เมื่อเหตุการณ์ ‘ฟาดเก้าอี้’ 6 ตุลาฯ ถูกโยงกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ‘กัมพูชา’
Select Paragraph To Read
- นรกคือที่อื่น
- ภาพรางวัลพูลิตเซอร์ที่คนในภาพไม่เคยแสดงตัว
เหตุการณ์ ‘16 ตุลา’ เคยเป็นมุกขำขื่นเวลามีคนพูดถึงประวัติศาสตร์เดือนตุลาที่ถูกหลงลืม หรือไม่ก็ถูกจดจำอย่างพร่าเลือนในสังคมไทย เพราะเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองในอดีต เมื่อวันที่ 14 ตุลา 2516 กับ 6 ตุลา 2519 ถูกจับมาผสมปนเปกันด้วยความเข้าใจคลาดเคลื่อนของคนจำนวนหนึ่ง
ซึ่งจะว่าไปก็ไม่ใช่ความผิดของใครทั้งนั้น เพราะแม้แต่คนที่เคยผ่านเหตุการณ์ดังกล่าวมาด้วยตัวเอง ก็มีแนวโน้มจะเลือกจดจำเฉพาะแง่มุมที่ตัวเองประสบมา
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ภาพ ‘ฟาดเก้าอี้’ ในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 จะถูกนำไปใช้เป็นปกอัลบั้มที่มีเพลงชื่อว่า Holiday in Cambodia รวมอยู่ด้วย โดยเป็นผลงานของวงพังก์ร็อกอเมริกัน Dead Kennedys ซึ่งออกมาช่วงปี 1980 ทำให้ภาพจำของวันที่ 6 ตุลาในไทยถูกนำไปโยงกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกัมพูชาโดยอัตโนมัติ
นรกคือที่อื่น
Feliz Solomon ผู้เขียนบทความเกี่ยวกับการจัดงานรำลึกวันครบรอบ 40 ปีเหตุการณ์ 6 ตุลาในนิตยสาร Time เมื่อปี 2559 ระบุว่าคนอเมริกันจำนวนหนึ่งคุ้นเคยกับภาพฟาดเก้าอี้จากอัลบั้มของ Dead Kennedys แต่มีคนน้อยมากที่จะรู้ว่าภาพนี้คือเหตุการณ์ 6 ตุลาที่เกิดขึ้นในไทย เพราะดูเหมือนว่าภาพดังกล่าวจะเข้ากันดีกับชื่อเพลงที่ชวนให้นึกถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในยุคเขมรแดงปกครองกัมพูชา
ส่วนเนื้อหาของเพลง ‘วันหยุดในกัมพูชา’ ถูกตีความว่าเป็นการเสียดเย้ยคนเมืองหรือชนชั้นกลางอเมริกันซึ่งไม่รู้จักความยากลำบากที่แท้จริงในชีวิต แต่มักจะชอบคิดว่าตัวเองรู้ดีกว่าคนอื่นๆ ในสังคม ซึ่งอาจรวมไปถึงผู้คนในประเทศเล็กๆ แถบเอเชียที่อยู่ห่างไกลออกไปอีกซีกโลกด้วย เนื้อเพลงตอนหนึ่งของเพลงจึงไล่ให้อภิสิทธิ์ชนทั้งหลายลองไปลิ้มรสชีวิตในกัมพูชายุคพลพตกันดูบ้าง
ขณะที่กูรูเพลงอีกบางส่วนก็มองว่าจริงๆ เพลงนี้เป็นการเสียดเย้ยอีกชั้นหนึ่งว่าคนจากประเทศแถบตะวันตกก็ไม่ได้สนใจเหตุการณ์รอบโลกมากมายอะไรนัก และอาจจะแยกไม่ออกด้วยซ้ำไปว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในไทย กัมพูชา หรือประเทศอื่นๆ ในเอเชียแตกต่างกันยังไง เพราะสุดท้ายแล้ว ความเลวร้ายซึ่งเกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ ก็ไม่ใช่ธุระกงการอะไรของพวกเขาอยู่ดี
ภาพรางวัลพูลิตเซอร์ที่คนในภาพไม่เคยแสดงตัว
ภาพบนปกอัลบั้มของ Dead Kennedys เกิดขึ้นหลังจากตำรวจ ทหาร และกลุ่มขวาจัดบุกเข้าไปจับกุมผู้ชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากที่พวกเขารวมตัวต่อต้านการกลับเข้ามาประเทศไทยอีกครั้งของจอมพลถนอม กิตติขจร อดีตผู้นำรัฐบาลเผด็จการที่เกี่ยวพันกับการสังหารนักศึกษา-ประชาชนซึ่งออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาลเมื่อ 14 ตุลา 2516 แต่เจ้าหน้าที่รัฐและสื่อของรัฐกลับรายงานปลุกระดมว่าผู้อยู่ใน ม.ธรรมศาสตร์ คือชาวต่างชาติหรือไม่ก็พวกที่สนับสนุนคอมมิวนิสต์ซึ่งเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ
เมื่อตำรวจ-ทหารสนธิกำลังบุกเข้าไปใน ม.ธรรมศาสตร์ นำไปสู่การทำร้ายร่างกาย-ละเมิดทางเพศ-สังหาร-จุดไฟเผา รวมถึงการนำร่างผู้ชุมนุมที่เสียชีวิตไปแขวนกับต้นมะขามที่สนามหลวง ทั้งยังไม่มีใครห้ามผู้ที่ใช้เก้าอี้เหล็กฟาดร่างไร้วิญญาณที่ถูกแขวน ขณะที่สีหน้าของ ‘ไทยมุง’ ผู้รายล้อมอยู่ด้านนอกมีรอยยิ้มเมื่อเห็นความตายของ ‘ฝ่ายซ้าย’ โดยฝีมือของฝ่ายขวาที่ตั้งตัวเป็นศาลเตี้ย
สำนักข่าว AP รายงานว่าภาพฟาดเก้าอี้ถูกถ่ายโดย Neal Ulevich ช่างภาพข่าวในสังกัดเอพีที่ประจำการแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคนั้น และภาพเหตุการณ์ดังกล่าวได้รับรางวัลระดับพูลิตเซอร์ในไม่กี่ปีต่อมา แต่ไม่เคยมีใครออกมาแสดงตัวว่าเป็น ‘บุคคลในภาพ’ แม้แต่คนเดียว ซึ่งต่างจากภาพที่เคยได้รางวัลอื่นๆ ที่มักจะมีผู้ออกมาแสดงตัวภายหลังว่าเป็นบุคคลในเหตุการณ์
ส่วนความพยายามจะชำระประวัติศาสตร์และการตามหาตัวตนผู้เสียชีวิตและสูญหายในเหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นการเคลื่อนไหวจากคนทำงานภาคประชาสังคมหรือศิลปินอิสระมากกว่าจะเกิดจากการผลักดันของหน่วยงานภาครัฐในประเทศ
เหตุการณ์นี้เวียนมาครบรอบ 45 ปี ในขณะที่ กทม.ผ่อนผันให้กิจกรรมต่างๆ กลับมาดำเนินการต่อได้หลายส่วน แต่ในตอนแรกทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พยายามทักท้วงไม่ให้จัดงานรำลึกใดๆ ในสถานที่เกิดเหตุ โดยให้เหตุผลว่า “อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่” จึงมีผู้จัดงานและผู้ที่คิดจะไปร่วมงานหลายคนแย้งว่าทางมหา’ลัยกำลังปิดกั้นสิทธิในการชุมนุมและการแสดงออกอย่างสงบ
อ้างอิง:
- Dead Kennedys – Holiday In Cambodia / Police Truck: https://bit.ly/3DbuaHB
- 1976 lynching photo both dark mark and blind spot for Thais: https://bit.ly/3AiERq8
- Thailand Is Marking the Darkest Day in Its Living Memory: https://bit.ly/3ixYftc