ประเด็นเรื่องความอดยากจากภาวะขาดแคลนอาหาร ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่หลายประเทศทั่วโลกเผชิญต่อเนื่องมายาวนาน
หากอ้างอิงตามประวัติศาสตร์ที่เริ่มมีการพูดถึงปัญหานี้กันอย่างจริงจังก็นับเนื่องมาจากผลจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา
แม้หลายๆ ประเทศจะสามารถหยัดยืนกลับมาพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมืองได้แล้วก็ตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความอดอยากของประชาชนยังเป็นปัญหาใหญ่ที่ดำเนินสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันเป็นเรื่องคาราคาซังที่แก้กันไม่จบเสียที โดยมีปัจจัยหลายๆ ด้านคอยขัดแข้งขัดขา ไม่ว่าจะเรื่องความยากจนหรือความเหลื่อมล้ำ
ซ้ำร้าย ด้วยภาวะโลกร้อนที่กำลังดำเนินอยู่ กลับยิ่งทำให้ปัญหามีแนวโน้มรุนแรง จากจำนวนผลผลิตที่ลดน้อยลง หรือพันธุกรรมพืชบางชนิดใกล้สูญพันธุ์
ซึ่งในช่วงกลางปีที่ผ่านมา สหประชาชาติได้ออกมาเตือนว่า โลกจะเผชิญกับวิกฤตขาดแคลนอาหารที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 50 ปี
หรือในอีกปี 30 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2593) บนโลกใบนี้อาจมีมนุษย์อาศัยมากถึง 9.7 พันล้านคน เมื่อถึงเวลานั้นปัญหานี้อาจไม่จำเพาะเจาะจงแต่คนยากจนเพียงอย่างเดียว แต่มันอาจกระทบถึงทุกชนชั้น
ด้วยความที่นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ แน่นอนว่ามีความคิดแก้ไขปัญหากันในหลายมิติหลายทาง
หนึ่งในแนวคิดทางเลือกที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงอยู่เสมอคือ การนำ “แมลง” มาเป็นอาหาร
เหตุที่แมลงถูกนำเสนอขึ้นมาอยู่บ่อยครั้ง และถูกส่งเสริมให้เป็นอาหารจานหลักทั่วโลก (แม้แต่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ United Nations Food and Agriculture Organization: FAO) ก็ยังชูเรื่องนี้ เพราะมีการค้นพบว่าแมลงหลายชนิดบนโลกล้วนอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ
ยกตัวอย่างเช่น ตั๊กแตนหนึ่งตัว มีปริมาณโปรตีนพอๆ กับเนื้อบด อีกทั้งการทำฟาร์มเลี้ยงแมลงก็มีต้นทุนถูกกว่าและใช้พื้นที่น้อยกว่าการทำฟาร์มปศุสัตว์
ขณะเดียวกัน การกินแมลงก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด วัฒนธรรมการกินแมลงมีมาช้านาน อายุอานามไม่ด้อยไปกว่าตำรับสูตรอาหารในร้านระดับ “มิชลินสตาร์”
อย่างไรก็ตาม หากจะบอกให้ใครสักคนไปหยิบเอาแมลงมาเคี้ยวต่างอาหารก็คงเป็นเรื่องยาก หรืออาจเป็นฉากชวนสะอิดสะเอียนที่มากเกินไป
มันก็เลยมีไอเดียว่า ถ้ารูปร่างของมันไม่น่ากิน งั้นเราลองบดขยี้ให้จำเค้าเดิมไม่ได้ แล้วแปรรูปมันออกมาเป็นอาหารที่ใครๆ ก็รู้จักและกินกันอย่าง “ขนมปัง” ดีกว่า
โดยเมื่อปี พ.ศ. 2560 บริษัท Fazer จากฟินแลนด์ ได้นำเอาจิ้งหรีดมาเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตขนมปังออกวางขายในท้องตลาด
Fazer ได้เพาะเลี้ยงจิ้งหรีดไว้ในฟาร์ม เมื่อพวกมันโตได้ที่ก็จะถูกนำไปอบแห้ง บดเป็นผง แล้วผสมลงในแป้งของขนมปัง
ซึ่งขนมปัง 1 ก้อน จะใช้จิ้งหรีดประมาณ 70 ตัว
ผลคือ ขนมปังจิ้งหรีดได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มประเทศนอร์ดิก ซึ่งไม่รู้ว่าผู้บริโภคทราบหรือไม่
แต่แนวคิดการนำแมลงมาแปรรูปเป็นอาหาร ก็ไม่ได้เกิดขึ้นที่นี่ทีเดียว ปัจจุบันมีหลาย ๆ บริษัทนำไปต่อยอดแปรรูปเป็นขนมปังวางขายกันในหลายประเทศ
เช่น ร้านเบเกอรีในเมืองนอริชของอังกฤษ ได้เริ่มวางขายขนมปังจิ้งหรีดเช่นกัน โดยใช้แป้งจิ้งหรีดที่มีส่วนผสมของแป้งสาลีและธัญพืชรวมอยู่ด้วย ซึ่งขนมปังก้อนใหญ่ 1 ก้อนใช้จิ้งหรีดถึง 336 ตัว
อย่างไรก็ตาม ขนมปังจากจิ้งหรีดก็ไม่ใช่ตัวเลือกเดียวที่ผู้ผลิตคิดสร้างสรรค์ขึ้นมา ปัจจุบันยังมีการนำแมลงชนิดอื่น ๆ บนโลกมาแปรรูปเป็นขนมปังอีกมากมายหลายชนิด
หนึ่งในนั้นมี “แมลงสาบ” ถูกเสนอชื่อให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือก
โดยปัจจุบันมีนักวิจัยของ Federal University of Rio Grande ในบราซิล ได้พัฒนาแป้งที่ทำจากแมลงสาบ ซึ่งพบว่ามีโปรตีนมากกว่าแป้งสาลีทั่วไปถึง 40 เปอร์เซ็นต์
แป้งแมลงสาบนี้ ทำมาจากแมลงสาบลอบสเตอร์ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มักจะถูกนำไปใช้เลี้ยงสัตว์เลี้ยงเลื้อยคลาน เช่น แมงมุมทารันทูล่า จิ้งจก หรือตุ๊กแก เพราะสามารถเติบโตได้ง่ายและรวดเร็ว
ทั้งยังมีโปรตีนสูงถึง 70% เมื่อเทียบสัตว์เนื้อแดงอื่น และเหมาะสำหรับการเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการทำฟาร์มปศุสัตว์
ในวันที่โลกกำลังหมุนวนไปข้างหน้าพร้อมกับความคิดสร้างสรรค์ ของมนุษย์ที่ไม่ยอมหยุดนิ่ง แมลงที่หลายๆ คนนึกรังเกียจ ได้กลายมาเป็นสินค้าเชิงเศรษฐกิจที่ผู้คนหันมาเพาะเลี้ยง
ตอนนี้เราไม่ทราบว่า ขนมปังที่ผลิตขึ้นจากแมลงสาบทำสำเร็จและถูกป้อนเข้าระบบอุตสาหกรรมไปมากน้อยแค่ไหน หรือมีวางขายในแห่งหนตำบลใดอยู่บ้าง
หรือในอนาคต แมลงอาจกลายเป็นอาหารหลักในโลกยุควิกฤตการณ์ขาดแคลนอาหาร จริงๆ ก็เป็นได้
เมื่อเวลานั้นเป็นจริงและมาถึง จะยอมอดหรือยอมกินเพื่ออยู่รอด
เป็นตัวคุณเองที่ต้องตัดสินใจ
อ้างอิง:
- NG Thai, แมลงกินได้ อนาคตอาหารโลก https://bit.ly/343cqiI
- Rosie Fitzmaurice, Insect bread: British bakery has created a crunchy loaf made from crickets https://bit.ly/3dD1ZG4
- Rafael Tonon, Meet the Scientists Who Are Making Bread with Cockroach Flour https://bit.ly/3iZ0Cm9