ชีวิตอาภัพของหมีสีน้ำตาลหิมาลัย ต้องคุ้ยหาอาหารเหลือทิ้งกิน แถมถูกกล่าวหาว่าเป็นฆาตรกร

3 Min
1895 Views
18 May 2022

ความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำให้สัตว์หลายชนิดต้องพยายามปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ และบางเหตุการณ์ก็อาจชวนให้เรารู้สึกแปลกใจได้เหมือนกัน

ตัวอย่างที่นำมาเล่าสู่กันฟังตอนนี้เป็นเรื่องราวของ ‘หมีสีน้ำตาลหิมาลัย’ สัตว์ที่จวนเจียนสูญพันธุ์อยู่รอมร่อ แต่ก็ได้รับความช่วยเหลือประคับประคองจากกลุ่มนักอนุรักษ์จนเอาตัวรอดมาได้หลายครั้งหลายครา

ต้องเท้าความก่อนว่า สมัยก่อนหมีกลุ่มนี้ก็ถูกคนล่าเอาชิ้นส่วนร่างกายไปปรุงเป็นยาบ้าง ไม่ก็ลักขโมยเอาลูกหมีไปให้กับคณะละครสัตว์หรือสวนสัตว์บ้าง เป็นสาเหตุดั้งเดิมที่ทำให้หมีลดจำนวนลง

ส่วนความเป็นอยู่ในปัจจุบัน ชะตาชีวิตพวกมันก็ยังคงถูกผูกติดไว้กับการกระทำของคนไม่ต่างจากยุคก่อน เพียงแต่บริบทมันต่างออกไปตรงที่เราไม่ได้ล่าหมีโดยตรง แต่เราดันสร้างโลกที่ร้อนขึ้น สภาพอากาศแปรปรวนมากขึ้น แล้วปล่อยให้วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกดดันชีวิตหมีให้ต้องพบกับความยากลำบากอย่างที่พวกมันไม่เคยเจอมาก่อน

 

จากการติดตามชีวิตของหมีสีน้ำตาลหิมาลัยในอุทยานแห่งชาติดีโอไซ ประเทศปากีสถาน ซึ่งเป็นฐานที่มั่นสำคัญในการอนุรักษ์สัตว์สายพันธุ์นี้ พบว่าอาหารของหมีกำลังขาดแคลนอย่างรุนแรง

อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลกทำให้ฤดูกาลต่างๆ ไม่เหมือนเดิม ส่งผลต่อพืชอาหารของสัตว์หลายชนิดไม่ผลิดอกออกผลตามวันเวลาที่เคยเป็น 

ผลกระทบแบบเบาๆ ก็คือทำให้สัตว์กินพืชหลายชนิดต้องอพยพย้ายถิ่นไปหาอาหารแหล่งอื่น แต่ผลกระทบแบบแรงๆ ก็ต้องบอกว่ามีสัตว์หลายชนิดต้องอดตาย

ตามข้อมูลระบุว่า ‘มาร์มอต’ (กระรอกขนาดใหญ่ที่อยู่ในสกุล Marmota) ที่เป็นอาหารของหมีลดจำนวนลงเพราะไม่มีอะไรกิน ขณะที่พวกกวางที่หมีล่าเป็นครั้งคราวก็พากันอพยพไปอยู่ที่อื่นกันหมด ความซวยจึงตกเป็นของหมีที่ไม่รู้จะกินอะไร

ตามรายงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในอุทยานแห่งชาติดีโอไซ (Deosai National Park) บอกเล่าว่า ตอนนี้พวกหมีทำตัวเป็นนักคุ้ยขยะ คอยเก็บเกี่ยวอาหารเหลือทิ้งจากนักท่องเที่ยวมากินประทังชีวิต แต่ด้วยฤดูท่องเที่ยวนั้นไม่ได้เปิดตลอดทั้งปี ในช่วงที่ไม่มีอาหาร (ขยะ) พวกหมีก็ต้องเตร็ดเตร่ไปยังดินแดนที่พวกมันไม่เคยไปเพื่อแสวงหาแหล่งอาหารใหม่ หลายต่อหลายครั้งเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าก็ได้รับรายงานร้องทุกข์ว่ามีหมีเข้าไปยุ่มย่ามตามชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่รอบๆ อุทยานฯ

 

ถือเป็นพฤติกรรมแบบเดียวกับที่หมีขั้วโลกกว่า 50 ตัว บุกเมืองไปคุ้ยหาเศษขยะในชุมชนทางตะวันออกไกลของรัสเซีย ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา

เรื่องนี้ถือเป็นความเสี่ยงทั้งต่อชีวิตคนและสัตว์ เพราะไม่แน่ว่าหมีหิวอาจทำร้ายคนได้ และคนก็อาจกลัวหมีจนลงมือทำร้ายหมีก่อนได้เช่นกัน ซึ่งก็มีตัวอย่างเกิดขึ้นแล้วกับกรณีหมีขั้วโลกในแคนาดาถูกตำรวจยิง เพราะเกรงกลัวไปก่อนว่าหมีจะมาทำร้ายคน ทั้งที่มันยังไม่ทันได้ทำอะไร 

ยิ่งไปกว่านั้นเรื่องนี้ยังมีความซับซ้อนซ่อนเงื่อน มีความขัดแย้งขมวดปมยุ่งเหยิงไว้เบื้องหลังด้วย 

เพราะแต่ไหนแต่ไรมา ชุมชนรอบๆ อุทยานแห่งชาติดีโอไซ ก็ไม่ค่อยพอใจการประกาศตั้งอุทยานไว้เพื่ออนุรักษ์หมีมากนัก เนื่องจากหลายครอบครัวจำใจต้องมอบที่ดินให้เป็นที่อุทยาน ทำให้สูญเสียรายได้ และพื้นที่ทำมาหากิน

มิหนำซ้ำด้วยข้อตกลงที่ทางอุทยานแห่งชาติเคยอ้างว่าจะสร้างงาน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้กับครอบครัวที่บริจาคที่ดิน ก็กลับเป็นไปอย่างล่าช้า แถมยังมีหมีมาด้อมๆ มองๆ รอบหมู่บ้านอีก ก็ยิ่งสร้างความกังวลมากไปกันใหญ่

นอกจากนี้ ผู้คนรอบอุทยานแห่งชาติยังเชื่อว่าหมีเป็นผู้ลักลอบล่าสัตว์เลี้ยงเศรษฐกิจของชุมชนอย่างวัว มองหมีเป็นภัยเยี่ยงอาชญากรที่ต้องกำจัด แม้จะมีข้อมูลโต้แย้งว่า วัวไม่ใช่อาหารที่หมีอยากกิน และไม่เคยพบเศษซากหรือดีเอ็นเอของวัวในอึหมีเลยแม้แต่น้อย แต่ด้วยการวาดทัศนคติเชิงลบใส่หมีไปแล้ว เรื่องนี้ก็คงต้องอาศัยเวลาในการเปลี่ยนแปลง

ทั้งหมดที่กล่าวมา สรุปได้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ทำให้พฤติกรรมของหมีแตกต่างไปจากเดิม พวกมันต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด และอาจนำพาชีวิตมาพบความขัดแย้งกับผู้คนมากยิ่งขึ้น

หากยังจำกันได้ ในไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการแชร์ภาพหมีขั้วโลกที่ผอมโซ ไม่น่ารักไม่น่ากอดปรากฏให้เห็นบนโลกโซเชียล ซึ่งก็พอคาดเดาได้ว่านับเนื่องจากนี้อีกไม่กี่ปี เราอาจได้เห็นภาพหมีสีน้ำตาลหิมาลัยกลายเป็นเช่นนั้นไม่ต่างกัน

 

อ้างอิง: