4 Min

“คอลเอ้าท์” สิ่งสำคัญที่คนดังทำได้ และช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคม

4 Min
502 Views
26 Jul 2021

คอลเอ้าท์ หรือ “Call Out”

คำที่ได้ยินกันบ่อยในช่วงนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้คนจำนวนมากในประเทศไทยกำลังอยู่ในสมรภูมิการต่อสู้เพื่อความเปลี่ยนแปลง ในกระแสการเรียกร้องของประชาชนทั่วไปที่ดำเนินไปอย่างเข้มข้น เราได้เห็นคำว่าดาราเข้ามาข้องเกี่ยวในกระแสนี้ด้วย

บางคนว่า เสียงของบุคคลมีชื่อเสียง ย่อมสามารถดังได้มากกว่าคนทั่วไป และสามารถดึงความสนใจมาสู่การเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้น จึงเกิดปรากฏการณ์ที่ประชาชนทั่วไปคาดหวังให้บุคคลสาธารณะทั้งหลายออกมาช่วยเรียกร้องและพูดกับประชาชน จนเคยเกิด #วันนี้ดาราCallOutหรือยัง

การคอลเอ้าท์หรือการเป็นกระบอกเสียงของบุคคลมีชื่อเสียงมันสำคัญหรือ? แล้วมันช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้จริงๆ ใช่ไหม?

คำตอบ คือ ใช่

คำตอบนี้ไม่ได้มาลอยๆ แต่มันคือคำตอบจากการมองประวัติศาสตร์

วันนี้ LOCALRY จะขอยกตัวอย่างเส้นทางการคอลเอ้าท์ของดินแดนแห่งเสรีภาพหรือที่หลายๆ คนรู้จักในชื่อสหรัฐอเมริกา ว่าตั้งแต่ช่วงการก่อร่างสร้างประเทศ ไปจนถึงตอนที่ประเทศนี้ต้องการความเปลี่ยนแปลงในเรื่องสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพ การคอลเอ้าท์เข้ามามีบทบาทอย่างไรบ้าง

เพื่อที่เราจะได้เข้าใจว่าทำไมการคอลเอ้าท์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่บุคคลมีชื่อเสียงสามารถทำได้เว้นเสียแต่ว่าเขาหรือเธออาจกลัวการเปลี่ยนแปลง หรืออาจมีอำนาจที่มองไม่เห็นกดทับไว้

ซึ่งก็มีคนที่เคยกลัวแต่ก้าวข้ามจุดนั้นมาได้ อย่าง “Taylor Swift”

นักร้องป๊อปสตาร์ชื่อก้องโลกสารภาพว่า เธอเคยกลัวการออกมาพูดเรื่องการเมืองในสารคดีปี 2020 “Miss Americana : Taylor Swift” เธอจึงเงียบเป็นเวลาเกือบ 12 ปี และโดนพร่ำบอกว่า อย่าเป็นเหมือนรุ่นพี่ในวงการ “the Dixies Chicks” ที่เคยออกมาวิจารณ์ปธน.จอร์จ ดับเบิลยู บุชกับสงครามในอิรัก จนเกิดผลกระทบกับหน้าที่การงาน

แต่ในปี 2018 เทย์เลอร์ สวิฟต์ที่กล่าวในสารคดีว่าเธอต้องการอยู่ข้างที่ถูกต้องของประวัติศาสตร์ได้เริ่มออกมาแสดงจุดยืนต่อต้านทรัมป์รวมถึงตัวแทนจากพรรคของเขา และในปี 2020 เทยเลอร์ออกมาทวีตต่อต้านทรัมป์ประเด็นไปรษณีย์อเมริกา ว่าเขาเลือกที่จะโกงและทำให้คนอเมริกันนับล้านตกอยู่ในความเสี่ยงเพื่อจะยังครองอำนาจอยู่” (https://bit.ly/2V7Hmg1)

หากมองจากภายนอก บางคนอาจคิดว่า ในฐานะป๊อปสตาร์ที่โด่งดังและร่ำรวยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เธอคงไม่ได้เดือดร้อนอะไรมากหากออกมาคอลเอ้าท์ แต่ในสารคดีได้พิสูจน์แล้วว่า ก่อนที่เธอจะตัดสินใจทวีตแสดงจุดยืน ช่วงแรกๆ เธอต้องผ่านการถกเถียงกับทีมงานและพ่อของเธอ เพื่อต่อสู้กับความกลัวเกี่ยวกับความปลอดภัยในชีวิต

ส่วนการออกมาคอลเอ้าท์ครั้งแรกของเทย์เลอร์ในการเลือกตั้งปี 2018 แม้อาจไม่รุนแรงพอที่จะเปลี่ยนผลการเลือกตั้ง แต่เธอทำให้คนออกไปลงทะเบียนเลือกตั้งเพิ่มขึ้นถึง 5 หมื่นกว่าสิทธิ์ภายใน 24 ชม. หลังจากเธอทวีต และทำให้สถิติคนรุ่นใหม่ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งเพิ่มขึ้นถึง 7 เท่าในรัฐเทนเนสซี

นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งจากยุคสมัยปัจจุบัน แต่ถ้าย้อนกลับไปให้นานกว่านั้น ก็จะยิ่งเห็นเลยว่า การคอลเอ้าท์เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่ง ที่ช่วยสร้างชาติให้คนอเมริกาได้มีประเทศและสิทธิหลายๆ เรื่องอย่างในปัจจุบัน

ในช่วงก่อร่างสร้างประเทศอเมริกา ปี 1780 “George Washington” ขอให้ “Marquis de Lafayette” ขุนนางฝรั่งเศสที่กล่าวกันว่าเป็นเซเลบคนแรกของอเมริกาช่วยขอกับทางการฝรั่งเศสให้ช่วยหนุนทหารฝรั่งเศสมาสมทบกับกองทัพภาคพื้นทวีป (Continental Army) ซึ่งสุดท้ายในสงครามประกาศเอกราช George Washington ก็เป็นฝ่ายชนะ และได้เป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา

หรืออย่างในช่วงต้นปี 1900’ s หลังจากมีการก่อตั้งของสมาคมสิทธิเลือกตั้งผู้หญิงแห่งชาติ” (National Woman Suffrage Association) สมาคมนี้ก็ได้รับการส่งเสริมจากดาราหญิงมีชื่อเสียงหลายๆ คนในการช่วยสร้างการรับรู้ให้กับสังคมว่า ผู้หญิงต้องมีสิทธิเลือกตั้ง เช่น Mary Shaw, Lillian Russell และ Fola La Follette ผ่านการออกมาพูดในที่สาธารณะและร่วมเดินพาเหรดโดยไม่มีการแบ่งแยกชนชั้น

ส่วนขบวนการเคลื่อนไหวสิทธิพลเมือง (The Civil Rights Movement) ในยุค 60’ s ส่วนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จได้ ก็เพราะการออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองของบุคคลมีชื่อเสียงหลายคน เช่น Sammy Davis Jr. ดาราตลกที่ปฏิเสธขึ้นแสดงในคลับที่แบ่งแยกสีผิวหลายแห่งในลาสเวกัสและไมอามี่ อีกทั้งยังมี Ossie Davis, Ruby Dee, Dick Gregory, Harry Belafonte, Jackie Robinson ที่เข้าร่วมเดินขบวน บริจาคเงิน และช่วยเปิดโอกาสให้คนผิวสีเข้ามาในวงการบันเทิงเพิ่มขึ้น

และอีกคนที่สำคัญ นักมวยยิ่งใหญ่ของโลก อย่าง “Muhammad Ali” ผู้เป็นเพื่อนกับ Martin Luther King Jr. อาลีไม่ได้ปล่อยหมัดหนักของเขาแค่บนเวทีมวย แต่ยังปล่อยเป็นถ้อยคำเรียกร้องให้สังคมหมัดแล้วหมัดเล่า ซึ่งถ้าจะบอกว่า เขาคือส่วนหนึ่งที่ กฎหมายสิทธิพลเมืองสำเร็จได้ในปี 1964 ก็คงไม่ผิดนัก

การต่อยมวยเป็นเพียงหนทางของผม ที่จะทำให้ผมได้ทำความรู้จักกับความยากลำบาก การต่อสู้หลักๆ ของผม คือ สู้เพื่อเสรึภาพและความเท่าเทียมอาลีกล่าว ซึ่งเป็นสิ่งที่นิยามทั้งชีวิตของเขา ที่เต็มไปด้วยการต่อสู้เพื่อสันติภาพได้เป็นอย่างดี

ส่วนในประเทศไทย รากเหง้าของดาราและการเมืองแตกแยกออกจากกันมาตั้งแต่ช่วงเริ่ม เพราะตั้งแต่ระหว่างปีพ.. 2498 – 2516 ละครไทยดำเนินอยู่ในระบบอุปถัมภ์ ซึ่งละครแต่ละเรื่องจะได้รับเงินจากผู้อุปถัมภ์และต้องจัดละครตามที่นายทุนพอใจ หรือตามรสนิยมคนดู และในตอนนั้น กว่าละครแต่ละเรื่องจะผ่านไปสู่สายตาผู้ชมก็ต้องผ่านการตรวจสอบจากรัฐบาลด้วย

อีกทั้งในยุคต่อๆ มา ก็ยังมีเรื่องของสัมปทานรัฐผูกขาดที่ทำให้คนไทยเคยต้องดูทีวีอยู่แค่ไม่กี่ช่อง นี่ก็เป็นอีกส่วนสำคัญที่ทำให้ดาราไทยไม่ยึดโยงกับประชาชนอย่างแท้จริง

แม้ระบบอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงไทยได้เปลี่ยนไปแล้วในปัจจุบัน เพราะการเข้ามาของระบบทีวีดิจิตอลและสตรีมมิ่ง ที่ทำให้คนดูอย่างเรามีสิทธิเลือกบริโภคได้มากขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปคือ อิทธิพลของบุคคลมีชื่อเสียง ซึ่งปรับเปลี่ยนมาอยู่ในรูปแบบผู้ติดตามหรือ followers ที่พร้อมเห็นชีวิตหรือความคิดของดาราคนหนึ่งอยู่ตลอดเวลา

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับยุคนี้ ที่ผู้คนซึ่งกำลังต่อสู้เพื่อความเปลี่ยนแปลง จะมีการเรียกร้องให้ดาราคนหนึ่งละทิ้งระบบเกรงใจนายทุนเก่าๆ แล้วออกมาพูดกับประชาชน หรือก็คือคนที่กำหนดได้ว่าใครจะดังหรือดับอย่างแท้จริง

แถมเราก็ได้เห็นในประวัติศาสตร์กันไปแล้วว่า เมื่อดาราสลัดอำนาจที่พยายามกดทับ แล้วเปล่งเสียงออกมา เสียงของพวกเขามันสามารถดังไปถึงหูใครต่อใคร และอาจดังไปไกลจนสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคม

อ้างอิง

  • The Standard. “เขาเลือกที่จะโกงและทำให้คนอเมริกันนับล้านตกอยู่ในความเสี่ยงเพื่อจะยังได้ครองอำนาจต่อ” Taylor Swift โจมตี Trump อีกครั้ง ประเด็นไปรษณีย์อเมริกา. https://bit.ly/2V19ktI
  • The Conversation. Celebrity voices are powerful, but does the First Amendment let them say anything they want? . https://bit.ly/3zo0aGD
  • Workpoint TODAY. ย้อนมองโครงสร้างวงการบันเทิงไทยที่เสรีภาพดาราไม่เคยอยู่ในสมการ. https://bit.ly/3eMqqmc
  • Youtube. Vox. Muhammad Ali’s biggest fights were outside the ring. https://bit.ly/2W3sbom