Select Paragraph To Read
- 1. ตั๋วแพงหฤโหด
- 2. คนนั่งไม่ตรงตามเลขที่ระบุในตั๋ว
- 3. แสงและเสียงรบกวนจากคนใช้โทรศัพท์
- 4. เสียงเคี้ยวข้าวโพดคั่วและกลิ่นอาหาร
- 5. เด็กๆ ที่พ่อแม่พาเข้าโรงหนังที่ไม่ตรงกับอายุของตัวเอง
- 6. คนที่สปอยล์หนัง
กิจการโรงหนังทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างแรงจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่หลายประเทศก็ผ่อนคลายมาตรการห้ามดูหนังในโรงกันไปเยอะแล้ว หลังจากที่มีการฉีดวัคซีน และมาตรการคัดกรองเฉพาะคนที่ฉีดวัคซีนแล้วให้เข้าไปดูหนังในโรงกันได้
แต่ปัจจัยเหล่านี้ก็ไม่ได้ดึงดูดใจให้คนกลับไปดูหนังในโรงเหมือนที่เคยเป็นมาก่อนยุคโควิด เพราะมีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่าพฤติกรรมการดูหนังของคนในยุคโควิดเกือบจะทั่วโลก ‘เปลี่ยนไปมาก’
หลายคนมองว่าดูหนังแบบสตรีมมิ่งอยู่กับบ้านสบายใจกว่า มีตัวเลือกเยอะ แถมยังไม่ต้องเสี่ยงกับความน่าจะเป็นที่จะสัมผัสกับเชื้อโรคติดต่อ แต่ก็มีคอหนังอีกมากที่ยังยึดมั่นกับการดูหนังในโรง เพราะโหยหาบรรยากาศจอใหญ่และระบบเสียงรอบด้าน รวมถึงการออกไปมีปฏิสัมพันธ์กับคนสนิทและเพื่อนฝูง
อย่างไรก็ดี ประสบการณ์ดูหนังในโรงอาจทำให้คนจำนวนมากอารมณ์เสียเพราะต้องเจอพฤติกรรมไม่พึงประสงค์หลายๆ อย่าง และบล็อกเกอร์กับคอลัมนิสต์ในสื่อตะวันตกก็รวบรวมประเด็นต่างๆ ที่บรรดานักดูหนังลงความเห็นร่วมกันว่าเป็นสิ่งที่ ‘รับไม่ได้’ เพื่อขอความร่วมมือจากคนที่ไปดูหนัง และผู้เกี่ยวข้องกับวงการหนังทั้งหลาย ให้ช่วยกันทำความเข้าใจและ ‘ลด-ละ-เลิก’ พฤติกรรมเหล่านี้เสียที
1. ตั๋วแพงหฤโหด
ประเด็นนี้ไม่ใช่พฤติกรรมของคนที่ไปดูหนังในโรง แต่เป็นสิ่งที่นักดูหนังในหลายๆ ประเทศสะท้อนความเห็นตรงกัน โดยเฉพาะในประเทศที่ไม่ได้มีความหลากหลายด้านโรงหนังมากนัก การกำหนดราคาตั๋วอาจถูกผูกขาดโดยธุรกิจแบบโรงมัลติเพล็กซ์ที่ไล่รุกคืบโรงหนังสแตนด์อะโลนหรือโรงหนังนอกกระแส
ยิ่งในยุคโควิดระบาด กิจการโรงภาพยนตร์ทุกประเภทซบเซากันถ้วนหน้า การปรับราคาค่าตั๋วในตอนที่มีโอกาสฉายหนังอีกครั้งจึงเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายๆ ที่ และดูเหมือนผู้บริโภคจะไม่มีทางเลือกมากนัก เพราะมีการอ้างเรื่องต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เช่น การที่โรงต้องลดจำนวนคนดูหนังต่อโรง เพื่อเว้นระยะห่างตามมาตรการป้องกันโควิด รวมถึงการทำความสะอาดอย่างเข้มข้นเพื่อฆ่าเชื้อเป็นประจำทุกรอบ ก็เป็นสิ่งที่ฟังดูแล้วมีเหตุผล
แต่ถ้ามองในมุมคนดูหนัง ไซมอน ดิลลอน (Simon Dillon) ผู้เขียนบทความลงใน Medium แนะนำว่าถ้าเลือกได้ก็จงไปอุดหนุนโรงหนังขนาดเล็กที่ราคาตั๋วถูกกว่าโรงมัลติเพล็กซ์ นัยหนึ่งก็เพื่อกระจายรายได้ และอีกทางหนึ่งก็เพื่อประหยัดเงินของคอหนังเองด้วย และคนที่เลือกดูหนังในโรงแบบนี้ส่วนใหญ่ก็จะมีมารยาทในการดูหนังที่ต่างจากคนที่เลือกดูหนังในโรงมัลติเพล็กซ์ ซึ่งคนเขียนก็ออกตัวว่าพูดแบบนี้อาจจะดูเหมารวมและเหยียดคนดูในโรงมัลติเพล็กซ์ แต่เขาบอกว่าเรื่องนี้อ้างอิงจากประสบการณ์ส่วนตัวในอังกฤษ และย้ำว่าคนดูหนังในประเทศอื่นๆ อาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่เขาพบเจอก็ได้
อย่างไรก็ดี คนที่จะทำแบบนี้ได้ต้องอยู่ในประเทศที่มีตัวเลือกด้านโรงหนังมากพอ แต่กรณีของไทยที่โรงหนังขนาดเล็กหรือโรงหนังนอกกระแสมีจำนวนน้อย การเดินทางไปยังโรงเหล่านั้นเพื่อดูหนังในราคาที่ถูกกว่ากันไม่เท่าไหร่ ก็อาจไม่ต่างกับการจ่ายเงินค่าตั๋วแพงกว่าปกติเพื่อดูในโรงที่อยู่ใกล้บ้าน
2. คนนั่งไม่ตรงตามเลขที่ระบุในตั๋ว
เรื่องนี้เป็นความปวดหัวที่นักดูหนังหลายคนไม่เข้าใจว่าเพราะอะไรคนที่ซื้อตั๋วหนังแบบระบุเลขที่นั่งถึงยัง (จงใจ) ไปนั่งในที่ของคนอื่น ถ้าไม่ได้ตั้งใจหรือดูแถวผิดก็ว่าไป แต่ก็มีหลายกรณีที่เจ้าของที่นั่งตัวจริงไปทวงที่นั่งคืนแถมโชว์ตั๋วเป็นหลักฐาน แต่กลับถูกต่อว่าหรือถูกข่มขู่คุกคามทางกายภาพ
วิธีแก้ปัญหาที่คนส่วนใหญ่เลือกใช้กันคือการตามพนักงานประจำโรงให้มาช่วยไกล่เกลี่ย ชี้แจง หรือไม่ก็เป็นกรรมการตัดสิน แต่บางทีพนักงานก็พลอยถูกลูกหลงจากคนดูหนังที่มีพฤติกรรมแบบนี้ไปด้วย ก็เลยยังสรุปไม่ได้ว่าวิธีไหนที่จะทำให้เสียเวลาและเสียพลังงานน้อยที่สุด แต่คนที่เจอกับเหตุการณ์แบบนี้อาจจะเซ็งจนพาลไม่อยากดูหนังไปเลย
3. แสงและเสียงรบกวนจากคนใช้โทรศัพท์
แม้โรงหนังยุคดิจิทัลจะมีคำเตือนตั้งแต่ก่อนฉายหนังให้คนปิดโทรศัพท์หรือปิดเสียง และ ‘ขอความร่วมมือ’ งดใช้โทรศัพท์ขณะที่หนังฉาย แต่ก็ยังมีคนอีกมากที่ไม่ปิดเสียงโทรศัพท์ หรือไม่ก็หยิบโทรศัพท์มาดูและแชตข้อความ ซึ่งอย่างหลังนี่มีคนให้เหตุผลว่าการแชตข้อความไม่ได้ส่งเสียงรบกวนเหมือนกับการคุยโทรศัพท์ จึงน่าจะเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ แต่ก็มีคนโต้แย้งว่า แสงจากจอโทรศัพท์ที่ส่องเข้าตาท่ามกลางความมืดในโรงบางจังหวะมีผลต่อสมาธิของคนอื่นๆ ได้เช่นกัน
บทความใน Medium ก็เลยบอกเคล็ดลับว่าวิธีเลี่ยงแสงจากโทรศัพท์ไม่ให้สะท้อนเข้าตาที่พอจะได้ผลอยู่บ้าง คือเวลาซื้อตั๋วหนังให้เลือกที่นั่งด้านหน้าคนอื่นๆ ที่เป็นเพื่อนร่วมโรง เพราะอย่างน้อยถ้ามีคนควักโทรศัพท์ขึ้นมาดูจริงๆ แสงก็จะไม่สะท้อนเข้าตาเราแน่ๆ แต่วิธีนี้ก็อาจจะทำให้คนตั้งคำถามว่าทำไมคนที่มีพฤติกรรมละเมิดคนอื่นถึงได้รับการยกเว้น แต่คนที่ได้รับผลกระทบกลับต้องหาทางหลีกเลี่ยงพฤติกรรมแบบนี้ด้วยตัวเอง
4. เสียงเคี้ยวข้าวโพดคั่วและกลิ่นอาหาร
ไม่มีใครบอกได้แน่ชัดว่าข้าวโพดคั่วกลายเป็นสัญลักษณ์ของการดูหนังในโรงไปตั้งแต่เมื่อไร แต่ถึงจะเป็นของที่คนชื่นชอบมากมาย ก็ใช่ว่าจะไม่มีคนต่อต้าน เพราะนักดูหนังจำนวนไม่น้อยบ่นว่าเสียงเคี้ยวข้าวโพดคั่ว หรือการหยิบขนมกรอบแกรบในโรง เป็นตัวการทำลายอรรถรสในการดูหนังไม่แพ้การที่มีคนใช้โทรศัพท์ในโรง เพราะเสียงและกลิ่นอาหารเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนเสียสมาธิ และคนที่ไม่ชอบกลิ่นปรุงแต่งบางอย่างก็อาจจะเวียนหัวจนดูหนังไม่รู้เรื่อง
อีกประเด็นหนึ่งที่มีคนพูดถึงเกี่ยวกับข้าวโพดคั่วเมื่อไม่นานมานี้ ไม่ใช่ข้อกังวลเรื่องเสียงหรือกลิ่น เพราะบทความใน The Guardian สื่ออังกฤษ กังวลว่าวัฒนธรรมการบริโภคข้าวโพดคั่วไซส์ใหญ่ยักษ์ในโรงต่างๆ อาจเป็นตัวการทำลายทรัพยากรเกินความจำเป็น ทั้งยังสร้างพฤติกรรมกินทิ้งกินขว้าง เพราะหลายครั้งนักดูหนังก็กินข้าวโพดคั่วเหล่านั้นไม่หมด และทิ้งลงในถังขยะแถวๆ โรงหนังนั่นเอง
5. เด็กๆ ที่พ่อแม่พาเข้าโรงหนังที่ไม่ตรงกับอายุของตัวเอง
การใช้เวลาร่วมกันของคนในครอบครัวเป็นเรื่องดี แต่ก็อย่างที่มีคนพูดกันในสื่อโซเชียลบ่อยๆ ว่า “ลูกคุณไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน” การพาเด็กเล็กไปดูหนังด้วยจึงอาจสร้างประสบการณ์ย่ำแย่ให้เพื่อนร่วมโรงคนอื่นๆ ได้ เพราะหนังบางเรื่องที่กำหนดเรต อนุโลมให้เด็กเข้าดูได้พร้อมผู้ปกครอง แต่ไม่ใช่เด็กทุกคนที่จะปรับตัวเข้ากับการดูหนังในโรงได้อย่างราบรื่น
นักดูหนังหลายคนย้ำว่า กรณีนี้เด็กไม่ได้ผิด เพราะการดูหนังในโรงต้องฝืนพฤติกรรมโดยธรรมชาติของพวกเขา แต่ผู้ปกครองควรพิจารณาว่าถ้าเด็กไม่สามารถอยู่นิ่งได้และส่งเสียงดังจนเข้าขั้นรบกวนคนอื่นๆ ก็ควรพาเด็กออกจากโรง เพราะนั่นแสดงว่าการดูหนังในโรงอาจจะไม่เหมาะกับพัฒนาการในช่วงวัยของเขา ถ้ายิ่งฝืนหรือบังคับให้เขาเงียบก็จะยิ่งทำให้เกิดการรับรู้เชิงลบที่มีต่อโรงหนัง และทางที่ดีก็อย่าเพิ่งพาเด็กเล็กเข้าไปในโรงตั้งแต่แรกเลยจะดีกว่า
6. คนที่สปอยล์หนัง
การแสดงออกว่าเป็นคนฉลาดรอบรู้ผิดที่ผิดเวลาไม่ใช่เรื่องดี อย่างเช่น คนที่พูดสาระสำคัญของหนังออกมาก่อนจะถึงฉากไคลแมกซ์ หรือที่เรียกกันว่า ‘สปอยล์หนัง’ อาจทำให้เพื่อนร่วมโรงเคืองจนถึงขั้นสบถออกมาได้ เพราะความตื่นเต้นเร้าใจที่พวกเขากำลังลุ้นจากเนื้อหาในหนังตรงหน้าจะถูกทำลายลงไปทันที ถ้าเทียบกับกรณีคนดูหนังอธิบายความหมายในแต่ละฉากให้เพื่อนที่ไปดูด้วยกันฟังตลอดทั้งเรื่อง พฤติกรรมแบบแรกก็อาจจะเป็นเรื่องที่ ‘รับไม่ได้’ มากกว่า
นอกเหนือจากพฤติกรรมที่ว่ามาแล้วยังมีเรื่องอื่นๆ ที่ปรากฏไม่บ่อย แต่ก็มีคนบอกว่าเคยเจออยู่บ้าง เช่น ปัญหาพนักงานขายตั๋วไม่พอ และการปล่อยให้คนยืนงงในดงเครื่องขายตั๋วอัตโนมัติที่ไม่ได้ออกแบบมาให้เป็นมิตรกับผู้ใช้งาน รวมถึงคนที่พลอดรักนัวเนียกันในโรงหนังแบบถึงเนื้อถึงตัว อันนี้ก็ทำให้คนที่นั่งข้างๆ เสียสมาธิจนดูหนังไม่เป็นสุขได้เช่นกัน
เชื่อว่ายังมีพฤติกรรมอื่นๆ หรือข้อปฏิบัติบางอย่างในโรงหนังที่ทำให้คนรู้สึก ‘อิหยังวะ’ มากกว่านี้แน่ๆ ถ้าใครมีประสบการณ์อะไรแปลกๆ (หรืออาจจะไม่แปลก แต่ไม่รู้ว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้) ก็บอกเล่ากันได้ เพื่อเปิดโลกและหาทางรับมือไปด้วยกัน
อ้างอิง:
- Den of Geek. British cinema behaviour: 67 examples of bad experiences. https://bit.ly/3pGxzZR
- The Guardian. The moral maize: should cinemas ban popcorn?. https://bit.ly/3yauDby
- Medium. The Science of Avoiding Disruptive Movie Audiences. https://bit.ly/3oBq1rS
- Very Well Family. Are Movies for Toddlers Ever a Good Idea? https://bit.ly/337X4LX
- WAFB. Major theater chains drop mask requirements for vaccinated moviegoers. https://bit.ly/3pCVZ6E