แม้หลายต่อหลายครั้งเจ้าแมวที่เราเลี้ยงมักไม่ค่อยสนใจไยดีกับทาสอย่างเราสักเท่าไหร่นัก ยามเรียกก็ไม่หัน ขอเล่นด้วยก็เดินหนี จะมาอ้อนก็แค่ตอนหิว (หรือกวนเวลาทำงาน) แต่ทราบหรือไม่ว่า จริงๆ แล้วเจ้านายเราก็คิดถึงเราไม่ใช่น้อยเหมือนกัน โดยเฉพาะเวลาที่เราทิ้งเขาให้อยู่บ้านเพียงลำพัง
โดยธรรมชาติแมวเป็นสัตว์ที่รักอิสระและสามารถอยู่อย่างสันโดษได้ด้วยตัวของเขาเอง แต่สำหรับแมวที่ถูกคนนำมาเลี้ยงหรือมีทาสเป็นของตัวเอง ก็จะมีพัฒนาการทางอารมณ์ที่สัมพันธ์แน่นแฟ้นกับมนุษย์อย่างเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน
เรื่องนี้เป็นคำแนะนำจาก ดร.ดิลิป โซนูน (Dr. Dilip Sonune) ผู้อำนวยการ Wiggles Animal Services หน่วยงานให้คำปรึกษาและรักษาอาการป่วยของสัตว์เลี้ยงในสหราชอาณาจักรที่ออกมาชี้ว่าแมวที่เราเลี้ยงอาจเผชิญกับความเหงาและอาจมีอาการวิตกกังวลขึ้นได้เมื่อทาสต้องออกไปทำงาน
โดยเฉพาะกับทาสมือใหม่ที่เพิ่งรับเลี้ยงแมวในช่วง work from home ที่ผ่านมา ก็ยิ่งต้องจับตาดูเจ้านายเราเป็นพิเศษว่าเขามีพฤติกรรมที่ผิดปกติไปจากเดิมหรือไม่ – เมื่อเราไม่ได้อยู่พะเน้าพะนอกันทั้งวันทั้งคืนเหมือนอย่างเคย
อาการผิดปกติที่ว่าสังเกตได้ไม่ยาก หากเจ้านายเราพยายามขวางประตู หรือส่งเสียงร้องดังๆ เมื่อเราก้าวเท้าออกจากบ้าน มากไปกว่านั้นแมวบางตัวอาจขับถ่ายเรี่ยราด ไม่เว้นกระทั่งกับรองเท้าที่เราต้องใส่ไปทำงาน นั่นล่ะคือสัญญาณที่บอกว่าเจ้านายเริ่มเกิดความวิตกกังวลแล้ว
สิ่งสำคัญก็คือ เมื่อแมวพยายามแสดงบางอย่างที่เขาไม่เคยทำมาก่อน นั่นหมายความว่าแมวของเรากำลังเกิดความผิดปกติ หากเราไม่ทันสังเกต ปล่อยทิ้งไว้ก็อาจจะกระทบต่อสุขภาพของเจ้านายได้ เช่น แมวอาจกินอาหารน้อยลง หรือพอลับหลังอาจออกลูกคลั่งเที่ยวไล่ข่วนเบาะโซฟาไปทั่ว
โดยอาการข่วนของโน่นนี่นั่น มีคำอธิบายว่า จริงๆ แล้วแมวไม่ได้ซน ดื้อ หรือก้าวร้าวแต่อย่างใด เพียงแต่เขาพยายามสื่อสารเพื่อให้รู้ว่าฉันต้องการเธอนะ… (ในกรณีที่เราทิ้งเขาให้อยู่ลำพัง)
หรือในอีกกรณี แมวเราอาจมีอาการระคายเคืองตามผิวหนัง เนื่องจากเขามีพฤติกรรมระบายความกังวลด้วยการเลียขนตัวเอง แต่เมื่อเป็นบ่อยเข้าก็อาจเลียมากเกินไป จนนำมาซึ่งอาการขนร่วงมากเป็นพิเศษ
แน่นอนว่าปัญหานี้เราคงแก้ด้วยการอยู่กับเจ้านายตลอดเวลาไม่ได้ (ไม่ทำงานแล้วจะเอาเงินที่ไหนมาดูแลเขาล่ะ) หรือจะเปลี่ยนที่ทำงานให้อยู่ใกล้บ้านก็คงจะหากันไม่ได้ง่ายๆ ซึ่งเราก็ไม่จำเป็นต้องลงทุนอะไรกันขนาดนั้นหรอก ยังมีวิธีที่ง่ายกว่าและสะดวกกว่า เช่น การเปิดม่านหน้าต่างเพื่อให้แมวได้เห็นบรรยากาศความเคลื่อนไหวนอกบ้านบ้าง นั่นก็เป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้แมวเพลิดเพลิน ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวเมื่อต้องอยู่ลำพัง
แต่ถ้าเป็นบ้านปิดทึบหรืออยู่คอนโดบนตึกสูง ก็มีคำแนะนำให้เปิดเพลงเบาๆ หรือเปิดทีวีให้มีเสียงคลอ แต่หากกังวลว่าค่าไฟจะบานปลาย (ตามยุคสมัยนี้) ก็ยังมีวิธีเพิ่มของเล่นไว้ให้เจ้านายได้มีกิจกรรมทำระหว่างวันแน่นอนว่าอาหารก็ต้องไม่ให้ขาดซึ่งวิธีเหล่านี้มีคำอธิบายจากผู้เชี่ยวชาญว่าจะช่วยให้เจ้านายของเรามีสิ่งสนใจอย่างอื่นมากกว่าคอยจดจ่อว่าเมื่อไหร่นุดจะกลับมาเสียที
หรือในอีกทางหนึ่ง ก็มีคำแนะนำให้หาแมวมาเลี้ยงอีกตัวไปเลย
ทั้งนี้ทั้งนั้น เรื่องนี้ก็ต้องละไว้ในฐานที่เข้าใจว่า แมวแต่ละตัวนั้นมีบุคลิกไม่เหมือนกัน บางตัวอาจจะเหงาหรือเป็นกังวลมาก จนแสดงพฤติกรรมเอาใจยากให้เราเห็น แต่แมวบางตัวนั้นก็อาจจะไม่สนใจอะไรเลย ก็เป็นได้
ซึ่งในความไม่สนใจนั้น ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นเรื่องที่ช่วยให้ทาสอย่างเราสบายใจ ไม่ต้องมาเป็นกังวลแทนแมว หรือจะรู้สึกเหนื่อยหน่ายใจมากกว่าเก่าเหมือนกันนะ
อ้างอิง
- Hindu Stan Times, Is your cat home alone? Ways to ease your feline friend’s separation anxiety, https://bit.ly/3QInPKW