โลกที่เรามองเห็นทุกวันนี้มีการเปลี่ยนเเปลงอยู่ตลอดเวลารอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็น รูปร่าง สีสัน เเละการเคลื่อนไหวมากมายที่เกิดขึ้นอยู่ตลอด ซึ่งสิ่งเหล่านี้เปลี่ยนเเปลงอย่างรวดเร็วเเละยิบย่อย เเต่ทว่าเราก็ยังมองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นภาพนิ่งที่มีเสถียรภาพ เเละมีความเเม่นยำ
ดวงตาของเรามองเห็นข้อมูลเป็นภาพมากมายมหาศาล การมองเห็นที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้นสำหรับสมองเเล้ว เป็นเรื่องยากที่จะจัดการกับสิ่งที่เรามองเห็น เเละป้อนข้อมูลเข้ามาในสมอง ดังนั้นร่างกายเราจึงต้องใช้กลอุบายบางอย่าง ที่ช่วยให้สมองจัดการกับข้อมูลต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดร. เมาโร มานาซซี (Mauro Manassi) เเละดร. เดวิด วิตนีย์ (David Whitney) จากภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเเคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์กลีย์ (UC Berkeley) ได้รายงานการค้นพบล่าสุดว่า คนเราจะมีการรับรู้ข้อมูลที่เป็นภาพช้าไป 15 วินาที จากความเป็นจริงที่เราเห็น
นั่นหมายความว่าสมองทำหน้าที่เปรียบเสมือนเครื่องย้อนเวลา ที่ส่งเราย้อนเวลากลับไปทุก 15 วินาที เพื่อให้เราใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติเเละไม่สับสน หากสมองของเรานั้นมีการอัปเดตตามเวลาจริงอยู่เสมอ โลกก็จะเป็นสถานที่วุ่นวายทั้งเเสงเเละเงา รวมไปถึงการเคลื่อนไหวที่ผันผวนอยู่ตลอดเวลา จนทำให้เรารู้สึกเหมือนเห็นภาพหลอนได้
นี่เป็นกลไกในการทำงานของสมอง ที่ทำให้เราได้มองเห็นภาพที่ดูนิ่งเเละเสถียร จากข้อมูลมากมายมหาศาลที่ป้อนเข้ามาในสมอง
เพื่อให้เห็นกลไกในการทำงานของสมอง ทีมผู้วิจัยจึงได้ทำการทดสอบ โดยใช้อาสาสมัครจำนวนหลายร้อยคน มองดูภาพใบหน้าของฝาเเฝดคู่หนึ่ง จากนั้นดูคลิปวิดีโอที่ค่อยๆ เปลี่ยนเเปลงภาพใบหน้าของฝาเเฝด ให้สูงวัยขึ้นทีละน้อยภายในเวลา 30 วินาที เมื่อให้อาสาสมัครทายอายุของใบหน้าที่เห็นท้ายวิดีโอ พบว่าอาสาสมัครทุกคน บอกอายุของภาพที่ปรากฏเมื่อ 15 วินาทีที่เเล้วเเทนที่จะเป็นภาพที่เห็นล่าสุด
ผลการทดลองนี้ชี้ให้เห็นว่า สมองของเรานั้นทำงานเเบบผัดวันประกันพรุ่ง เพื่อให้สามารถจัดการกับข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการดึงข้อมูลจากอดีตมาใช้ใหม่ ทำให้สมองสามารถประมวลผลได้รวดเร็วมีประสิทธิภาพ อีกทั้งข้อมูลในอดีตนั้นก็เป็นตัวบ่งบอกถึงอนาคตอันใกล้ที่มีความน่าเชื่อถือ สมองจึงเลือกทำงานเเบบนี้เพื่อให้ไม่หนักจนเกินไป
ผลกระทบจากการที่สมองทำงานช้านั้นมีทั้งทางบวกเเละทางลบ ในทางที่ดีก็คือทำให้เรามองเห็นสิ่งต่างๆ รอบตัวได้อย่างราบรื่นมั่นคง ไม่รู้สึกเวียนหัวกับการเปลี่ยนเเปลงเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้น เเต่ในทางกลับกันก็อาจเสี่ยงต่อชีวิตได้เมื่อต้องการความเเม่นยำสูงสุด อย่างเช่น นักรังสีวิทยาที่ต้องใช้ความเเม่นยำของสมอง ตรวจสอบภาพสเเกนอวัยวะภายในที่ต่อเนื่องกันหลายใบ เเละเมื่อสมองทำงานช้าทำให้ไม่เห็นถึงความผิดปกติเล็กน้อยที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบร้ายเเรงต่อผู้ป่วยได้
เเต่อย่างไรก็ตาม สมองยังคงสร้างโลกเเห่งการมองเห็นที่มั่นคงให้กับเรา ถึงเเม้สิ่งเหล่านั้นจะเป็นอดีตก็ตาม สิ่งสำคัญคือการที่เรามองเห็นสิ่งต่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราเคยเห็นในอดีตมาเเล้วด้วย
อ้างอิง
- The Conversation. Everything we see is a mash-up of the brain’s last 15 seconds of visual information. https://bit.ly/34uNNhI
- The Science Times. Are We Living In the Past? New Study Shows Brain Acts Like A Time Machine That Brings Us 15 Seconds Back. https://bit.ly/3Jg4nRN