2 Min

ไม่ใช่แค่หมูแพง-ผักแพง บุฟเฟต์ก็แห่กันขึ้นราคา เพราะอะไร?

2 Min
169 Views
06 Jan 2022

เวลาเราพูดถึงภาวะ ‘เงินเฟ้อ’ เอาจริงๆ คนจำนวนมากที่ไม่สนใจเรื่องเศรษฐกิจก็จะงงๆ ว่ามันคืออะไร
เพราะหลักๆ มันวัดจาก ‘ดัชนีราคาผู้บริโภค’ ซึ่งเป็น ‘เรื่องไกลตัว’ มากๆ ของคนทั่วไป เพราะอย่างน้อยๆ คนที่ไม่เดินตลาด ก็คงไม่รู้ว่าราคาเนื้อสัตว์และผักสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือคงไม่ขับรถ ก็คงจะไม่รู้ว่าราคาน้ำมันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี ณ ตอนนี้ ในโลกของมนุษย์เงินเดือนชาวไทยเองก็เริ่มสั่นสะเทือนสุดๆ หลังบุฟเฟต์เจ้าดังๆ แห่กันขึ้นราคาโดยไม่ได้นัดหมาย โดยเจ้าแรกๆ ที่ขึ้นคือ Bar B Q Resort โดยขึ้นแบบเงียบๆ ไม่ได้เป็นข่าวอะไรหลังจาก ‘ปลดล็อกดาวน์’ รอบล่าสุด แต่พอปลายปี ที่เป็นข่าวจนเรา ‘รู้สึกได้’ ก็เพราะ บุฟเฟต์หลายๆ เจ้าที่เหล่าคนเมืองมักจะไปฝากท้องในยามผ่อนคลายดาหน้ากันขึ้นราคาเจ้าแล้วเจ้าเล่า ไม่ว่าจะเป็นบุฟเฟต์พรีเมี่ยมขึ้นห้างมาตรฐานอย่าง Mo-Mo-Paradise หรือบุฟเฟต์ ‘ราคานักศึกษา’ อย่างสุกี้ตี๋น้อยหรือย่างเนย

ทั้งนี้ นี่ก็ไม่ได้รวมพวกบุฟเฟต์เชนเจ้าใหญ่อื่นๆ ที่ปรับราคาไปก่อนหน้าแล้ว (เช่น Kouen Sushi Bar ที่ขึ้นราคาจาก 499 มาเป็น 599 หรือ 20 เปอร์เซ็นต์ มาตั้งแต่ปี 2563) หรือบุฟเฟต์เจ้าเล็กเจ้าน้อยที่ถ้าเราจะรวบรวมมาก็คงจะมีอีกเต็มไปหมด

ประเด็นคือบุฟเฟต์ราคาขึ้นแน่ๆ และ ณ จุดนี้คงไม่ต้องเถียงกันแล้วว่าขึ้นไม่ขึ้น ซึ่งนี่แหละหน้าตาของ ‘เงินเฟ้อ’ ที่จับต้องได้จริงๆ ของเหล่ามนุษย์เงินเดือน

และนี่ก็คงจะเป็นจุดที่หลายคนเริ่มสนใจปรากฏการณ์ ‘เงินเฟ้อ’ ที่เกิดขึ้นในระดับโลกมาตั้งแต่กลางปีที่แล้วแล้ว

แล้วมันเกิดอะไรขึ้น?

จริงๆ ราคาสินค้าทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นมาตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว และเป็นปรากฏการณ์ที่พบได้ทั่วไปในประเทศที่ปลดล็อกดาวน์ ช่วงแรกๆ คนก็เถียงกันมากว่าเกิดอะไรขึ้น บางคนก็จะบอกว่าเกิดขึ้นเพราะพวก ‘เงินเยียวยา’ ของรัฐ ที่เป็นการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบทั้งๆ ที่คนไม่ได้ทำงาน มันเลยทำให้มีเงินระบบเยอะขึ้นและทำให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเงินเฟ้อก็จะอยู่ต่อไปยาวๆ

หรืออีกฝั่งก็มองว่าเป็นภาวะที่เรียกว่า ‘Supply Shock’ หรือภาวะที่ระบบเศรษฐกิจเพิ่มการผลิตไม่ทันผู้คนที่กลับมาทำงานและต้องการบริโภคในระดับเท่าเดิม ทำให้คนแย่งกันบริโภคสินค้าที่มีจำกัด จนราคาสินค้าสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ถ้าเศรษฐกิจเป็นปกติ สักพักภาวะเงินเฟ้อก็จะจบลงเอง

ซึ่งจริงๆ ทั้งสองฝ่ายอาจจะไม่ได้พูดถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะสุดท้าย ภาพรวมราคาสินค้าทั่วโลกสูงขึ้นเพราะ ‘Supply Shock’ จริง แต่มันซับซ้อนกว่าแค่การปลดล็อกดาวน์แล้วคนกลับไปทำงาน มันเลยทำให้เกิดภาวะ ‘เงินเฟ้อ’ ที่ยาวนานต่อเนื่องมาจนถึงตอนนี้

ปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้ราคาทุกอย่างสูงขึ้นคือราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นทั้งปี และการที่ราคาน้ำมันสูงขึ้นก็ทำให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าสูงขึ้นไปหมด

แต่มันไม่ใช่แค่นั้น เพราะปีที่แล้ว ภาคการเกษตรโลกต้องได้รับผลกระทบ เกิดจากน้ำท่วมหนักทั้งในจีนและอินเดีย ทำให้สินค้าเกษตรเสียหายเต็มไปหมดและทำให้ราคาในตลาดโลกสูงขึ้นตามมา และนี่ก็ยังไม่ต้องนับพวกโรคระบาดในสัตว์ที่เกิดขึ้นประปราย ทำให้ราคาเนื้อสัตว์สูงขึ้นเป็นระยะ เช่น ราคาหมูในไทยในขณะนี้ที่คนบ่นกันทั่วก็เกิดจากภาวะแบบนี้

นี่ทำให้ในความเป็นจริง ไม่ใช่แค่หมูที่แพงขึ้น แต่ทุกอย่างแพงขึ้นหมดนิดหน่อย คนที่เดินตลาดเป็นประจำน่าจะเห็นอยู่ หมูแค่แพงพรวดขึ้นมาเพราะโรคระบาด แต่ปัจจัยที่หนักหนากว่านั้นมันส่งผลให้ดันราคาพวกวัตถุดิบทำอาหารขึ้นทั้งแถบ โดยล่าสุดพวกขนมก็ไม่น่าจะรอด เพราะเนยก็ส่อจะราคาขึ้นด้วยเช่นกัน

นี่เป็นสิ่งที่คนที่ ‘ทำอาหารกินเองที่บ้าน’ น่าจะเห็นภาพและเข้าใจได้ไม่ยาก และก็คงจะมองว่ามันสมเหตุสมผลพอควรเลยที่ร้านต่างๆ แห่กันขึ้นราคาอาหาร เพราะไม่ใช่แค่ร้านบุฟเฟต์ที่เป็นข่าวเท่านั้น ถ้าลองไปดูพวกร้านก๋วยเตี๋ยวไปจนถึงร้านอาหารตามสั่ง เราก็อาจสังเกตได้ถึงการเพิ่มราคาขึ้นในช่วงนี้เช่นกัน

ดังนั้นก็เตรียมตัวเตรียมใจได้เลยว่าในปีนี้ เราอาจไม่เจอแค่ภาวะบุฟเฟต์ขึ้นราคาเท่านั้น แต่สุดท้ายพวกร้านข้าวแกง ร้านก๋วยเตี๋ยว หรือกระทั่งพวกสตรีทฟู้ดก็อาจขึ้นราคากันหมด

ว่าแต่ ถ้าไปเจอร้านไหน หรืออาหารอะไรราคาขึ้นก็ลองมาแลกเปลี่ยนกันได้นะครับ