่ต่ำกว่าแสนคน ในปี 2017 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสได้เดินทางมาที่เมียนมาเป็นครั้งแรกในรอบหลายร้อยปี

แต่สำหรับบทบาททางการเมืองในการรัฐประหารครั้งล่าสุดกลุ่มนักบวชและองค์กรทางศาสนาคริสต์ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเรียกร้องประชาธิปไตยของเมียนมาและต่อต้านเจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหารที่ใช้ความรุนแรงต่อประชาชน ไม่ว่าจะอยู่ในศาสนาใด โดยเฉพาะกับกรณีซิสเตอร์ แอน โรส นู ตอง เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เธอยอมสละชีวิตตัวเองเพื่อแลกกับการหยุดความรุนแรง เพราะเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์เธอเคยคุกเข่าขอร้องให้เจ้าหน้าที่หยุดสังหารประชาชที่ไร้อาวุธมาก่อน

“ฉันรู้สึกเหมือนอยู่ในสงคราม และเศร้ามากเมื่อเห็นเจ้าหน้าที่ปราบปรามผู้ประท้วงที่มาด้วยมือเปล่าและแสดงออกอย่างสันติ”

ไม่ว่าศาสนาใดที่เคยมีความขัดแย้งกันมาก่อนเมื่ออยู่ในสถานการณ์แห่งความเป็นตาย โดยเฉพาะกับเด็กที่ควรถูกปกป้องจากความรุนแรงทั้งปวง ความร่วมมือของประชาชนก็เกิดขึ้นท่ามกลางอดีตที่เคยขัดแย้ง

อ้างอิง:

  • โพสต์ทูเดย์. แม่ชีที่ยอมแลกชีวิตเพื่อปกป้องประชาธิปไตย. https://bit.ly/38t1xsB
  • Vatican news. Catholic nuns, priests join Myanmar anti-coup protests> https://bit.ly/2Oa6YWx
  • วารสารรามคำแหง ฉบับมนุษยศาสตร์. มิชชันนารีกับความขัดแย้งในพม่ายุกอาณานิคม. 123640-ไฟล์บทความ-321774-1-10-20180515.pdf
  • MGR online. ชาวคาทอลิกพม่ากว่าแสนคน ตบเท้าเข้าย่างกุ้งรอรับเสด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส> https://bit.ly/3en3L0b