รู้หรือไม่? หากคนที่เป็นโรคอ้วนติดโควิด-19 อาจมีอาการรุนแรงกว่า และเสี่ยงชีวิตมากกว่าคนสุขภาพดี
จากสถานการณ์ผู้เสียชีวิตหลายรายจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ พบว่า นอกจากความเสี่ยงในเรื่องของผู้สูงอายุแล้ว ยังมีอีกปัจจัยคือ ‘โรคอ้วน’ ที่ถือเป็นภัยคุกคามชีวิต รวมถึงเป็นจุดเริ่มต้นของสุขภาพแย่ๆ อีกด้วย
รศ.พญ. พิมพ์ใจ อันทานนท์ สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ยืนยันว่า ผู้ป่วยโรคอ้วนเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ได้มากกว่าคนปกติ แต่ในทางการแพทย์พบว่า คนกลุ่มนี้มีภูมิคุ้มกันต่ำ ถ้าติดโควิด-19 อาจจะมีอาการรุนแรง และเสียชีวิตง่ายกว่าคนที่สุขภาพแข็งแรง ซึ่งเห็นได้จากการระบาดของโรคติดเชื้ออื่นเช่น ไข้หวัดใหญ่
อีกทั้งจากการศึกษาวารสาร PNAS ผู้ป่วยในประเทศอังกฤษ พบว่า อัตราการนอนโรงพยาบาลของผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 สูงขึ้นตามดัชนีมวลกาย ซึ่งถ้ามีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 35 นั้นอัตราการนอนโรงพยาบาลสูงกว่าคนปกติเกือบสองเท่า
นอกจากนั้นยังมีงานวิจัยของสถาบันวิจัยเด็กเมอร์ด็อก(MCRI) และมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ พบว่า ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่เป็นโรคอ้วนมีแนวโน้มต้องการออกซิเจนมากกว่า และมีแนวโน้มต้องการเครื่องช่วยหายใจผ่านทางท่อเจาะคอมากกว่าถึง 73%
ดังนั้น กลุ่มคนที่เป็นโรคอ้วนหากติดเชื้อโควิด-19 ขึ้นมาจะส่งผลให้มีอาการที่รุนแรง และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
โดยสาเหตุหลักที่ทำให้คนที่มีภาวะอ้วนมีความเสี่ยงรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตจากโรคโควิด-19
– โรคอ้วนเป็นปัจจัยทำให้เกิดโรค NCDs ซึ่งเป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น ทำให้เมื่อติดเชื้อแล้วอาการจะมีความรุนแรง และส่งผลทำให้อาการแย่ลงอย่างรวดเร็ว
– ความอ้วนทำให้ระดับภูมิคุ้มกันทำงานแย่ลง โดยพบว่า ถ้าคนอ้วนเข้ารับการรักษาเช่น ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ร่างกายจะตอบสนองต่อวัคซีนน้อยกว่าคนที่มีน้ำหนักปกติ
– ความอ้วนส่งผลทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดที่ขา ที่อาจมาจากการไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายเป็นเวลานานๆ จึงมีโอกาสทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ รวมไปถึงสามารถอุดตันที่ปอด สมอง หรือหัวใจได้อีก ซึ่งโควิดมีผลต่อภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่ปอดง่ายขึ้นอยู่แล้ว พอมีภาวะอ้วนมาร่วมด้วยยิ่งส่งผลทำให้เลือดอุดตันรุนแรงมากกว่าเดิม
– ความอ้วนทำให้มีปริมาณไขมันสะสมในช่องท้อง ซึ่งจะดันกระบังลมขึ้นไปเบียดกับขนาดของปอด ทำให้ปอดมีขนาดเล็กลง จึงเป็นสาเหตุให้เกิดอาการเหนื่อยง่าย หายใจลำบาก รวมถึงมีความเสี่ยงในการติดเชื้อทางเดินหายใจได้ง่ายขึ้น และรักษาหายช้ากว่าปกติ
แล้วรู้ได้อย่างไรว่ากำลังอยู่ในภาวะอ้วนหรือไม่?
ทางกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า สามารถวินิจฉัยภาวะอ้วนจาก 2 วิธี ดังนี้
1.ใช้ค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index หรือ BMI) ซึ่งเป็นค่าความหนาของร่างกาย สามารถใช้ประเมินภาวะอ้วนหรือผอมได้สำหรับผู้ใหญ่ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป ทั้งชาย และหญิง
โดยคำนวณได้จากสูตร “BMI เท่ากับ น้ำหนัก(กิโลกรัม) หารด้วย ส่วนสูง(เมตร) ยกกำลังสอง”
ตัวอย่างเช่น มีน้ำหนัก 50 กิโลกรัม สูง 1.50 เมตร ตามสูตรก็จะได้ 50/(1.5×1.5) = 22.22 ทำให้มีค่า BMI อยู่ที่ 22.22 นั่นเอง
หลังจากคำนวณตามสูตรจนได้ค่า BMI แล้วนำมาใช้วัดภาวะอ้วนตามเกณฑ์มาตรฐานสากลคือ
– ค่า BMI ต่ำกว่า 18.5 แสดงว่า มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์
– ค่า BMI ตั้งแต่ 18.5 – 24.9 แสดงว่า อยู่ในเกณฑ์สุขภาพดี
– ค่า BMI ตั้งแต่ 25 – 29.9 แสดงว่า มีน้ำหนักเกิน
– ค่า BMI ตั้งแต่ 30 – 38.9 แสดงว่า อยู่ในภาวะอ้วนที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพ
– ค่า BMI ตั้งแต่ 40 ขึ้นไป แสดงว่า อยู่ในภาวะอ้วนอย่างมาก และเสี่ยงต่อการเผชิญปัญหาสุขภาพที่รุนแรง
ทั้งนี้จากตัวอย่าง จะเห็นว่าเป็นตามเกณฑ์ที่มีค่า BMI ตั้งแต่ 18.5 – 24.9 ซึ่งหมายถึงอยู่ในเกณฑ์สุขภาพดี
2.ใช้สายวัดเส้นรอบเอว หรือเส้นรอบพุง ซึ่งทั่วไปจะวัดรอบเอวตรงสะดือพอดี โดยผู้ชายต้องมีเส้นรอบเอวน้อยกว่า 90 เซนติเมตร ส่วนผู้หญิงน้อยกว่า 80 เซนติเมตร เพื่อประเมิน หากเส้นรอบเอวใหญ่เกินกว่านี้ถือว่าอยู่ในภาวะโรคอ้วน อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ สูงขึ้น
ดังนั้น ในสถานการณ์เช่นนี้ การดูแลสุขภาพร่างกายของเราให้แข็งแรงควบคู่ไปด้วย ก็จะช่วยส่งผลดีต่อร่างกายให้มีเกราะป้องกันที่แข็งแกร่งมากขึ้น และสำหรับคนอ้วนแล้วนั้น การออกกำลังกาย รวมถึงลดน้ำหนักลง นับเป็นวิธีที่ช่วยทำให้สุขภาพดีขึ้น แถมยังช่วยให้ร่างกายตอบสนองกับวัคซีนต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้นด้วย
อ้างอิง:
- cdc. Body Mass Index and Risk for COVID-19. https://bit.ly/2QYx9jO
- eurekalert. Patients who are overweight or obese at risk of more severe COVID-19. https://bit.ly/3vr3TRC
- กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. https://bit.ly/3ntIO6j