4 Min

รู้ไหม “บุฟเฟ่ต์” ที่เรารู้จักทุกวันนี้ ถือกำเนิดขึ้นในคาสิโน

4 Min
1460 Views
26 Oct 2021

Select Paragraph To Read

  • “บุฟเฟ่ต์” วิถีการกินที่เคยเป็นเรื่องแปลกในตะวันตก
  • ทีนี้อะไรคือ “บุฟเฟ่ต์” ล่ะ?
  • ความเท่าเทียม มารดาของ “บุฟเฟ่ต์”
  • “ร้านบุฟเฟ่ต์” แห่งแรกกับเหตุบังเอิญในคาสิโน

เมืองไทยคือ “สังคมอุดมบุฟเฟ่ต์” แท้ๆ เพราะในบ้านเมืองที่เงียบเหงาในยุคโควิด หลังจาก “ห้างเปิด” แม้ว่าร้านค้าต่างๆ จะคนน้อยแบบน่าใจหาย แต่ร้านจำพวกหนึ่งที่คนเนืองแน่นตลอดระดับคิวยาวเหยียดทั้งๆ ที่ “ห้างโล่ง” ก็คือพวก “ร้านบุฟเฟ่ต์”

แต่เคยสงสัยกันไหมว่า “ร้านบุฟเฟ่ต์” เกิดขึ้นมาบนโลกได้ยังไง?

อันนี้ต้องอธิบายกันยาวหน่อย…

“บุฟเฟ่ต์” วิถีการกินที่เคยเป็นเรื่องแปลกในตะวันตก

ในโลกตะวันตก สิ่งที่เราเรียกกันว่า “บุฟเฟ่ต์” เฉยๆ นั้น ชื่อเต็มคือ “บุฟเฟ่ต์แบบกินได้ไม่อั้น” (All-You-Can-Eat Buffet) ซึ่งในหลายๆ ประเทศก็เรียกย่อๆ แบบที่เราเรียกนี่แหละ เพราะโดยทั่วไปมันก็ไม่มี “บุฟเฟ่ต์แบบกินได้จำกัด” อยู่แล้ว

ทีนี้อะไรคือ “บุฟเฟ่ต์” ล่ะ?

ก่อนอื่นต้องเข้าใจวัฒนธรรมตะวันตกว่าโดยทั่วไป คนตะวันตกจะไม่มีการเอาอาหารมาวางตรงกลางแล้วแชร์กัน โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นสูงและคนรวย คือการกินอาหารมื้อพื้นฐานคือจะแบ่งจานใครจานมัน และการเสิร์ฟแบบจานใครจานมันเป็นคอร์สๆ ที่สืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ก็คือวัฒนธรรมแบบนี้

พูดง่ายๆ ในโลกชนชั้นสูงยุโรป มันไม่มีการเอาอาหารมาวางเป็น ‘กองกลาง’ แล้วกินด้วยกันแบบที่เราคุ้นเคยในวัฒนธรรมไทยหรือ “โต๊ะจีน”

ดังนั้นวัฒนธรรมการเสิร์ฟอาหารแบบที่เอาอาหารมาวางตรงกลาง แล้วให้คนตักแบ่งไปกินในจานตัวเอง จึงเป็นเรื่องที่แปลก

ความเท่าเทียม มารดาของ “บุฟเฟ่ต์”

ชาติที่เคลมว่าตนเองเริ่ม “ฉีก” ประเพณีที่ว่านี้คือสวีเดน กับวัฒนธรรมการกินแบบที่เรียกว่า ‘Smörgåsbord’ ซึ่งแปลตรงๆ ว่า “โต๊ะขนมปัง” หรือถ้าจะทำให้มันฟังดูไทยขึ้นก็คงต้องเรียกว่า “โต๊ะกับข้าว” ซึ่งมันก็คือ “บุฟเฟ่ต์” นั่นเอง

แต่อาหารที่เขาเสิร์ฟ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นอาหารที่ “กินแบบเย็นๆ” ทั้งหมด เพราะอาหารแบบนั้นเป็นอาหารที่จะไม่เสียรสชาติถ้าวางทิ้งเอาไว้

การกินแบบนี้มีทั่วไปในพวกพ่อค้าและชนชั้นสูงในแถบยุโรปเหนือตั้งแต่ราวศตวรรษที่ 16 ซึ่งถ้าถามว่าทำไมวัฒนธรรมแบบนี้เริ่มแถบนี้ คำตอบก็อาจเป็นเพราะวัฒนธรรมแถบนี้เน้นเรื่อง “ความเท่าเทียม” มากกว่ายุโรปโซนอื่น และมีความเจ้ายศเจ้าอย่างน้อยกว่า

ดังนั้น การเอาอาหารมาวางปะปนกัน ใครจะตักเท่าไรก็ได้ เขาเลย “ไม่ถือ” ต่างจากพวกยุโรปตอนล่างที่ชนชั้นสูงจะกินที ก็ต้องเสิร์ฟอาหารเป็นจานๆ ไปเรื่อยๆ จนจบคอร์ส

จะบอกว่าการกินแบบ “บุฟเฟ่ต์” นั้นค่อยๆ แพร่กระจายไปพร้อมๆ กับความเท่าเทียมก็พอได้ เพราะคนยุโรปส่วนอื่นๆ ก็เริ่มเห็นประโยชน์ของการเสิร์ฟอาหารแบบ “ให้คนไปตักกินหรือหยิบกินเอง” แบบนี้ โดยเฉพาะเวลามีงานเลี้ยงใหญ่ๆ มันสะดวกมาก และไม่ต้องเตรียมคนเสิร์ฟ

ซึ่งอะไรแบบนี้มันเวิร์คมากกับงานเลี้ยงของพวกพ่อค้าและชนชั้นกลางที่ขยายตัวมาเรื่อยๆ ในศตวรรษที่ 19 เพราะมัน “ประหยัด” กว่างานเลี้ยงแบบเก่า ที่ต้องใช้จานชามและคนเสิร์ฟอาหารมหาศาล เพราะการเลี้ยงแบบบุฟเฟ่ต์ นั้นไม่ต้องคิดว่าจะใช้คนเสิร์ฟเท่าไร ทุกคนตักไปกินเอง จำนวนจานก็ประเมินแค่จำนวนคนที่มากิน ไม่ต้องคูณจำนวนคอร์สอาหารให้วุ่นวาย

อย่างไรก็ดี ถึงแนวทางแบบนี้จะขยายตัวไปทั่วยุโรปแล้วในงานเลี้ยง แต่มันก็ยังไม่มีใครมี “ความคิด” ว่าจะเอาการเสิร์ฟอาหารแบบนี้มาเป็นบริการอาหารแบบเสิร์ฟไม่อั้น หรือพูดง่ายๆ “งานเลี้ยงบุฟเฟ่ต์” น่ะมีแล้วแน่ๆ และแพร่หลายด้วยในยุโรปศตวรรษที่ 19 แต่ “ร้านบุฟเฟ่ต์” น่ะยังไม่มี

“ร้านบุฟเฟ่ต์” แห่งแรกกับเหตุบังเอิญในคาสิโน

แม้ว่าคำอธิบายจะมีหลากหลาย แต่โดยทั่วไปคนก็เห็นตรงกันว่า “ร้านบุฟเฟ่ต์” คือผลผลิตของสังคมอเมริกัน

และเขาระบุได้เลยว่าเป็นฝีมือของคนชื่อ Herbert Cobb McDonald ผู้จัดการคาสิโนแห่งหนึ่งในลาสเวกัส

ตามบันทึกเล่าว่าในปี 1946 McDonald หิวกลางดึก เขาเลยสั่งให้คนทำอาหารมาวางบนโต๊ะ ทีนี้คนที่มาเที่ยวคาสิโนก็หิว แต่ก็ไม่อยากออกไปหาอาหารกินนอกคาสิโน ก็เลยขอกินด้วย และก็ไม่ใช่ขอแค่คนสองคน เขาก็เลยคิดว่า มันน่าจะเข้าท่า ถ้าคาสิโนมี “อาหารไม่อั้น” ให้คนที่มาเล่นการพนันที่หิวมีกินตลอด และเล่นการพนันไปเรื่อยๆ

ไอเดียของเขาคือ คิดค่ากินแค่ 1 เหรียญ กินได้ไม่จำกัด และแน่นอน อาหารก็มีสารพัด ตั้งแต่โรสบีฟ หอยนางรมสด โคดคัททุกอย่างที่สรรหามาได้ ชีสฟองดูว์ แซลมอนรมควัน พาสต้าอบ สลัด ผลไม้ และขนม

พูดง่ายๆ หน้าตามันเหมือน “บุฟเฟ่ต์โรงแรม” ที่เราเห็นทุกวันนี้นี่แหละ

ไอเดียของ McDonald เวิร์คมาก ทำให้คาสิโนของเขามีกิมมิค และแน่นอน ไม่นานคาสิโนทั่วลาสเวกัสก็ทำอย่างเดียวกัน และไม่นานโรงแรมทั่วอเมริกาก็มีบริการบุฟเฟ่ต์เป็นมาตรฐานที่ห้องอาหาร

หลังจากถูกสร้างมาเป็นกิมมิคของคาสิโน แต่ดันเวิร์ค จากนั้นบุฟเฟ่ต์ก็แพร่หลายไปทั่วโลกอย่างที่เห็น

ด้วยความที่บุฟเฟ่ต์แพร่หลายในอเมริกาตอนที่อเมริกาเป็นมหาอำนาจพอดี มันก็เลยเป็นหนึ่งใน “วัฒนธรรมอเมริกัน” ที่ส่งไปทั่วโลกด้วย และแน่นอน อะไรแบบนี้เป็นเรื่องสำคัญมากในช่วงสงครามเย็น เพราะอเมริกานั้นต้องการสร้างภาพว่า “ทุนนิยมทำให้คนกินดีอยู่ดี” อยู่แล้ว และวัฒนธรรมบุฟเฟ่ต์ก็แทบจะเป็นตัวแทนที่ดีสุดๆ ของความ “กินดีอยู่ดี” เพราะมันพิสูจน์ว่า ในขณะที่คนในประเทศสังคมนิยมไม่ว่าจะโซเวียตหรือจีนล้วนหิวโหย แต่ทุนนิยมอเมริกันนั้นไม่ได้แค่ทำให้คนมีกิน แต่มันทำให้คน “กินทิ้งกินขว้าง” ได้ด้วยซ้ำ

ซึ่งก็ไม่แปลกเลยว่าในช่วงปลายสงครามเย็นในช่วง 1980’ s ที่เศรษฐกิจทุนนิยมโตทั่วโลก พวกร้านแฟรนไชล์บุฟเฟ่ต์ที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ก็เริ่มเกิดขึ้น และพอหลังสงครามเย็นจบลงมันก็ยิ่งขยายตัวกันอย่างไม่หยุดหย่อน

แต่ทั้งนี้ วัฒนธรรม “ร้านบุฟเฟ่ต์” ก็เป็นอะไรที่ “อเมริกัน” สุดๆ เพราะอย่างน้อยพวกยุโรป ถึงแม้จะเป็นต้นกำเนิดของการกินแบบนี้ แต่ร้านบุฟเฟ่ต์มีน้อยมาก และการที่เมืองหลวงของอาหารที่ได้ดาวมิชลินมากที่สุดในโลกอย่างปารีสนั้นแทบไม่มีร้านบุฟเฟ่ต์เลย ก็คงจะบอกอะไรบางอย่างกับเราถึงวัฒนธรรมการกินที่ต่างกันสุดๆ นี้

ถ้าคุณสงสัยว่า ทำไมฝรั่งเศสถึงไม่มีร้านบุฟเฟ่ต์ล่ะก็ หาคำตอบได้ที่ https://bit.ly/2Y4LSNS

อ้างอิง: