ทำความรู้จัก ‘CCS’ หัวใจสำคัญ หวังเปลี่ยนโลก หนึ่งในทางออกที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้บรรลุเป้าหมาย
เมื่อไม่นานมานี้ อย่างที่เราเห็นกันว่าเพจ NASA ออกมาโพสต์ภาพโปรไฟล์ที่ชวนให้ฉุกคิดถึง ‘ภาวะโลกร้อน’ ปัญหาอันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และเปลี่ยนไปเรื่อยๆ กระทั่งแย่ลงไปอีก จนกลายเป็นภาวะโลกรวนในปัจจุบันที่ทวีความรุนแรงขึ้น
เช่นนี้ ปัจจุบันนอกเหนือจากการมีส่วนร่วมในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกป่า รวมถึงรักษาแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ ยังมี ‘เทคโนโลยี’ ที่หลากหลาย และพลังงานจากแหล่งต่างๆ ที่จะเข้ามาช่วยจัดการ พร้อมแก้ปัญหาให้ประเทศต่างๆ สามารถบรรลุเป้าหมายรักษาโลก สำหรับช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
หนึ่งในเทคโนโลยีเหล่านั้นก็คือ ‘การดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) ที่หลายประเทศทั่วโลกเห็นตรงกันว่า เป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญในการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมีนัยสำคัญ จึงมีการวางแผนให้เป็นเทคโนโลยีหลักในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้ในปริมาณมากกว่าเทคโนโลยีรูปแบบอื่น
มาทำความรู้จัก ‘CCS’ กันให้มากขึ้นก่อนดีกว่า ว่าคืออะไร?
CCS หรือ Carbon Capture and Storage คือการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่ได้รับการยืนยันจากหลายประเทศแล้วว่า ‘มีประสิทธิภาพสูง’ โดยประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้มีการนำไปใช้ และต่างยอมรับว่าเป็นหนึ่งในทางออกสำคัญ ที่จะช่วยบรรลุเป้าหมาย ‘การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์’ (Net Zero Emissions) อีกทั้งนำไปใช้บริหารจัดการก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณมากได้ และเหมาะสมกับอุตสาหกรรมที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ยาก
แล้วสงสัยไหมว่า กระบวนการในการดักจับ และกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ว่านี้มีอะไรบ้าง?
CO2 Capture: กระบวนการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากแหล่งกำเนิดในภาคอุตสาหกรรมหรือโรงไฟฟ้า ให้ได้ความเข้มข้นที่มากกว่าหรือเท่ากับ 95 เปอร์เซ็นต์
Transportation: CO2 ที่ถูกดักจับได้จะถูกปรับความดันให้เหมาะสม สำหรับการขนส่งไปยังแหล่งกักเก็บ
Storage: CO2 จะถูกกักเก็บบนฝั่ง (Onshore) หรือนอกชายฝั่ง (Offshore) ในชั้นหินทางธรณีวิทยาไว้อย่างปลอดภัยและถาวร โดยไม่มีการปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศนั่นเอง
Safety of offshore CCS
1. ความลึก : ชั้นหินที่ใช้กักเก็บ CO2 ต้องมีความลึกอย่างน้อย 800 เมตร โดยส่วนใหญ่อยู่ที่ 1,000-3,000 เมตร ซึ่งเป็นระดับที่ห่างไกลจากผู้คน
2. การปิดผนึก : ชั้นหินกักเก็บ CO2 จะถูกขนาบด้วยชั้นหินหนาผนึกแน่นจนไม่สามารถซึมผ่านได้ (shales and mudstones) เหมือนกับชั้นหินที่กักเก็บน้ำมันและก๊าซไว้ใต้ดินเป็นเวลาหลายล้านปี
3. Reverse E&P : CCS เป็นกระบวนการย้อนกลับของกระบวนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) เป็นการรวบรวม CO2 ซึ่งเป็นสารพลอยได้จากการผลิต อัดกลับไปกักเก็บในชั้นหินใต้ดิน อันเป็นแหล่งกำเนิดของ CO2 ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่ผ่านการทดสอบแล้ว และมีการบริหารจัดการอย่างรอบคอบ
4. กลไกการเปลี่ยน CO2 เป็นของแข็ง : CO2 ที่ถูกกักเก็บในชั้นหิน เมื่อเวลาผ่านไปหลายร้อยปี CO2 จะกลายสภาพเป็นของแข็งที่เสถียรและปลอดภัย
5. การติดตามตรวจสอบ : ติดตามตรวจสอบตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการ MMV Program (Monitoring, Measurement and Verification) โดยจะติดตามการรั่วไหล 3 ระดับ คือ แหล่งกักเก็บใต้พื้นดิน, ชั้นใกล้ผิวดิน และชั้นบรรยากาศ
MMV Program (Monitoring, Measurement and Verification)
- ตรวจวัดคุณสมบัติของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก่อนการอัด
- ออกแบบหลุม Injection และหลุม Monitoring
- ตรวจสอบและบำรุงรักษาสภาพหลุม
- ตรวจวัดความดัน ขณะอัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
- ติดตามการกระจายตัวของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
- ตรวจสอบผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม บริเวณพื้นที่กักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
สำหรับประเทศไทยเองก็มีการริเริ่มศึกษาการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี CCS โดยกลุ่ม ปตท. ได้นำร่องศึกษาความเป็นไปได้การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี CCS ภายใต้โครงการ Eastern Thailand CCS Hub บริเวณพื้นที่ปฏิบัติการของกลุ่ม ปตท. ใน EEC จังหวัดระยอง และจังหวัดชลบุรี เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมในกลุ่ม ปตท. และอุตสาหกรรมอื่นๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง
โครงการในระยะแรกจะเน้นที่การบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ กลุ่ม ปตท. ได้แก่ โรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมัน โรงงานปิโตรเคมีและโรงไฟฟ้า และขยายขอบเขตไปยังกลุ่มโรงงานนอกกลุ่มปตท.
ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาด้านเทคนิควิศวกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ชุมชน กฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องตลอดจนความคุ้มค่าเชิงเศรษฐศาสตร์
ท้ายที่สุด การขับเคลื่อน CCS ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ของประเทศยังคงจำเป็นต้องอาศัยองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องหลายมิติ เช่น ด้านนโยบาย ด้านกฎหมาย และปัจจัยส่งเสริมการลงทุน
ดังนั้นการส่งเสริมจากภาครัฐและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ควบคู่ไปกับมาตรการส่งเสริมอื่น จึงถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นไปได้จริง และมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศไทยที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ไว้