2 Min

‘ขี้โม้’ มากเกินไป อาจเป็นเพราะอยากปกป้อง ความรู้สึกไร้ค่า และไม่มั่นใจ ในตัวเอง

2 Min
6326 Views
28 Mar 2022

ความอวดเก่งมาพร้อมกับความเป็นมนุษย์ และความอวดเก่งนั่นแหละ ที่เป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมที่มนุษย์ไม่ชอบด้วยเหมือนกัน

ถ้าเราสังเกตให้ดี การคุยโอ้อวด เป็นอีกรูปเเบบหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์เเละโปรโมตตัวเราเอง มันไม่ได้เลวร้ายอะไรถ้าสิ่งที่พูดนั้นเป็นเรื่องจริง เเละไม่เกินจริง อย่างบางคนต้องใช้ความรู้ที่มีเพื่อมาบอกเล่าให้ผู้อื่นฟัง เเละมีการอ้างอิงถึงแหล่งที่มาหรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ

เเต่การโม้ ที่ทำให้คนรอบตัวหลายคนรู้สึกอึดอัดนั้นเเตกต่างออกไป เป็นเรื่องไร้สาระที่พูดเพื่อเรียกร้องเสียงปรบมือจากผู้ฟังโดยที่ไม่ได้สร้างประโยชน์อะไรให้ใครเลย

ทำไมผู้คนถึงขี้โม้?

เราต้องเข้าใจก่อนว่า คนเหล่านี้มีจุดอ่อนที่ต้องการปิดบัง เเละป้องกันความกลัวของตัวเอง จึงเลือกที่จะจดจ่ออยู่กับการเเสดงออกให้คนรอบข้างเห็นว่าพวกเขาดีเเละมีค่าพอ เป็นเพราะความไม่มั่นคงในใจของพวกเขา ซึ่งเกิดจากประสบการณ์ชีวิต ความสำเร็จ และความล้มเหลวที่ผ่านมา

ใช่ว่าจะเกี่ยวกับความไม่มั่นคงเสมอไป บางคนก็ชอบที่จะรู้สึกเหนือกว่าคนอื่นๆ เพราะความรู้สึกนี้จะทำให้พวกเขารู้สึกมีพลัง หรือคิดว่าพวกเขามีดีกว่าที่จะอยู่ร่วมกับคนที่อ่อนเเอ

อีกหนึ่งสิ่งที่พบเจอบ่อย คือ การโม้เเบบอ้างอิงถึงบุคคลที่สาม อาจเป็นสามีที่อวดว่าภรรยาของเขาหาเงินได้มากเท่าไหร่ หรือพ่อแม่ที่อวดความฉลาดเเละความสำเร็จของลูก ในบางครั้งคนที่ถูกกล่าวถึงก็อาจรู้สึกไม่ดี จริงอยู่ที่เราภูมิใจในตัวบุคคลเเต่ก็ไม่ใช่ว่าจะใช้คนเหล่านั้นมาเป็นเครื่องมือเพื่อยกระดับตัวเราเอง

เมื่ออวดอ้างจนพอใจเเล้วก็ควรจะหยุดเสียที

การที่อวดอ้างว่าตัวเองมีความสามารถหรือทักษะบางอย่างที่สูงกว่ามาตรฐาน ทำให้คนที่ได้รับฟังนั้นคิดว่ามีความสามารถจริง อย่างน้อยก็ยังอวดไปได้จนกว่าจะมีคนพิสูจน์หาความจริง (กล่าวอีกนัยหนึ่ง การโอ้อวดอาจได้ผลเพราะผู้ฟังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะมาหักล้างกับสิ่งที่คนขี้โม้กำลังพูดถึง) เเละคนขี้โม้มักไม่ค่อยรู้ตัวว่าตัวเองควรจะหยุดเมื่อใด อาจจะอวดจนกว่าตัวเองจะพอใจ เเต่คนฟังอย่างเราบางทีก็รู้สึกรำคาญเเละไม่อยากที่จะทำความเข้าใจในสิ่งที่คนเหล่านั้นพูดออกมา เเต่ถึงกระนั้นเมื่ออวดอ้างจนพอใจเเล้วก็ควรตระหนักได้เเล้วว่าควรจะหยุด บางทีผู้ฟังอาจให้อภัยหรือไม่สนใจที่จะฟังอีกเลยก็เป็นได้

บางครั้งเราก็อาจกลายเป็นคนขี้โม้โดยไม่รู้ตัว

เป็นเรื่องปกติที่คนเราชอบเเบ่งปันความสำเร็จ หรือประสบการณ์กับเพื่อนเเละคนที่เรารู้จัก เหมือนเรากำลังอวดความภาคภูมิใจของตัวเอง เช่น การทำโปรเจ็กต์ใหญ่ที่เราใช้เวลากับมันเเละทำงานอย่างหนักหน่วงมาเป็นเวลานาน จนในที่สุดงานก็ออกมาสมตามที่หวังไว้

เเน่นอนว่าความรู้สึกดีๆ เเบบนี้ก็ต้องอยากเเบ่งปันให้คนรอบข้างรับรู้ นั้นเป็นเรื่องธรรมชาติและดีต่อสุขภาพ เเต่มันจะไม่ดีก็ต่อเมื่อเราใช้ความสำเร็จของผู้อื่นเพื่อยกระดับตัวเอง โดยที่คนอื่นต้องสูญเสียความทุ่มเทของเขา เเต่กลับไม่ได้รับสิ่งตอบเเทนที่ดี

ไม่ใช่เเค่คนขี้โม้เท่านั้นที่จะเป็นเเบบนี้ แม้แต่คนที่ดูเป็นมิตรเเละใจดีก็อาจตกอยู่สถานการณ์นี้ได้ หากพวกเขารู้สึกว่าไม่มีความมั่นคงในจิตใจ เเละมีเเน้วโน้มที่พวกเขาจะเเย่ลงได้ เพราะพวกเขาจะคิดว่าตัวเองใจดีเกินไปหรือเปล่าจนรู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรมต่อตัวเขาเอง

นชีวิตเราต้องเคยเจอคนที่ขี้โม้กันมาบ้างเเหละ หรือบางทีอาจเป็นเราที่เป็นเเบบนั้นซะเอง ก็ลองทบทวนตัวเองดู เลือกเเสดงออกความภูมิใจของตัวเองโดยที่ไม่ทำให้ใครเจ็บปวด หรือถ้าเจอคนขี้โม้เเน่นอนว่ามันน่ารำคาญที่จะต้องฟังและรับมือ เเต่แทนที่จะโกรธหรือไม่พอใจกับพวกเขา เปลี่ยนเป็นรับฟังเเละหาทางช่วยให้พวกเขารู้สึกมีคุณค่าในตัวเองน่าจะเป็นทางออกที่ดี

อ้างอิง