รู้จัก ‘อลิซาเบธ แอนน์’ เฟอร์เรตเท้าดำ สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ที่ถูกโคลนนิ่งให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
ทุกวันนี้การทำโคลนนิ่งสัตว์เป็นสิ่งที่ทำได้ในทางเทคโนโลยีอย่างสบายๆ เรียกได้ว่ามีเงินหลักล้านแล้วไปจองคิวบริษัทที่เกาหลีใต้ก็ทำโคลนนิ่งหมาได้ แต่เนื่องด้วยต้นทุนที่สูงมาก โดยทั่วๆ ไป เทคโนโลยีนี้ก็ยังไม่ได้ถูกใช้อย่างแพร่หลายในตลาดของผู้บริโภคทั่วไป
อย่างไรก็ดี สำหรับภาครัฐหรือองค์การด้านการอนุรักษ์สายพันธุ์สัตว์แล้ว การโคลนนิ่งมีประโยชน์มาก เพราะทุกวันนี้มีปัญหา “สัตว์สูญพันธุ์” เยอะมาก และการโคลนนิ่งก็ดูจะช่วยแก้ปัญหาได้ ซึ่งวันนี้เราจะมาเล่าเรื่องของสัตว์ที่เรียกว่า ‘เฟอร์เรตเท้าดำ’

เฟอร์เรตเท้าดำ | Wikipedia
เฟอเรตเท้าดำ สัตว์ที่เคย “สูญพันธุ์”
เฟอเรตเท้าดำเป็นสัตว์ในวงศ์เพียงพอนในทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งสัตว์ตระกูลนี้มีตั้งแต่สัตว์น่ารักอย่างนาก ไปจนถึงสัตว์ที่ห้าวสุดๆ อย่างวูล์ฟเวอรีนและฮั่นนี่แบดเจอร์
หลังจากบอกชื่อญาติๆ ของมัน ก็คงจะเดาได้ไม่ยากว่าเฟอเรตเท้าดำนี่เป็นสัตว์กินเนื้อ ซึ่งก็จริง และอาหารของมันตามธรรมชาติคือ ‘แพรี่ด็อก’ พวกมันเลยมีอีกชื่อว่า “นักล่าแพรี่ด็อก”
ทีนี้เนื่องจากแพรี่ด็อกตามธรรมชาติค่อยๆ หดหายไปในทวีปอเมริกาเหนือ เฟอร์เรตเท้าดำที่กินแพรี่ด็อกก็เลยค่อยๆ ลดจำนวนตามไปด้วย จนถือว่ากลายเป็น “สัตว์สูญพันธุ์” ไปในปี 1979
ก่อนจะมีเหตุการณ์ที่มีหมาคาบเฟอเรตเท้าดำมาวางหน้าบ้านอวดเจ้านายในรัฐไวโอมิ่งในปี 1981 และทำให้แวดวงวิทยาศาสตร์แตกตื่นว่าจริงๆ “เฟอเรตเท้าดำยังไม่ตาย”
หลังจากค้นพบว่ามันไม่ตาย นักวิทยาศาสตร์ไปเสาะหาเฟอเรตเท้าดำตามธรรมชาติเพื่อเอามาเข้าศูนย์เพาะพันธุ์ ซึ่งตอนนั้นเจอจริงๆ ไม่ถึง 10 ตัว และก็เริ่มเพาะพันธุ์จากตรงนั้น จนทุกวันนี้มันเพิ่มจำนวนนับพันตัวและถูกปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติไปพอสมควรแล้ว
แต่นั่นไม่ใช่ไม่มีปัญหา
เพราะสุดท้าย การเริ่มเพาะพันธุ์จากสัตว์จำนวนไม่ถึง 10 ตัว ทำให้ความหลากหลายทางพันธุกรรมนั้นต่ำ และในระยะยาว มันอาจก่อให้เกิดความถดถอยทางพันธุกรรมได้มากมาย
แต่จะสร้างความหลากหลายทางพันธุกรรมยังไงล่ะ?
ก็มันมีแค่นี้ แต่…เทคโนโลยีช่วยคุณได้
การโคลนนิ่งเพื่อสร้างความหลากหลายทางพันธุกรรม
ก่อนหน้านี้มีโครงการแช่แข็งสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ที่เพิ่งตายเพื่อจะทำโคลนนิ่งอยู่แล้ว เรียกได้ว่าเป็น “ธนาคารสัตว์แช่แข็ง” เลย และเจ้าเฟอร์เรตเท้าดำชื่อ ‘วิลล่า’ ที่เพิ่งตายก็ถูกแช่แข็งไว้ในปี 1988 เพื่อการนี้
จนกระทั่งในปี 2021 เซลล์ของวิลล่าถูกเอามาทำโคลนนิ่ง ซึ่งกระบวนการนั้นคือการเอาดีเอ็นเอของวิลล่าไปใส่ในเอ็มบรีโอของเฟอเรตเท้าดำ แต่ที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือ “แม่” หรือสัตว์ที่อุ้มท้องนั้นไม่ใช่เฟอเรตเท้าดำ แต่เป็นเฟอเรตธรรมดา เนื่องจากเฟอเรตเท้าดำเป็นสัตว์ที่หลุดพ้นจากการสูญพันธุ์มาหมาดๆ ไม่ควรจะเข้ามาเสี่ยงในกระบวนการนี้ และเฟอเรตธรรมดาที่มีมากมายก็เลยมาทำหน้าที่เป็น “แม่” แทน
กระบวนการตั้งครรภ์ไปจนถึงคลอดเป็นไปด้วยดี และผลออกมาคือเจ้าเฟอเรตเท้าดำหน้าตาน่ารักนามว่า ‘อลิซาเบธ แอนน์’ นั่นเอง

อลิซาเบธ แอนน์ | Popular Mechanics
แน่นอนว่าอลิซาเบธ แอนน์ คือ “ความสำเร็จ” แต่คนก็เลยเริ่มสงสัยว่า แบบนี้เราจะ “คืนชีพไดโนเสาร์” แบบหนัง Jurassic Park ได้ไหม?
คำตอบคือ เอาจริงๆ เราน่าจะไม่ได้มี “ตัวอย่าง” ที่ดีเอ็นเอครบขนาดนั้น เพราะดีเอ็นเอนั้นมี “ครึ่งชีวิต” แค่ประมาณ 521 ปี กล่าวคือ มันใช้เวลาแค่ 521 ปีในการผุพังไปครึ่งหนึ่ง ซึ่งนั่นคือไม่เพียงพอจะเอามา “โคลน” ได้ ดังนั้นไม่ต้องพูดถึง “ตัวอย่าง” อายุเป็นล้านปีเลยครับ แค่ไม่กี่ร้อยปีนี่ก็ยากแล้ว
นี่หมายความว่าถึงเราจะเห็นการ “โคลนนิ่งสัตว์สูญพันธุ์” ในกรณีนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเห็น Jurassic Park ได้ในเร็ววัน
อ้างอิง:
- Popular Mechanics. This Ferret Died 33 Years Ago. Scientists Just Brought Her Back to Life. http://bit.ly/2O5eKR6
- Nature. DNA has a 521-year half-life. http://go.nature.com/3kkEwNa
- Wikipedia. Black-Footed Ferret. http://bit.ly/2NDXH8I
#Ferret #Cloning #BrandThink
#พื้นที่สร้างสรรค์เพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า
#CreateaBetterTomorrow