รู้ไหม แคลิฟอร์เนียเป็นรัฐแห่ง “ผู้อพยพ” ที่กำลังพลิกโฉมการเมืองอเมริกา
Select Paragraph To Read
- ประวัติศาสตร์การอพยพมายัง “รัฐแห่งอเมริกันดรีม”
- ถามว่าทำไมไปแคลิฟอร์เนียกัน?
- เมื่อผู้อพยพพลิกโฉมการเมือง
- การเปลี่ยนแปลงอเมริกาเริ่มที่รัฐเดียว
สังคมไทยนั้นน่าจะคุ้นเคยกับอเมริกาเป็นอย่างดี เพราะนี่น่าจะเป็นประเทศที่เรารับเอา “วัฒนธรรม” มาเยอะที่สุดในช่วงตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2
แต่ “อเมริกา” ที่เรารู้จักก็ไม่ใช่อเมริกาที่คนอเมริกันรู้จักหรือมองตัวเองสักเท่าไร เพราะเรา “รู้จัก” อเมริกาผ่าน “เมืองใหญ่” ที่เราเห็นในป๊อปคัลเจอร์เป็นหลัก และเอาจริงๆ เรา “เห็น” อเมริกาผ่านภาพยนตร์ ไม่ว่าจะผลิตจาก “ฮอลลีวู้ด” หรือ Netflix
ทีนี้ เรารู้ไหมครับว่า “ภาพของอเมริกา” แทบทั้งหมดที่เรารู้จัก แทบจะผลิตมาจากรัฐเดียวเลยคือ “แคลิฟอร์เนีย ”เพราะที่เราพูดถึง “ฮอลลีวู้ด” เรากำลังพูดถึงบริษัทผลิตภาพยนตร์ ซึ่งบริษัทภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกตอนนี้ที่มีบริษัทลูกมากมายและเป็นเจ้าของภาพยนตร์ที่รายได้สูงสุดอย่าง Disney คือบริษัทจากแคลิฟอร์เนีย และ Netflix เองก็เป็นบริษัทจากแคลิฟอร์เนีย
นี่ยังไม่ต้องพูดว่า “โซเชียลมีเดีย” ที่เราใช้อยู่ทุกวี่วันและมีบทบาทในการคัดกรองและคัดเลือกเนื้อหาที่เราเสพก็เป็นบริษัทจากแคลิฟอร์เนียทั้งนั้น ไม่ว่าจะ Facebook หรือ Twitter
พูดอีกแบบ อเมริกาที่เราเห็นมันคืออเมริกาผ่าน “แว่นของแคลิฟอร์เนีย” ทั้งนั้น
อย่างไรก็ดีสำหรับคนในอเมริกาเอง แคลิฟอร์เนียเป็น “รัฐประหลาด” ที่คนรัฐอื่นๆ หมั่นไส้หรือกระทั่ง “เกลียด” มาก
ดังนั้นเวลาชาวต่างชาติเข้าใจว่า “อเมริกัน” คือ “แคลิฟอร์เนีย” คนรัฐอื่นจะเซ็งจัดๆ
แต่ก็นั่นแหละ มันมีเหตุผลของมันที่ทำให้ “รัฐประหลาด” รัฐนี้เป็นรัฐที่มีบทบาทสำคัญด้านเศรษฐกิจและการเมืองที่สุด
เอาง่ายๆ รัฐนี้คือรัฐที่ประชากรมากสุดในอเมริกา และรายได้เยอะที่สุดด้วย รายได้ของรัฐนี้รัฐเดียวมากว่าประเทศอย่างอังกฤษด้วยซ้ำ ดังนั้นมันเลยเป็นรัฐที่มีอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองมหาศาล
และที่น่าสนใจคือรัฐนี้มีความต่างจากรัฐอื่นๆ แบบสุดๆ เลย ตรงที่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ประชากร “ส่วนใหญ่” ของรัฐคือ “ผู้อพยพ” และคนเหล่านี้แหละที่ค่อยๆ เปลี่ยนโฉมหน้าสหรัฐอเมริกา
ประวัติศาสตร์การอพยพมายัง “รัฐแห่งอเมริกันดรีม”
มีการกล่าวกันว่า ในสหรัฐอเมริกา ไม่มีใครไม่ใช่ผู้อพยพ เพราะทุกคนย้ายมาจากที่อื่นทั้งนั้น (อาจเว้น “คนอเมริกันพื้นเมือง” ที่เราชอบเรียกว่า “อินเดียนแดง”)
นี่อาจจะเกินจริงไปนิด เพราะในปัจจุบัน “คนอเมริกัน” จำนวนมากก็อยู่ที่แผ่นดินนี้มาหลายชั่วคนแล้ว และในหลายๆ รัฐ ก็ไม่ค่อยมีคนย้ายเข้าไปเท่าไร เว้นอยู่รัฐหนึ่งที่เป็นรัฐที่มีผู้อพยพเข้ามาทำงานตลอด และรัฐที่ว่าคือแคลิฟอร์เนีย
พื้นที่รัฐแคลิฟอร์เนียเป็นของอเมริกาตอนแรกช่วงอเมริกาขยายดินแดนในศตวรรษที่ 19 (ตอนแรกพื้นที่ตรงนี้เป็นของเม็กซิโก อเมริการบกับเม็กซิโกแล้วแย่งมา) และพอเป็นของอเมริกา สิ่งแรกๆ ที่เกิดขึ้นก็คือ คนไปขุดเจอทอง และทำให้คนจากรัฐอื่นๆ ทั่วอเมริกาเดินทางมารัฐนี้เพื่อมาแสวงโชคขุดทอง ซึ่งนี่คือช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ที่เรียกว่าช่วง “ตื่นทอง” (Gold Rush) และทำให้คนจากทั่วสหรัฐอเมริกาแห่แหนกัน “เดินทางไปตะวันตก” เพื่อจะขุดทองและ “ตะวันตก” ที่ว่าของอเมริกาก็คือแคลิฟอร์เนียนี่เอง
หรือพูดง่ายๆ ตอนแรกรัฐนี้ไม่มีคนอยู่เลย และผู้อพยพชุดแรกคือ “พวกอยากรวย” มาขุดทอง ซึ่งในตอนนั้นคนอเมริกันจำนวนไม่น้อยก็ไม่อยากลงไปคลุกดินเอง แต่ช่วงนั้นอเมริกาเลิกทาสแล้ว จะใช้แรงงานทาสไม่ได้ พวกเขาก็เลยจ้าง “แรงงานต่างด้าว” มาทำงานแทน โดยให้คนจีนล่องเรือข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกมายังสหรัฐอเมริกามาแสวงโชคเป็น “กุลี” หรือทำงานใช้แรงงานให้คนอเมริกัน โดยช่วงนั้นแรงงานคนจีนหลักๆ จะมาอเมริกาเพื่อทำเหมืองหรือทางรถไฟ
คนอเมริกันนิยมจ้างคนจีน เพราะคนจีนเป็นคนสู้งานพร้อมๆ กับยินดีรับค่าแรงขั้นต่ำมากกว่าพวก “คนขาวชั้นล่าง” ในอเมริกาที่ “ขี้เกียจ” กว่าและเรียกร้องค่าแรงสูง (สถานการณ์คุ้นๆ ไหมครับ) เมื่อสถานการณ์ดำเนินไปเรื่อยๆ คนจีนก็ถูกพวก “คนขาว” ระดับล่างเกลียดมากขึ้น จนเกิดประเด็นทางการเมือง เกิดการต่อต้านคนจีน และในที่สุดในปี 1882 ทางรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกาก็ออก Chinese Exclusion Act เพื่อห้ามคนจีนอพยพเข้าอเมริกา และนี่เป็นครั้งเดียวในประวัติศาสตร์อเมริกาที่รัฐบาลออกกฎหมายมาแบนห้ามคนที่มีเชื้อชาติอย่างเฉพาะเจาะจงเข้าประเทศ ซึ่งต่อมาในปี 1924 กระแสเกลียดคนเอเชียก็พัฒนาขึ้นจนออก Asian Exclusion Act เพื่อห้ามคนเอเชียทั้งหมดเลยอพยพเข้าอเมริกาเป็นเวลาหลายสิบปีต่อมา
ตรงนี้เราจะเห็นได้เลยว่าในช่วงตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 ถึงกลางศตวรรษที่ 20 อเมริกานั้นมีคนเอเชียน้อยมากๆ ซึ่งที่แคลิฟอร์เนียก็เช่นกัน เพราะตอนแรกแม้ว่ารัฐนี้จะเป็นปลายทางของผู้อพยพชาวจีน แต่เมื่อรัฐบาลกลางห้ามคนจีนเข้าประเทศ แคลิฟอร์เนียก็ต้องทำตาม
ต่อมาเมื่อกระแสสังคมต้านการ “เหยียดผิว” หนักขึ้น ความคิดสังคมก็เปลี่ยน จนกระทั่งปี 1965 รัฐบาลกลางก็ได้ออก Immigration and Nationality Act of 1965 และยกเลิกโควตาการอพยพที่แยกเป็นเชื้อชาติมานับแต่วันนั้นถึงวันนี้
เมื่อ “ปลดล็อก” การอพยพในยุคที่อเมริกากลายมาเป็นชาติที่ร่ำรวยที่สุดในโลก แน่นอนผู้อพยพจากพื้นที่ยากจนทั่วโลกก็หลั่งไหลมาอเมริกา แล้วถามว่าจะมาที่ไหน หลักๆ ก็หนีไม่พ้นแคลิฟอร์เนียเจ้าเก่า เพราะโดยทั่วไป รัฐนี้ถือว่าเป็นรัฐที่มีประวัติรับผู้อพยพมากที่สุดมาตั้งแต่อดีต ไม่ว่าจะเป็นชาติลาตินอเมริกาหรือเอเชีย
เอาแค่สัก 20 ปีให้หลังการปลดล็อก ในยุค 1980’s เราก็จะเห็นเลยว่า “คนขาว” เริ่มกลายเป็นคนกลุ่มน้อยลงเรื่อยๆ คนจากลาตินอเมริกาเข้ามาแคลิฟอร์เนียเต็มไปหมด คนเอเชียก็มีเพียบ (ช่วงนี้คนไทยเข้าไปเยอะมาก แต่ที่มากกว่าคือคนฟิลิปปินส์)

ย่าน “ไทยทาวน์” ในลอสแองเจสิส | Wikipedia
ถามว่าทำไมไปแคลิฟอร์เนียกัน?
ในยุคศตวรรษที่ 19 เข้าใจได้ว่าเพราะว่าล่องเรือจากเอเชียก็ไปโผล่ที่ซานฟรานซิสโก (จะอ้อมไปนิวยอร์กก็ใช่ที่) แต่ในยุคของเครื่องบิน มันไม่จำเป็นแล้ว
อย่างไรก็ดี ในยุคนี้คนก็ยังไปแคลิฟอร์เนียเพราะว่ามันมีโอกาสด้านหน้าที่การงานสูงที่สุด คือเมื่อคนเข้ามาเรื่อยๆ เศรษฐกิจโตขึ้นเรื่อยๆ มันก็มีงานให้ทำ และการที่รัฐนี้คุ้นเคยกับผู้อพยพที่สุดในอเมริกามันเลยเป็นรัฐที่ “เป็นมิตรกับผู้อพยพ” ที่สุดด้วย …ดังนั้นคนจะไปรัฐอื่นกันทำไม
การขยายตัวของผู้อพยพนั้นในตอนแรกไม่ส่งผลทางการเมืองเท่าไร เพราะรัฐนี้ก็เป็นรัฐของพรรครีพับลิกันมาช้านาน เรียกได้ว่าทุกๆ การเลือกตั้งที่สูสี พรรครีพับลิกันมักจะชนะตลอด แต่สุดท้ายแล้ว จุดที่คนรัฐนี้ “ตัดขาด” จากพรรคที่ครองอำนาจมานานก็คือปี 1994 เมื่อมีการโหวตทำประชามติในรัฐว่า รัฐควรจะให้บริการกับผู้อพยพที่เข้าเมืองมาผิดกฎหมายหรือไม่ (เรื่องนี้เรียกว่า California Proposition 187) ทางพรรครีพับลิกันดันไปหนุนว่า “ไม่ควร” นี่ทำให้คนที่เป็นผู้อพยพมานานในรัฐและมีสิทธิ์ทำประชามติโกรธมาก เพราะไม่ต้องใช้ความรู้อะไรมาก็คงจะเห็นว่าอยู่ดีๆ การออกนโยบายนี้ มันคือการต่อต้านผู้อพยพชัดเจน และนั่นขัดกับวิถีของรัฐ เพราะผลโพลก็ชี้ว่าคนในรัฐนี้ส่วนใหญ่มองผู้อพยพในแง่บวกว่ามาช่วยทำให้เศรษฐกิจเฟื่องฟู เขาไม่ได้มองว่าเป็นพวกขี้เกียจมานั่งกินนอนกินสวัสดิการ
ถ้าจะถามว่าชาวแคลิฟอร์เนียโกรธแค่ไหน หลักๆ คือ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา คนแคลิฟอร์เนียไม่เคยเลือกคนจากพรรครีพับลิกันเป็นประธานาธิบดีแม้แต่ครั้งเดียว เรียกว่าโกรธเบอร์นั้น
และนั่นแหละมันเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง
เมื่อผู้อพยพพลิกโฉมการเมือง
ถ้าพอจะรู้ประวัติศาสตร์การเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกา สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้เลยก็คือ ตลอดศตวรรษที่ 20 ใครจะได้เป็นประธานาธิบดีอเมริกาแบบชนะขาดนั้นจะต้องชนะแคลิฟอร์เนียด้วย ซึ่งเหตุผลที่เป็นแบบนี้ก็เพราะรัฐนี้คือรัฐที่คนเยอะที่สุดมาตั้งแต่กลางๆ ศตวรรษที่ 20 และทำให้ “น้ำหนักคะแนนเสียง” มันเยอะที่สุด
ดังนั้น พูดง่ายๆ ว่า “ประธานาธิบดีขวัญใจคนอเมริกา” ทุกคน นั้นจะเป็นขวัญใจคนแคลิฟอร์เนียด้วย
ดังนั้นการ “ไม่เผาผี” พรรครีพับลิกันของชาวแคลิฟอร์เนียในปี 1994 อันสืบเนื่องจากประเด็นนโยบายผู้อพยพนั้นเรื่องใหญ่มาก เพราะทำให้รัฐที่มีน้ำหนักคะแนนเสียงมากที่สุดรัฐนี้กลายมาเป็นฐานเสียงของพรรคแคโมแครตแบบถาวร และนี่เป็นเหตุผลให้ประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันอย่าง George W. Bush มาจนถึง Donald Trump นั้นไม่สามารถชนะเลือกตั้งได้อย่างเด็ดขาดเหมือนประธานาธิบดีรีพับลิกันคนอื่นๆ ในอดีต
พูดง่ายๆ คือ ถ้าชนะแคลิฟอร์เนียไม่ได้ ก็ไม่ต้องพูดว่า “ครองใจคนอเมริกา” ได้ และจะมีกระแสต่อต้านเยอะตลอด (ก็คงคล้ายๆ พรรคที่ได้เป็นรัฐบาลในไทย แต่แพ้เลือกตั้งหลุดลุ่ยใน กทม.)
แต่ความโหดยังไม่จบ เพราะ “คนแคลิฟอร์เนีย” ไม่ได้อยู่แค่ใน “แคลิฟอร์เนีย” ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจที่ไต่ระดับขึ้นมาเรื่อยๆ ทำให้ค่าครองชีพในรัฐนี้สูงขึ้นมหาศาลและทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย ต้องหนีไปตั้งรกรากในรัฐบ้านใกล้เรือนเคียง เพราะพวกเขาไม่มีปัญญาซื้อบ้านในแคลิฟอร์เนีย
คนเหล่านี้จำนวนมากเป็นผู้อพยพ ที่แม้จะ “รายได้น้อย” บนฐานแคลิฟอร์เนีย แต่ไปอยู่รัฐอื่นถือว่าเป็น “ชนชั้นกลาง” และคนพวกนี้มีลักษณะแบบ “ชาวแคลิฟอร์เนีย” ร่วมสมัยคือจะเกลียดพรรครีพับลิกัน และเลือกพรรคเดโมแครต
ดังนั้นพูดง่ายๆ การกระจายตัวของชาวแคลิฟอร์เนียไปรัฐอื่นๆ ก็เลยทำให้รัฐอื่นๆ ได้ฐานเสียงของพรรคเดโมแครตเพิ่มขึ้น
และที่ “น่ากลัว” ที่สุดของพรรครีพับลิกันก็คือ “รัฐเท็กซัส” ซึ่งเป็นรัฐที่มีขนาดประชากรเป็นอันดับ 2 ของอเมริกา เพราะนี่คือรัฐที่ชาวแคลิฟอร์เนียย้ายมามากที่สุด
ซึ่งถ้าดูผลเลือกตั้ง เราก็จะเห็นเลยว่า ตอนนี้พวกเมืองใหญ่ๆ นั้นในสนามประธานาธิบดีเลือกพรรคเดโมแครตกันหมดแล้ว และแม้แต่ในเท็กซัสเอง พวกที่เลือกรีพับลิกันในสนามประธานาธิบดีดูจะเป็นพวก “บ้านนอก” ที่ตอนนี้ยังมีจำนวนมากกว่าถ้าเทียบกับ “ชาวเมือง”
ทีนี้ แพตเทิร์นมันชัดเจนมากกว่า ถ้าคนยังอพยพมาเท็กซัสเรื่อยๆ สุดท้ายพรรครีพับลิกันก็จะสูญเสียรัฐเท็กซัสไป และนั่นก็บอกเลยว่าแทบไม่ต้องลุ้นจะเป็นประธานาธิบดีกันแล้ว เพราะถ้าดูสมัยที่ Trump ได้รับเลือก หรือกระทั่งย้อนไปสมัย Bush เราจะเห็นเลยว่า ขนาดไม่ต้องลุ้นเท็กซัส ก็ยังต้องลุ้นรัฐอื่นแทบแย่ เพื่อชนะเลือกตั้งแบบเฉียดฉิว ถ้าเสียเท็กซัสไปคือไม่ต้องลุ้น
ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่พรรครีพับลิกันจะเกลียดแคลิฟอร์เนียมากๆ เพราะรัฐนี้และ “วัฒนธรรมผู้อพยพ” อันยาวนานของรัฐอาจทำให้พรรคนี้สูญเสียเก้าอี้ประธานาธิบดีไปตลอดกาล (เว้นแต่จะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายกันขนานใหญ่)
การเปลี่ยนแปลงอเมริกาเริ่มที่รัฐเดียว
เคสของแคลิฟอร์เนียเป็นเคสที่น่าสนใจมากในมุมที่ว่ารัฐนี้รัฐเดียวงมีบทบาทกับการเมืองอเมริกามาก และการที่ผู้อพยพเข้ามาในรัฐแบบไม่หยุดหย่อนส่งผลให้เศรษฐกิจของรัฐเข้มแข็งและมีอำนาจมหาศาล และการที่สัดส่วนผู้อพยพมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำให้จุดยืนทางการเมืองของคนในรัฐที่เป็นผู้อพยพมากขึ้นเรื่อยๆ ค่อยๆ เปลี่ยนไปทีละเล็กละน้อย และพอคนเหล่านี้กระจายไปในพื้นที่อื่นๆ ในอเมริกาก็นำเอาจุดยืนตามพวกเขาไปด้วย
และเหนือสิ่งอื่นใด ถ้าว่ากันตามสำมะโนประชากร แคลิฟอร์เนียนั้น “คนขาว” กลายเป็นคนกลุ่มน้อยและ “คนลาตินอเมริกัน” (ฮิสปานิค) ก็กลายเป็นคนกลุ่มใหญ่มาตั้งแต่ปี 2015 แล้ว และทั้งหมดนี้มันเกิดจากการอพยพล้วนๆ
สถานการณ์ในแคลิฟอร์เนียคือ “ฝันร้าย” ของคนขาวเชื้อสายยุโรปที่มีแนวคิดว่าเชื้อชาติตัวเองดีกว่าเชื้อชาติอื่น หรือที่มักจะถูกเรียกสั้นๆ ว่าพวก “เหยียดผิว” ซึ่งความกลัวนี้เองที่ Donald Trump ปลุกปั่นจนสร้างกระแสใหญ่โตจนนำพาตัวเองได้เป็นประธานาธิบดีพร้อมสัญญาว่าจะ “สร้างกำแพง”
ซึ่งถามว่าแนวคิดแบบนี้ตายไปหรือยัง บอกตรงๆ ก็พูดยาก เพราะถ้าไม่มีโควิดมาทำให้เศรษฐกิจพัง Donald Trump ก็อาจได้เป็นประธานาธิบดีอีกสมัย
แต่ก็นั่นแหละ ตราบใดที่แคลิฟอร์เนียยังมีผู้อพยพหลั่งไหลเข้ามา กระแสความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ไม่อาจทัดทานก็ค่อยๆ ไหลบ่าไปทั่วอเมริกา
และนั่นน่าจะเป็นหลักประกันว่า “ประเทศเสรี” อันยิ่งใหญ่ประเทศนี้จะไม่กลับมาเป็น “ผู้นำด้านการเหยียดผิว” ของโลกแบบสมัย Donald Trump