
Camel | istockphoto
‘อูฐ’ เป็นสิ่งมีชีวิตหน้าตาโดดเด่นที่มีความสำคัญอย่างมากสำหรับภูมิประเทศทะเลทรายอันแห้งแล้ง หลายศตวรรษที่ผ่านมามนุษย์แถบทะเลทรายใช้อูฐเป็นพาหนะเคลื่อนย้ายทั้งคนทั้งสิ่งของมาตลอด อูฐเป็นสัตว์ตัวใหญ่ คอยาว และมีโหนกที่อุดมด้วยก้อนไขมันใหญ่ยักษ์อยู่บนหลัง (ย้ำ! ในนั้นไม่ได้มีไว้เก็บน้ำ) และมีความสามารถสูงในอดน้ำได้นานๆ กลางทะเลทรายกว้างใหญ่
ร่างกายของอูฐทนทานชนิดที่มันไม่จำเป็นต้องดื่มน้ำได้นาน 2 สัปดาห์และไม่กินอะไรเลยได้นาน 1 เดือนก็ยังรอดชีวิตได้ แต่ไม่ว่าตัวอะไรล้วน ‘ตายได้’ ทั้งนั้น และความตายของอูฐที่น่ารักอาจอันตรายกว่าที่คาดคิด เพราะซากอูฐนั้นอาจเกิด ‘ระเบิด’ ขึ้นได้
ใช่ เราหมายถึง ‘ระเบิด’ จริงๆ ไม่ใช่เปรียบเปรย
อูฐที่ตายในทะเลทรายส่วนใหญ่มักตายจากโรคหรืออุบัติเหตุหลังจากที่ร่างกายหยุดทำงานแล้วจุลินทรีย์ในตัวมันจะเริ่มทำปฏิกิริยา โดยในร่างกายของอูฐมีปัจจัยสำคัญอยู่ 2 ส่วนคือแบคทีเรียในลำไส้และกระเพาะที่ยังทำงาน มันจะสร้างก๊าซจากการย่อยมากขึ้นเรื่อยๆ อีกส่วนหนึ่งคือไขมันก้อนใหญ่ในโหนกที่จะเปลี่ยนเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน กรดอินทรีย์ รวมถึงโปรตีนจะถูกย่อยเป็นก๊าซพิษอื่นๆ

Camel | independent
ประจวบเหมาะกับสภาพแวดล้อมที่ร้อนและแห้งแล้งของทะเลทรายนั้นเอื้อต่อการแพร่พันธุ์ของแบคทีเรียอย่างมาก ทำให้ซากอูฐถูกย่อยไปอย่างรวดเร็วและก๊าซต่างๆ ในร่างกายที่เกิดจากการย่อยเพิ่มขึ้นๆ ในระยะเวลาอันสั้น ก๊าซเหล่านั้นล้วนเป็นพิษและอันตราย เมื่อผิวหนังหนาๆ ของซากอูฐเริ่มโป่งพองนั่นคือสัญญาณของ ‘ระเบิดเวลา’ ที่อาจ ‘บึ้ม’ ขึ้นได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะหากมีใครไปแตะมันเข้าผิวหนังที่เปราะบางอาจระเบิดได้ทันที
‘ระเบิดอูฐ’ นั้นใหญ่พอจะสร้างอันตรายให้กับสัตว์อื่นๆ และมนุษย์ ดังนั้นถ้าหากคุณไปทะเลทรายและพบซากอูฐกลางแสงแดด จงหลีกเลี่ยงไปให้ไกล
อย่างไรก็ดี ปรากฏการณ์อูฐระเบิดไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยๆ แต่ความอันตรายของมันไม่ได้เกิดขึ้นเพราะแรงระเบิด ความอันตรายที่แท้จริงคือก๊าซพิษภายในที่เหมือนกับอาวุธชีวภาพที่กระเด็นไปทั่วและมีกลิ่นรุนแรงจนยากจินตนาการ ดังนั้นอูฐที่ถูกเลี้ยงส่วนใหญ่จะไม่ถูกปล่อยให้ตายกลางทะเลทรายโล่งแจ้งโดยไม่มีการจัดการ
ความจริงแล้วไม่ใช่แค่อูฐเท่านั้น ซากของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีกหลายชนิด เช่น วาฬ ก็สามารถระเบิดได้เช่นกัน แต่ด้วยโครงสร้างร่างกายและสภาพแวดล้อมอูฐทำให้มีปฏิกิริยาที่รวดเร็วและอันตรายกว่า
นอกจาก ‘ระเบิดอูฐ’ แล้วความจริงอูฐเองก็สร้างอันตรายทางตรงให้ได้เช่นกัน หากอูฐตัวที่ไม่ได้ถูกเลี้ยงมาให้ชินกับคนหรือเลี้ยงแบบผิดวิธีก็สามารถทำร้ายร่างกายมนุษย์อย่างก้าวร้าวได้ง่ายๆ เช่นกัน จากรายงานพบว่าในคนที่ได้รับบาดเจ็บเพราะอูฐ ราว 37 เปอร์เซ็นต์ถูกอูฐเตะ 26 เปอร์เซ็นต์เจ็บตัวเพราะตกจากหลังอูฐเอง และอีก 25 เปอร์เซ็นต์ถูกอูฐกัด
ถึงแม้ว่าอูฐจะมีอันตรายอยู่บ้าง แต่โดยทั่วไปอูฐเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญกับมนุษย์เสมอแม้ปัจจุบันมันจะลดบทบาทด้านการเดินทางลงไปมากและอูฐตามธรรมชาติมีจำนวนลดลงอย่างน่าใจหาย โดยเฉพาะอูฐป่า (Camelus ferus) ที่ถูกกำหนดให้เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์และมีอยู่ในธรรมชาติน้อยกว่า 1,000 ตัวในปัจจุบัน
สุดท้ายเอาเป็นว่า ถ้าคุณบังเอิญไปเจอกับซากอูฐที่ตายกลางทะเลทรายก็ให้ระลึกไว้ว่า จงหนีไป!
อ้างอิง
- The daily wild life. Do Camels Explode When They Die? . https://bit.ly/3FPe9rR
- Day day news. I met a dead camel in the desert, why can “t I touch it? How serious are the consequences? . https://bit.ly/32ki2ap
- Inf. The camels that die of thirst cannot be touched. They are not only poisonous but also explode. Be careful after reading. https://bit.ly/3nMDbl7