ชีวิตดีๆ ที่ลงตัวของวัวในเยอรมัน! รู้จักฟาร์ม ‘Butenland’ ที่เลี้ยงสัตว์ให้เท่าเทียมกับคน

4 Min
468 Views
19 Nov 2021

Select Paragraph To Read

  • กำเนิดฟาร์มรักสัตว์
  • ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว
  • บ้านพักวัวเกษียณ

กาลครั้งหนึ่ง มีเพื่อนรักสามชีวิต ‘ทอม’ ชอบนอนตักโดยให้มีคนลูบคอเบาๆ ไปด้วย ‘ทิลด้า’ ชอบอิงแอบกับลูกชายตัวเล็ก ส่วน ‘ชาย่า’ ไม่ใช่พวกชอบใกล้ชิดกับใคร วันไหนที่เธออารมณ์ดี เธอจะชอบเล่นกับมัดฟางเหมือนมันเป็นลูกบอลอันใหญ่

พวกเขาไม่เหมาะกับการทำงานเท่าไหร่ ทอมตัวเล็กเกินไป ทิลด้าก็ป่วยกระออดกระแอด ส่วนชาย่าอารมณ์รุนแรงเกินกว่าจะเจ้านายจะรับได้ ชีวิตทั้งสามเคยถูกกำหนดไว้ว่าต้องเดินทางไปยังโรงเชือด เมื่อแรงกายเป็นแรงงานไม่ได้ ก็ต้องสละชีวิตเพื่อความอิ่มท้องของมนุษย์

แต่โชคดีที่ทั้งสามชีวิตได้มาเจอกับฟาร์มฮอฟ บูเทนแลนด์ (Hof Butenland) สถานที่ซึ่งเคยเป็นฟาร์มโคนม แต่ปัจจุบันมันกลายเป็น ‘บ้าน’ ให้แก่สัตว์เกษียณงานทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นวัวหรือควาย หมู ม้า ไก่ ห่าน และสุนัขกู้ภัย

ที่ฟาร์มแห่งนี้ ไม่มีสัตว์ตัวใดมีชีวิตอยู่เพื่อตอบสนองความต้องการคน พวกมันทุกตัวมีสถานะเท่าเทียมกับผู้อาศัยหรือคนงานในฟาร์ม

กำเนิดฟาร์มรักสัตว์

‘คาเรน มักค์’ (Karin Mück) กับคู่รักของเธอ ‘แจน เกอร์เดส’ (Jan Gerdes) อายุ 50 กว่าปีแล้ว ทั้งคู่ช่วยกันดูแลฟาร์มแห่งนี้ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางกระแสลมพัดพาของทุ่งราบในคาบสมุทรบุตจาดิงเงน ประเทศเยอรมนี

การเลิกทานเนื้อและนมอาจฟังดูเป็นไอเดียที่กบฏ อยู่ไม่น้อย ยิ่งเมื่ออาหารขึ้นชื่อของประเทศนี้ คือ ไส้กรอกเยอรมันฉ่ำๆ เนื้อชุบแป้งทอดขนาดเท่าจานร่อน หรือจะเป็นของว่างยามบ่ายอย่าง กาแฟโปะฟองนมทานคู่กับชีสเค้ก

แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนเยอรมันกำลังบริโภคเนื้อสัตว์น้อยลง ปีที่แล้ว คนเยอรมันบริโภคเนื้อสัตว์เฉลี่ยคนละ 60 กิโลฯ ต่อปีเท่านั้น ซึ่งเป็นสถิติที่ต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1989 และจำนวนคนทานมังสวิรัติก็เพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอจนถึง 2 ล้านคนแล้ว

สำหรับชาวฟาร์ม Hof Butenland การเลิกมองสัตว์ต่างๆ เป็นผลิตภัณฑ์ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องศีลธรรมเพียงอย่างเดียว แต่มันเกี่ยวกับการรักษาโลกให้พ้นภัย เนื่องจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์เป็นหนึ่งในตัวการหลัก ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศโลก

“สำหรับผมนะครับ มันค่อนข้างชัดเจนทีเดียวว่าถ้าเราคิดจะรักษ์โลก เราก็ต้องหยุดบริโภคเนื้อสัตว์” นาย เกอร์เดส กล่าวระหว่างจิบกาแฟที่ใส่นมข้าวโอ๊ต “เรามีอำนาจทางเศรษฐกิจมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงไปถึงระดับกฎหมาย เพียงแต่เราต้องอยากให้มันเปลี่ยนจริงๆ ”

นายเกอร์เดส รับดูแลฟาร์มแห่งนี้ต่อจากพ่อของเขา และเริ่มเปลี่ยนมันให้เป็นฟาร์มออร์แกนิคในยุค 80’s แต่แม้จะเปลี่ยนไปทำฟาร์มออร์แกนิค แต่เขาก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงงานที่เขาคิดว่า”โหดร้าย” ได้อยู่ดี เช่น การรีดนมวัวที่ต้องพรากลูกวัวแรกเกิดจากแม่ของมัน แล้วดูดนมที่หลั่งเพื่อลูกวัวใส่ถังไปขายครั้งแล้วครั้งเล่า

ความไม่สบายใจในงานเหล่านี้ ผสานกับเสียงลูกวัวร้องไห้หาแม่ซึ่งเขาต้องฟังอยู่นับสิบๆ ปี ทำให้เขาเลิกทำฟาร์มโคนมในที่สุด และนำหลักความเสมอภาคมาใช้กับสัตว์ในฟาร์มแทน ฟาร์มที่เปรียบเหมือนบ้านของพวกมัน

ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว

ในตอนนี้ สัตว์ในฟาร์มต่างใช้ชีวิตอย่างเสรี ตื่นนอนในโรงนาสีแดงอิฐที่สร้างมาตั้งแต่ปี 1841 แล้วออกเดินไปตามถนนเพื่อไปเล็มหญ้าเขียวในทุ่งขนาดร้อยเอเคอร์ ก่อนจะกลับมาพักผ่อนในโรงนาอีกครั้งในเวลาประจำของมัน พวกมันไม่ต้องโดนสูบนมออกจากเต้า ส่วนพวกหมูก็มักจะผ่อนคลายอยู่ในกองหญ้าแห้ง และงีบหลับจนเลยเวลาบ่าย

ในบรรดาพวกหมู มีเจ้า เอเบอร์ฮาร์ด กับ วินฟรีท ลูกชายของมัน หมูสองตัวนี้ถูกช่วยชีวิตจากแล็บวิจัยในมหาวิทยาลัย ซึ่งการทดลองทำให้พวกมันเกือบตาบอดและหูหนวก

นางมักค์มีปมในใจกับสัตว์ทดลองเป็นพิเศษ ตัวเธอเองเคยถูกขังเดี่ยวในปี 1985 หลังถูกสงสัยว่าก่อตั้งกลุ่มกบฏ เพราะถูกจับได้ว่าแอบเข้าไปในแล็บแล้วปล่อยสัตว์ทดลองหนีไปจนหมด ช่วงเวลาโดดเดี่ยวในห้องขัง ทำให้เธอตระหนักรู้ในบางสิ่ง

“วันหนึ่งฉันก็คิดได้ ว่าการโดนขังเช่นนี้ สัตว์ก็โดนเหมือนกัน” เธอเล่า “คุณไม่ได้เห็นเดือนเห็นตะวัน ถูกพลัดพรากจากเพื่อนๆ ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นรอบตัว และไม่มีสิทธิควบคุมชีวิตของตัวเอง”

หลังจากนั้น เธอทำงานเป็นนางพยาบาลจิตเวชอยู่ 20 ปี แล้วก็ได้พบกับนายเกอร์เดส ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เขากำลังจะเลิกทำฟาร์มแล้วขายฮอฟ บูเทนแลนด์ รวมถึงสัตว์ในฟาร์มทิ้งไป แต่พอรถเทรลเลอร์จะมารับพวกมันไปขาย เขากลับตัดสินใจปล่อยพวกสัตว์ไว้ในทุ่ง แล้วไม่ไปกวนพวกมันอีกเลย

บ้านพักวัวเกษียณ

เพื่อให้ฟาร์มนี้อยู่รอด พวกเขาจึงเปลี่ยนฟาร์มให้กลายสถานที่เช่าพักร้อน แขกหลายๆ คนอยากบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือสัตว์ จึงนำไปสู่การจัดตั้งมูลนิธิฮอฟ บูเทนแลนด์ ในเวลาต่อมา ซึ่งมูลนิธินี้ก็ได้กลายเป็นส่วนสำคัญที่ทำฟาร์มยังเปิดต่อไปได้

ฮอฟ บูเทนแลนด์ ได้โพสต์คลิปสัตว์ต่างๆ ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขลงในสื่อโซเชียลมีเดีย และมันดึงดูดใครหลายคนให้เข้ามาเป็นแฟนคลับของสัตว์แต่ละตัวซึ่งล้วนแต่มีชื่อเป็นของตัวเอง เงินที่ได้รับบริจาคมามากพอที่จะครอบคลุมค่าสัตวแพทย์รายเดือน ค่าแรงให้คนงานสองคน และค่าโสหุ้ย ส่วนค่าไฟฟ้า กังหันลมในทุ่งรับผิดชอบได้ทั้งหมด

มีพัสดุมากมายจากทั่วโลกส่งมาที่ฟาร์มแห่งนี้ ส่วนใหญ่แล้วเป็นของขวัญที่มอบให้สัตว์แต่ละตัว ไม่ว่าจะเป็นชามข้าว ขนม จดหมายเขียนด้วยลายมือ รวมถึงธนบัตรใบละยี่สิบยูโร ผู้สนับสนุนฟาร์มสามารถลงชื่อเข้าร่วมกรุปทัวร์ที่จัดขึ้นเดือนละ 2 ครั้ง

ในแต่ละสัปดาห์ มีคนจำนวนไม่น้อยโทรศัพท์มาที่ฟาร์มแห่งนี้ และขอร้องให้ฟาร์มรับอุปการะสัตว์

คริสติน่า เบอร์นิง อายุ 21 ปีคือหนึ่งในนั้น เมื่อ 7 ปีที่แล้ว เธอรวบรวมความกล้าและมาถามกับทางฟาร์มว่าจะช่วยรับเลี้ยงเอลลี่ได้ไหม เอลลี่เป็นวัวจากฟาร์มโคนมของพ่อเธอที่กำลังจะถูกส่งไปโรงฆ่าสัตว์ ทีแรก นางมักค์ปฏิเสธ เพราะฟาร์มมีสัตว์ให้ดูแลเยอะแล้ว แต่ความรักของ คริสติน่า ที่มีต่อเอลลี่ทำให้ทางฟาร์มใจอ่อน

เอลลี่ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในฟาร์มจนอายุได้ 13 ปี ก่อนจะล้มป่วยลงและต้องโดนการุณยฆาตในคืนสุดท้ายของชีวิต คริสติน่าอยู่เคียงข้างกับวัวที่รักของเธอ คอยลูบตัวให้มัน และกล่าวลาเป็นครั้งสุดท้าย

นางมักค์ไม่ได้มองว่าฮอฟ บูเทนแลนด์ เป็นฟาร์มเพียงอย่างเดียว หากแต่เธอเปรียบว่าที่แห่งนี้เป็นเหมือน ‘บ้านพักวัวเกษียณ’

อ้างอิง: The New York Times. On This German Farm, Cows Are in Charge. Or at Least Coequals. https://nyti.ms/3iGnauz